ฉากทัศน์ความมั่นคงของไทย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
ไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งจีนและสหรัฐ และอยู่ในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งจีนและสหรัฐต่างก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญมากของไทย
เมื่อขั้วอำนาจโลกแยกออกเป็นสองไทยจึงเปรียบเสมือนว่าอยู่บนทางสองแพร่ง แต่ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐ ในลักษณะทางสองแพร่ง ประเทศสมาชิกในประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศต่างก็มีสถานภาพใกล้เคียงกับไทย
ไทยจึงมีโอกาสที่จะใช้เวทีอาเซียนเป็นเวทีที่จะรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจทั้งจากฟากตะวันออกและตะวันตก ประชาคมอาเซียนมีวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าภายในปี 2563 (ซึ่งต่อมาได้ร่นระยะเวลาให้เป็นปี 2558) อาเซียนจะเป็นวงสมานฉันท์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากจะเป็นวงสมานฉันท์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังจะเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีพลวัต มุ่งปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอก และเป็นชุมชนแห่งสังคมที่เอื้ออาทร
สาระสำคัญของกฎบัตรอาเซียนมีสามข้อด้วยกันคือ
1.เป็นประชาคมการเมืองและความมั่นคง เสริมสร้างความร่วมมือทางทหาร และมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ดีหลายประเทศมีปัญหาเรื่องการเมืองภายในและปัญหาเขตชายแดนร่วมกัน และขาดกลไกทางทหารในการแก้ไขและป้องกันความขัดแย้ง การร่วมมือกันแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้น ความร่วมมือนี้จึงมีความก้าวหน้าน้อยกว่าที่ควร
2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีเป้าหมายที่จะสร้างตลาดร่วมอย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่ปี 2558 ให้มีการเคลื่อนย้ายทุน บริการ แรงงาน และสินค้าได้อย่างเสรีในประชาคมมากขึ้น ข้อตกลงด้านเศรษฐกิจนี้เป็นเสาหลักที่ก้าวหน้าที่สุดใน 3 เสาหลัก
3.ประชาสังคมวัฒนธรรมอาเซียนเป็นเสาหลักที่สามซึ่งมีเป้าหมายให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อลดปัญหาช่องว่างด้านความรู้ ความเข้าใจระหว่างประเทศสมาชิก แต่เนื่องจากแต่ละประเทศมีความสำนึกในความเป็นชาตินิยมสูงและคุณลักษณะของผู้นำในกลุ่มที่ไม่เอื้อต่อการเกิดประชาคม จึงทำให้มีความก้าวหน้าในเสาหลักนี้น้อย ขาดความรู้สึกในการมีส่วนร่วมภายในจิตใจของคนอาเซียนรวมทั้งคนไทย (มูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม 2564)
ถึงแม้ว่าอาเซียนยังไม่ประสบความสำเร็จในทุกเสาหลัก แต่ขนาดและทรัพยากรของอาเซียนรวมกันก็สามารถเพิ่มน้ำหนักการต่อรองให้แก่ประเทศสมาชิกเพื่อรักษาความสมดุลของขั้วอำนาจทั้งสอง
ที่ผ่านมาอาเซียนโดยรวมได้ใช้กลยุทธ์ผนวกตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจจีนมากกว่าการต่อต้าน ในด้านยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ อาเซียนไม่ใช้ยุทธศาสตร์เลือกยืนอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น ไม่เข้าข้างสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่นเพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีน แต่ใช้ยุทธศาสตร์รักษาระยะห่างกับทุกมหาอำนาจและใช้นโยบายไม่ก้าวก่ายการเมืองภายในของประเทศสมาชิก (เอนก เหล่าธรรมทัศน์, 2538)
การเปลี่ยนขั้วอำนาจของโลกในปัจจุบันต่างจากในอดีตที่ต้องอาศัยกำลังทหาร แต่ความมั่นคงของโลกในยุคปัจจุบันเป็นความมั่นคงไม่ใช่ภัยคุกคามที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กำลังทหารอีกต่อไป สงครามในอนาคตเป็นสงครามออนไลน์และอาชญากรรมไซเบอร์
เป็นการสร้างความเสียหายบนระบบออนไลน์ทั้งต่อบุคคลหรือองค์กรในลักษณะของการทำลายข้อมูล การเรียกค่าไถ่ข้อมูล การให้ข่าวปลอม การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การยักยอกฉ้อโกง การถูกโจรกรรมระบบและขโมยข้อมูลหรือการส่งข้อมูลหรือข้อความหลอกลวงทางอีเมลและช่องทางอื่นๆ ให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหลงเชื่อไปในเว็บไซต์หรือดาวน์โหลดข้อมูลที่เป็นอันตรายเพื่อดึงข้อมูลที่เป็นความลับ
อุตสาหกรรมทางการเงินมักเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกโจมตีสูงสุด ภัยคุกคามจะมีผลกระทบโดยตรงทั้งต่อปัจเจกทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินหรือเกิดความล่มสลายของระบบไฟฟ้า ประปาอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นวิกฤตระดับชาติ ความมั่นคงทางอธิปไตยของไทยซึ่งแต่เดิมขึ้นอยู่กับโลก
ในปัจจุบันภาพของความมั่นคงเปลี่ยนแปลงไปมากเพราะประเทศต่างๆ ในโลกผูกพันทั้งทางตรงและทางอ้อมในด้านเศรษฐกิจ การผลิต การค้า การศึกษา การเมือง เทคโนโลยีและการสื่อสารอย่างแยกไม่ออก แต่ที่แน่ชัดก็คือเทคโนโลยีเป็น “ตัวตัดสินเรื่องความมั่นคงในโลกยุคใหม่” (อาร์ม ตั้งนิรันดร, 2562)
การประเมินฉากทัศน์เกี่ยวกับความมั่นคงในอนาคตของโครงการอนาคตประเทศไทย โดยมูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม สี่ฉากทัศน์ด้วยกัน ได้แก่
ฉากทัศน์ที่หนึ่ง โลกเข้าสู่สงครามเย็นอีกครั้งหนึ่งซึ่งไทยจะถูกบีบบังคับให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ทำให้ความก้าวหน้าและการเจริญเติบโตเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยและชะงักงัน
ฉากทัศน์ที่สอง โลกแห่งความสงบสุขซึ่งประเทศไทยจะสามารถขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้อย่างกว้างขวาง
ฉากทัศน์ที่สาม โลกปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ซึ่งในฉากทัศน์นี้ทุกประเทศโดดเดี่ยวตัวเองและไม่พึ่งพากัน เป็นฉากทัศน์ที่ไม่พึงประสงค์ที่สุด ส่วนอนาคตที่พึงประสงค์ที่เสนอโดยมูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม คือ ไทยจะร่วมชะตากรรมกับโลกไหลสู่บูรพาภิวัตน์
ซึ่งไทยจะสามารถขยายตัวทางเศรษฐกิจและมีความร่วมมือในเชิงลึกในระดับภูมิภาคร่วมกันที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน มีเสถียรภาพทางการเมืองแบบอัตลักษณ์ของตนเองที่มีโครงสร้างเป็นการเรียงลำดับตามความสำคัญตามลำดับชั้น (มูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม, 2564)
แต่ปัญหาความมั่นคงของประเทศไทยในปัจจุบันกลับกลายเป็นปัญหาภายในที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ เช่น คนรุ่นใหม่มองไม่เห็นชีวิตที่มีเสรีภาพ และความสามารถในการร่วมกำหนดชะตากรรมของประเทศ
กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้าที่เรียกร้องสิทธิที่ทำกินหรือกลุ่มจะนะที่ต้องการรักษาวิถีการทำมาหากิน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยอำนาจสั่งการ แต่ต้องเริ่มต้นที่การทำความเข้าใจปัญหาบนข้อมูลชุดเดียวกันก่อน
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการสานเสวนาภาคีประชาคมที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นการเสวนาบนพื้นฐานข้อมูลที่ชัดเจนและครบถ้วนเพื่อหาทางออกอย่างยุติธรรมให้แก่ทุกฝ่าย
การรักษาความมั่นคงในประเทศน่าจะใช้ Soft power ไม่ใช่ Hard power!
คอลัมน์ ประเทศไทย iCARE
ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ