ความปกติใหม่ คือ ความไม่แน่นอน | พสุ เดชะรินทร์
โลกภายใต้โควิด-19 กำลังจะเดินมาครบ 2 ปีแล้ว และยังไม่ทีท่าจะหายไปไหนในระยะเวลาอันใกล้ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อโควิด-19 เกิดขึ้นใหม่ๆ ทุกคนต่างรู้ว่าโควิด-19 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโควิด-19 ทำให้เกิดคำว่า นิวนอร์มอล (New Normal) หรือความปกติใหม่ เกิดขึ้น จำได้ว่าบรรดาผู้บริหาร นักคิด นักเขียน นักวิชาการ ต่างก็ออกมาคาดการณ์กันว่าโลกภายใต้ New Normal นั้นจะเป็นอย่างไร มีรูปแบบลักษณะอย่างไร ทั้งในเรื่องการดำรงชีวิตประจำวัน การทำงาน และการบริหารองค์กร และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ (ก่อนที่โอมิครอนจะมา) ก็เริ่มมีอีกหนึ่งมุมมองว่าจริงๆ แล้ว นิวนอร์มอลอาจจะไม่มีจริงก็ได้
เพราะสุดท้ายแล้วNew Normal ก็คือ Old Normal ที่มีทางเลือกเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง เช่นรูปแบบการทำงานที่เคยคิดว่าจะเป็นนิวนอร์มอลนั้น เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทำท่าจะดีขึ้น องค์กรต่างๆ ก็ให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศและทำงานเหมือนเดิม เพียงแต่เพิ่มทางเลือกในการ Work from Home และการประชุมออนไลน์เข้าไปเท่านั้น
อย่างไรก็ดี โอมิครอนก็ได้ทำให้สถานการณ์ที่คิดว่าจะกลับเข้าสู่ Old Normal ในหลายๆ ประเทศเริ่มเปลี่ยนไป และต่อให้สามารถก้าวผ่านโอมิครอนไปได้ ก็ไม่มีใครทราบว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่มาอีกเมื่อไร
ดังนั้น คำถามคือแล้ว New Normal จะมีจริงหรือไม่? แล้วจะเป็นไปในรูปแบบใด? เดิมอาจจะคิดกันว่านิวนอร์มอลที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากโควิด-19 นั้น จะเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ที่มีความนิ่ง ความแน่นอนในระดับหนึ่ง แต่พอถึงปัจจุบัน อีกมุมมองหนึ่งคือ โลกในยุคนิวนอร์มอล จริงๆ แล้วคือโลกที่อยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน หรือ Uncertainty นั้นเอง
ในช่วงที่เรายังไม่รู้จักกับโควิด-19 ดีนัก เราอาจจะมองว่า New Normal คือรูปแบบการดำรงชีวิตใหม่ รูปแบบการทำงานใหม่ รูปแบบการบริหารองค์กรใหม่ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่เมื่อต้องเผชิญกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง (ไม่นับโรคใหม่ๆ ที่อาจจะอุบัติขึ้นมา)
จริงๆ แล้ว New Normal จะไม่ใช่รูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว แต่จะเป็นการดำรงชีวิต การทำงาน การบริหารองค์กร ภายใต้ความไม่แน่นอนตลอดเวลาก็เป็นได้ และการดำรงชีวิตของคนในยุคนิวนอร์มอลก็คือการดำรงชีวิตภายใต้ความไม่แน่นอน ซึ่งยังไม่นับถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิด-19 อีกด้วย
เรื่องของความไม่แน่นอนไม่ใช่เรื่องใหม่ และการบริหารภายใต้ความไม่แน่นอน ก็มีตัวอย่างในระดับขององค์กรต่างๆ มามากมาย
คำว่า Resilence และ Agile ล้วนแล้วแต่เป็นคำที่สะท้อนถึงลักษณะขององค์กรภายใต้สภาวะของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ถ้ายืมแนวคิดจากการบริหารองค์กร มาใช้ในการดำรงชีวิตว่าผู้ใดที่อยากจะมีชีวิตอย่างมีความสุขในโลกของความปกติใหม่ ที่มีแต่ความไม่แน่นอนนั้น ก็จะต้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะ Resilence และ Agile คือ มีทั้งความยืดหยุ่น ไม่ยึดติด สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และมีความคล่องตัว
นอกจากนี้แนวคิดในการบริหารองค์กรภายใต้ความไม่แน่นอน อย่างเช่น Scenario Planning หรือการบริหารความเสี่ยง หรือการบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Management) ก็ล้วนแล้วแต่สามารถนำมาปรับใช้กับการดำรงชีวิตภายใต้ความปกติใหม่ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนได้ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นการมองโอกาสและความเป็นไปได้ในเรื่องต่างๆ ในอนาคตไว้หลายทางเลือก (Scenario) การคิดถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นและมีแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว หรือการเตรียมแนวทางสำรองเพื่อให้สามารถทำงานและกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ (BCM)
แนวคิดในระดับองค์กรต่างๆ ข้างต้น ล้วนแล้วแต่สามารถนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตได้อยู่แล้ว แม้จะไม่มีความปกติใหม่ ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเกิดขึ้น แต่ถ้ามองว่านิวนอร์มอลที่กำลังเผชิญนั้น คือโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การนำแนวคิดต่างๆ ของการบริหารองค์กรมาปรับใช้ก็จะช่วยทำให้สามารถดำรงตนอย่างมีความสุขได้ในท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้.
คอลัมน์ : มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]