10 ฐานข้อมูลสำคัญเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม | พงศ์นคร โภชากรณ์
ข้อมูล คือ วัตถุดิบสำคัญในการวางแผนเศรษฐกิจ สำคัญพอ ๆ กับความคิดสร้างสรรค์หรือไอเดียในการออกแบบมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคม
บ่อยครั้งเรามีไอเดียแต่ไม่มีข้อมูล เลยไปไม่สุดซอย และก็บ่อยครั้งที่เรามีข้อมูลเต็มไปหมด แต่ประยุกต์ใช้ไม่เป็นและไม่กล้าคิดนอกกรอบ ทำให้นโยบาย มาตรการ หรือโครงการออกมาหน้าตาคล้าย ๆ กัน แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการทลายกำแพงความเชื่อบางอย่างลงได้ เช่น ความยากจนแก้ไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าใครยากจน ไม่รู้ว่าเขาจนเพราะอะไร
อาวุธที่ใช้ทุบกำแพงความเชื่อเหล่านี้ คือ ข้อมูล และยิ่งไปกว่านั้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วิกฤติเศรษฐกิจอันเกิดจากโควิด-19 ทำให้คนไม่มีรายได้ ควบคุมไม่ให้เราเดินทาง ช่องทางการใช้จ่ายถูกตัดขาย
ฉะนั้น การลงทะเบียน การโอนเงินให้ถึงมือ และการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลจึงเป็นกำแพงความเชื่ออีกอันนึงว่าไม่มีทางทำได้ แต่ภาครัฐก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เราทำได้ กล้าคิดนอกกรอบด้วยการนำ “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” มาใช้ในการดำเนินนโยบายมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน เราก็มองเห็น “คุณค่าของข้อมูล” มากขึ้นด้วย เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง เราชนะ ยิ่งใช้ยิ่งได้ เราเที่ยวด้วยกัน ม33เรารักกัน เป็นต้น
โครงการเหล่านี้สร้าง 3 สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ให้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ได้แก่ สังคมไร้เงินสด (Cashless society) การเรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัล (Digital literacy) และทะเลสาบข้อมูล (Data lake) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบนโยบายได้ยืดหยุ่นและหลากหลาย
ในช่วง 5 ปีจากนี้ นอกจากจะต้อง “ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม” เพื่อนำพาเศรษฐกิจกลับไปยืนที่เดิมก่อนวิกฤติเศรษฐกิจโควิดแล้ว ยังต้องเตรียมความพร้อมเพื่อ “พลิกโฉมประเทศไทย” ไปด้วย ตามคำใหญ่ของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 (2566 - 2570) คำว่าพลิกโฉมประเทศไทย น่าจะต้องหมายรวมถึง พลิกโฉมเศรษฐกิจมหภาคลงไปถึงฐานราก ในทุกช่วงอายุ ทุกสาขาอาชีพ และทุกพื้นที่
ดังนั้น การจะทำยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และพลิกโฉมประเทศไทยได้ การมีข้อมูลที่ทันสมัย รอบด้าน และลึกพอ จะช่วยให้ไอเดียนั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น
ผมคิดว่าข้อมูลสำคัญ ๆ ที่จะช่วยให้เราพลิกโฉมประเทศไทยได้จริง ต้องเป็นข้อมูลที่บอกโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การจ้างงาน และการศึกษา บอกถึงปัญหาและศักยภาพในแต่ละระดับตั้งแต่ระดับประเทศลงไปถึงระดับครัวเรือน ห่วงโซ่ MSMEs และ OTOP ในแต่ละพื้นที่ รู้ว่าผู้มีรายได้ แรงงาน เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง คือใคร อยู่ที่ไหน และมีปัญหาอะไร
ดังนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาตรงเป้า เราจำเป็นต้องมี 10 ฐานข้อมูลดังต่อไปนี้
1. ข้อมูลโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ช่วยให้เราเห็นโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมในทุกระดับ
2. ข้อมูลเครื่องชี้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ช่วยให้เราเห็นปัญหาของเศรษฐกิจและสังคม และศักยภาพที่ควรจะเป็นของประเทศไทยในแต่ละด้าน
3. ข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) ช่วยให้เราเห็นปัญหาในมิติต่าง ๆ ของครัวเรือน เห็นหน่วยงานที่จะเข้ามาทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น
4. ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช. 2ค) ช่วยให้เราเห็นปัญหาในมิติต่าง ๆ ของตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เห็นหน่วยงานที่จะเข้ามาทำงานเชิงรุกในพื้นที่ให้มากขึ้น
5. ข้อมูล MSMEs และ OTOP ช่วยให้เราเห็นโครงสร้างของกิจการขนาดต่าง ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ และสินค้าชุมชนที่น่าจะเป็นแกนหลักในการพัฒนาต่อยอดทั้ง Forward linkage และ Backward linkage ตลอดจนการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้คนในพื้นที่
6. ข้อมูลผู้มีรายได้น้อย ช่วยให้เราเห็นมิติต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในด้านอายุ รายได้ อาชีพ และพื้นที่
7. ข้อมูลผู้เข้าร่วมโครงการรัฐ ช่วยให้เราเห็นศักยภาพของการดำเนินนโยบายที่นำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และสามารถขยายฐานผู้เข้าร่วมโครงการได้อีกในอนาคต ทำให้เราเห็นช่องทางการช่วยเหลือที่หลากหลาย และสามารถนำมาต่อยอดสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายได้อีกมากในอนาคต
8. ข้อมูลเกษตรกร ช่วยเราเห็นข้อมูลของกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เห็นถึงปัญหาของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ แต่ละประเภทการทำการเกษตร
9. ข้อมูลผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กแรกเกิด ช่วยให้เห็นข้อมูลของกลุ่มคนเปราะบาง ปัญหาของแต่ละกลุ่ม การช่วยเหลือที่ตรงจุดและตรงกับความต้องการ
10. ข้อมูลผู้ประกันตน 3 มาตรา ช่วยให้เราเห็นโครงสร้างของแรงงานในระบบทั้งหมด และเห็นถึงปัญหาส่วนบุคคลผ่านสวัสดิการที่เขาใช้สิทธิ์ และยังเห็นถึงโครงสร้างฝั่งนายจ้างด้วยเช่นกัน
ข้อดีของการมี 10 ฐานข้อมูลนี้ นอกจากจะนำไปใช้งานได้หลากหลายตามนโยบายการใช้ข้อมูลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Data-Driven Policy) ดังที่เคยเขียนบทความไปแล้ว ยังสามารถสร้างเป็น Dashboard แปะไว้ใน War room เพื่อติดตาม วิเคราะห์ และขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ได้เป็นรายตัวข้อมูล รายจังหวัด รายหน่วยงาน เป็นรายเดือน รายไตรมาส และรายปีได้เลย ....
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด
คอลัมน์ : ตีโจทย์เศรษฐกิจ
พงศ์นคร โภชากรณ์
[email protected]