COP26 กับการเปลี่ยนแปลง | วิจารย์ สิมาฉายา
เวที COP26 เพื่อให้แต่ละประเทศได้เสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นกว่าเดิม ที่ได้แสดงเจตจำนงไว้เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาในการประชุม COP21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-12 พ.ย.2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร และมีการประชุมที่มีผู้นำประเทศต่างๆ เข้าร่วม กว่า 190 ประเทศ
เพื่อให้แต่ละประเทศได้เสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นกว่า COP21 ประเด็นนี้เกิดขึ้นจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ที่ชี้ว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณซึ่งที่เกิดความตกลงปารีส (Paris Agreement) นั้นยังไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ ประชาคมโลกยังได้มีการกำหนดเป้าหมายระยะยาวเป็นเป้าหมายสูงสุด ในการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ซึ่งประเทศส่วนใหญ่กำหนดไว้ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593)
๐ การยกระดับเป้าหมายที่เข้มข้นมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงระดับต้นๆ ของโลก แม้จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% ของโลก เดิมได้ตั้งเป้าหมายในปี 2030 (พ.ศ.2573) จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% จากปีฐานที่กำหนดโดย 20% จากภาคส่วนต่างๆ ตามแผนพลังงานและการขนส่ง และจะสามารถทำได้ถึง 25% กรณีที่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้ว
แต่สำหรับเป้าหมายใหม่นี้ได้มีความเข้มข้นมากขึ้น ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศในการประชุม COP26 ครั้งนี้ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 40% บนฐานการได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน การเสริมศักยภาพและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 (พ.ศ.2593) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2065 (พ.ศ.2608)
การที่ทุกประเทศได้ร่วมมือกันเช่นนี้ เนื่องจากยังมีความหวังที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การที่อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นแค่ครึ่งองศาเซลเซียสก็มีนัยสำคัญอย่างมากต่อผลกระทบของโลก ทั้งภัยพิบัติต่างๆ และความล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพที่จะตามมา
โดยเฉพาะจากการเปิดเผยรายงานการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก (IPCC Report 2021) หากกิจกรรมต่างๆ ดำเนินการเป็นไปตามปกติ โดยไม่กำหนดเป้าหมายที่เข้มข้นและรวบรัดก็จะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นใกล้เคียง 3 องศาเซลเซียส
๐ แรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
หลังจากนี้ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ชัดเจนหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วได้ประกาศเป้าหมายทางการเงินที่จะสนับสนุนแก่ประเทศกำลังพัฒนาด้วย รวมถึงการดำเนินงานต่างๆ ตามที่ได้ประกาศกันไว้
ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดรูปแบบการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก การหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ที่ดินเสื่อมโทรม การลดการใช้พลังงานถ่านหิน การใช้ยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการเร่งพัฒนาและนำเทคโนโลยีสะอาด มีราคาที่เหมาะสม เข้าถึงได้ การสร้างการเติบโตของตลาด การสร้างงาน การพัฒนาทางเศรษฐกิจทางเลือก เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับแผนและกลยุทธ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดการบูรณาการกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่กับการดูดกลับหรือการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวนอกเขตป่า
โดยใช้วาระแห่งชาติ หลักเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ให้ความสำคัญของการพัฒนาต่อยอดจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นจุดแข็งของประทศ
การลดการใช้ทรัพยากรที่ใช้เป็นปัจจัยการผลิต การนำของเสียมาใช้ประโยชน์ การผลิตการและการบริโภคอย่างยั่งยืน การออกฉลากผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับมาตรฐานสากล จะทำให้เกิดผลประโยชน์ร่วม ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือกระจก การลดปัญหามลพิษ การสร้างงานจากธุรกิจใหม่ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน
๐ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ
ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณความตื่นตัวและการปรับเปลี่ยนในประเทศ ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการพัฒนากลไกภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมลดและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก การฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งก็จะได้เปิดโอกาสให้ชุมชนและเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการ รวมทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงอื่นๆ
ขณะที่ภาคเอกชนเองได้มีการตื่นตัว โดยมีกลุ่มต่างๆ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ได้แก่ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD), Global Compact Network Thailand, Thailand Carbon Neutral Network เป็นต้น
การปรับตัวภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้การผลิตสินค้าและการบริการต่างๆ ที่เป็นมาตรฐาน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานที่สะอาดขึ้นหรือพลังงานทดแทน การปรับปรุงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีการใช้พลังงาน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
การจัดการของเสียทั้งขยะและน้ำเสียก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะได้ประโยชน์ทั้งการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดมลพิษสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปัญหาสั่งสมเรื้อรังมานาน น่าจะเป็นจังหวะที่ดี โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองและแหล่งท่องเที่ยวที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ
รวมทั้งภาคเกษตรก็จะต้องปรับตัวทั้งการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ทั้งการปรับระบบการเพาะปลูก การให้น้ำ การใส่ปุ๋ย โดยจำเป็นต้องมองให้ครบทั้งห่วงโซ่อุปทาน เช่น การเลี้ยงสัตว์ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับแหล่งที่มาของอาหารสัตว์ เป็นต้น
เวทีโลก COP26 จะเป็นจุดเปลี่ยนได้ก็ต่อเมื่อภาคส่วนในระดับย่อย และแต่ละประเทศต้องปรับเปลี่ยนไปพร้อมกัน เนื่องจากทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน แม้จะแตกต่างกันตามศักยภาพของประเทศ โดยไม่ละเลยการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคม.
คอลัมน์ รักษ์โลก:Low Carbon Society
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย