เตรียมความพร้อมการลงทุนในภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

เตรียมความพร้อมการลงทุนในภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหนึ่งในเครื่องมือนโยบายการเงินของธนาคารกลางเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ ราคา และตลาดเงินไม่ให้ร้อนแรงหรือซบเซาจนเกินไป

หลังจากวิกฤติสุขภาพโควิด-19 เริ่มบรรเทาลง หลายประเทศทั่วโลกทยอยเปิดเศรษฐกิจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติ ในขณะเดียวกันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน สร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อ ภายใต้เศรษฐกิจที่ขยายตัวพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อทยอยสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ประกาศลดมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ คาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 

ในขณะที่ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น บราซิล เม็กซิโก ฮังการี ชิลี เกาหลีใต้ และอินเดีย ต่างปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคาจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินที่เปลี่ยนจากผ่อนคลายเป็นเข้มงวดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุน

ดังนั้น เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการสร้างผลตอบแทน นักลงทุนจึงควรหันกลับมาทบทวนสินทรัพย์ลงทุนในพอร์ตการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น โดยคำแนะนำเพื่อปรับพอร์ตการลงทุนมีดังนี้

ลดการถือครองตราสารหนี้ระยะยาว เนื่องจากราคาของตราสารหนี้มีความสัมพันธ์แบบผกผันกับอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะตราสารระยะยาว จะมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยมากกว่าตราสารระยะสั้น ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นักลงทุนจึงควรปรับลดการถือครองตราสารระยะยาวลง หรือเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น (Shorten Duration) เพื่อลดผลขาดทุนจากการลดลงของราคาตราสารหนี้ และรอโอกาสลงทุนใหม่เพื่อรับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นอกจากนี้ สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น อาจพิจารณาลงทุนในในหุ้นกู้เอกชนระยะสั้นเพิ่มเติม เนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล โดยเลือกลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่บริษัทมีเครดิตเรทติ้งดี ผลประกอบการแข็งแกร่ง

มองหาหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม และ/หรือ บริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูง (Cash Flow Operation: CFO) มีหนี้สินต่ำ หรือถ้ามีภาระหนี้สินควรเลือกบริษัทที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายในระดับต่ำ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ ที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างดอกเบี้ยรับจากสินเชื่อและดอกเบี้ยจ่ายจากเงินฝาก หรือเรียกกันว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ที่มากขึ้น เป็นต้น

ลงทุนในสินทรัพย์ที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ เช่น พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond : ILB) เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่มีการปรับอัตราผลตอบแทนเพื่อชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งผลตอบแทนของพันธบัตรประเภทนี้จะสูงขึ้น เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักลงทุนในกลุ่มที่ยอมรับความเสียงได้ต่ำ นอกจากนี้ ยังมีสินทรัพย์อีกประเภท คือ ทองคำ ที่มักจะมีคำตามมาด้วยว่าเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจาก ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่รักษามูลค่า และไม่เสื่อมสภาพ

 ในทุกสถานการณ์ย่อมสร้างโอกาสในการลงทุน การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนหลากหลาย (Asset Allocation) จะช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนและช่วยให้อัตราผลตอบแทนเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ใด นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยสามารถลงทุนทั้งทางตรง หรือลงทุนผ่านบริษัทจัดการกองทุนที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ในการลงทุน โดยขอคำแนะนำผ่านผู้แนะนำการลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจลงทุน