ฟื้นฟูการส่งออกด้วยข้าวพันธุ์ใหม่ | สกล หาญสุทธิวารินทร์
โครงการรับจำนำข้าว มีผลทำให้ต้นทุนข้าวไทยมีราคาสูง กระทบต่อการส่งออกข้าวไทย ที่มีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามและอินเดีย ทำให้การส่งออกข้าวไทยหลุดอันดับหนึ่งของโลก
ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาตั้งแต่ปี 2523 ติดต่อกันมาตลอด จนถึงปี 2554 ที่รัฐบาลในขณะนั้น ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดและรับจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาด ทำให้เกษตรกรนำข้าวไปจำนำมาก ข้าวทั้งหมดเมื่อสีแปรแล้ว ก็นำไปเก็บไว้ในโกดังที่รัฐทำสัญญาเช่า หรือทำสัญญาฝากเก็บรวมเป็นข้าวในสต็อกของรัฐประมาณ 18 ล้านตันเศษ
จากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าว มีผลทำให้ต้นทุนข้าวไทยมีราคาสูง กระทบต่อการส่งออกข้าวไทย ที่มีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามและอินเดีย ประกอบกับการที่ไทยมีข้าวในสต็อกของรัฐมาก จึงทำให้ผู้ซื้อชะลอการสั่งซื้อ ทำให้การส่งออกข้าวไทยลดลงตกอันดับลงมาเป็นที่สอง บางปีก็ตกลงมาเป็นอันดับสาม
ในปี 2560 เมื่อทางราชการได้ระบายข้าวในสต็อกของรัฐได้เกือบหมด การค้าข้าวของไทยเริ่มกลับคืนเข้าสู่ภาวะเกือบปกติ ไทยส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น ส่งออกได้ 11 ล้านตันเศษเกือบเป็นอันดับหนึ่ง แต่ในที่สุดอินเดียก็ยังคงส่งออกได้มากเป็นอันดับหนึ่ง
หลังจากระบายสต็อกออกได้เกือบหมด ปัญหามีข้าวในสต็อกมากทำให้ผู้ซื้อชะลอการสั่งซื้อคลี่คลาย แต่ไทยยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก ทำให้ข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งขึ้นไปอีก นอกจากปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าแล้ว การส่งออกข้าวไทยประเภทข้าวขาวและข้าวนึ่งก็ถูกประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะอินเดียแย่งตลาดไปได้มาก
เพราะอินเดียมีการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าวจนผลิตข้าวขาวและข้าวนึ่งมีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวไทย แต่ราคาถูกกว่าข้าวไทยมาก ผู้บริโภคข้าวที่ไม่ใช่ข้าวพรีเมียมจึงหันไปซื้อข้าวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวไทยแต่มีราคาถูกกว่าข้าวไทยมาก
นอกจากนี้ ข้าวเวียดนามที่เคยมีราคาถูกกว่าข้าวไทย แต่ปัจจุบันราคามิได้ถูกกว่าข้าวไทย บางช่วงบางชนิดยังมีราคาสูงกว่าข้าวไทย ซึ่งเวียดนามก็มิได้อาศัยราคาข้าวที่ถูกในการทำตลาดส่งออกแล้ว แต่อาศัยปัจจัยด้านพันธุ์ข้าวที่มีการพัฒนาผลิตข้าวพื้นนุ่ม ที่เป็นที่นิยมบริโภคของชาวเอเชีย เจาะตลาดข้าวชาวเอเชีย โดยเฉพาะตลาดฟิลิปปินส์ ที่เวียดนามเข้าไปเสนอประมูลขายข้าวพื้นนุ่มให้ฟิลิปปินส์และชนะประมูลหลายครั้ง
สำหรับข้าวหอมทั้งเวียดนามและกัมพูชาก็ได้พัฒนาพันธุ์ผลิตข้าวหอมที่มีคุณภาพ แม้คุณภาพยังไม่อาจเทียบกับข้าวหอมมะลิไทย แต่ราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทยมาก ผู้ซื้อจึงสั่งซื้อข้าวหอมเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมของไทยที่ปริมาณการส่งออกลดลงทุกปี
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ชัดเจนว่าการส่งออกข้าวไทยมีปัญหาศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งด้านพันธุ์ข้าวที่ต้องสนองรสนิยมในการบริโภคของผู้ซื้อคือข้าวพื้นนุ่ม ที่ผลผลิตของไทยยังมีไม่มาก แม้จะมีอยู่บ้างแต่กระจัดกระจาย และมิได้มีการแยกแยะในขั้นตอนการรับซื้อข้าวเปลือกและสีแปรเป็นข้าวสาร และราคาข้าวที่สูงกว่าคู่แข่ง เนื่องจากต้นการผลิตข้าวของชาวนาค่อนข้างสูง อันมาจากปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ ผลผลิตต่อไร่ยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ภาคเอกชนในวงการค้าข้าวได้ตระหนักมาสองสามปีแล้ว และได้เสนอความเห็นต่อทางราชการที่เกี่ยวข้องให้พัฒนาพันธุ์ข้าวนุ่ม เพื่อผลิตข้าวพื้นนุ่มสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ
ล่าสุด สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ร่วมกับกรมการข้าวและสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้จัดทำโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัย นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวในการพัฒนาพันธุ์ข้าว ให้ได้พันธุ์ข้าวที่ดีกว่าเดิม ให้ได้พันธุ์ข้าวที่สนองความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศและให้ได้พันธุ์ข้าวที่ได้ผลผลิตต่อไร่สูง
จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวนา ลดต้นทุนการผลิต อันจะทำให้ต้นทุนการส่งออกข้าวลดลง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของข้าวไทยให้สูงขึ้น อันจะทำให้การส่งออกข้าวไทยกลับมาเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อทั้งด้านคุณภาพที่มีชื่อเสียง มีพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มที่มีคุณภาพดีที่สนองรสนิยมของผู้บริโภค มีราคาที่แข่งขันได้โดยมีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือได้เช่นในอดีต
ประเภทชนิดข้าวในการประกวด แบ่งเป็น 3 ชนิดคือ
ข้าวหอมไทย ข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง ทั้งนี้ต้องเป็นพันธุ์ข้าวที่พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์ใหม่
ขั้นตอนการประกวดโดยสังเขป
ผู้สมัครเข้าประกวดต้องส่งเมล็ดพันธุ์ในรูปข้าวเปลือกจำนวน 5 กิโลกรัมต่อหนึ่งสายพันธุ์ ซึ่งจะมีการนำไปปลูกในแปลงทดลองตามเกณฑ์ที่กำหนดที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น เมื่อได้เวลาเก็บเกี่ยวก็เก็บเกี่ยว นวดและตากข้าวเปลือกที่ได้ หาตัวเลขผลผลิตต่อไร่ นำข้าวเปลือกที่ได้ไปสีแปรเป็นข้าวสาร
การดำเนินโครงการผู้เข้าประกวดส่งข้าวเปลือกพันธุ์ข้าวที่เข้าประกวดตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกที่เข้าประกวดที่เพาะปลูกไว้แล้ว สีแปรข้าวสารและพิจารณาตัดสินได้ประมาณต้นปี 2565
การพิจารณาตัดสิน
เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยสรุปคือ เกณฑ์ด้านการเพาะปลูก เกณฑ์ด้านการขัดสี และเกณฑ์ด้านการหุงต้ม
รางวัลชนะเลิศ
ชนิดข้าวที่จัดประกวดแต่ละชนิดที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลชนิดละ 5 แสนบาท พันธุ์ข้าวใหม่ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับการผลักดันให้ได้รับการคุ้มครองรับรองพันธุ์โดยเร็วที่สุดเพื่อขยายสู่การเพาะปลูกในเชิงการค้าต่อไป
ผลต่อการส่งออก
เมื่อข้าวพันธุ์ใหม่ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้ขยายการเพาะปลูกในเชิงการค้าแล้ว น่าจะได้ข้าวที่มีผลผลิตต่อไร่สูง มีคุณภาพดีกว่าเดิม และมีข้าวพื้นนุ่มสู่ตลาดในเชิงการค้าสนองตอบรสนิยมของผู้บริโภคในต่างประเทศได้ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถฟื้นฟูการส่งออกข้าวไทยให้กลับมาเป็นผู้นำได้อีก.