จุดเปลี่ยนชีวิต | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

จุดเปลี่ยนชีวิต | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

จากประสบการณ์ที่ผมพบผู้คนมาพอควร ผมมีความเห็นว่าคนเราจะมี "จุดเปลี่ยน" ของชีวิตตอนอายุ 40 กลางจนถึงปลาย 40

ตัวอย่างมีเพื่อนสนิทผมคนหนึ่ง ช่วงต้นของชีวิตเป็นคนธรรมดา แต่ความพิเศษคือเขาเป็นลูกจ้างมืออาชีพในธุรกิจหลักทรัพย์ตั้งแต่ตลาดหุ้นยังใช้วิธีเคาะกระดาน ทำหน้าที่ในธุรกิจในเกือบทุก function ทั้งงานหน้าบ้านถึงงานหลังบ้าน ถือว่าเขาเป็นผู้รู้ระดับ top tier คนหนึ่งของตลาดหุ้น 
    ความโชคไม่ดีคือเขาทำงานในองค์กรที่ไม่ค่อยดูแลความเป็นดี อยู่ดีของพนักงาน พูดเป็นภาษาง่าย ๆ องค์กร "ตระหนี่" กับพนักงาน ผลคือเขาทำงานหนัก ทำเงินให้กับองค์กร แต่ผลตอบแทนของเขาไม่ได้เป็นอัตราส่วนกับผลงานเขาเลย 

วันหนึ่งชะตาชีวิตเขาเปลี่ยนอย่างพลิกฝ่ามือ มีบริษัทหลักทรัพย์หนึ่งติดต่อเขา ชวนมาเป็นกรรมการผู้จัดการ ถามว่าทำไมเขาได้รับข้อเสนอนี้ เพราะเขารู้จริงในสิ่งที่ทำ ไม่เพียงเท่านั้นรู้ลึกด้วย เขาเป็นหนึ่งในเซียนในยุคเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว 
    สาเหตุที่บริษัทหลักทรัพย์มาชวนเขาเพราะองค์กรนั้นต้องการ turnaround ตัวเองจากผู้เล่นที่อยู่ปลายแถวให้กลายมาเป็น premier league player ความที่เขาสะสมต้นทุนในช่วงต้นของชีวิตไว้ดีมาก ทำให้เขากล้ารับข้อเสนอ ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายและยากมาก
    เขาเล่าว่าเมื่อเข้าไปรับงาน สถานะขององค์กรหนักกว่าที่เขาคิดไว้มาก แต่เขาไม่รู้สึกหวั่นไหวของโจทย์เข็นครกขึ้นภูเขา เขามั่นใจว่า “ความรู้จริง” ของเขาจะพานาวาลำนี้ให้ข้ามมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยคลื่นลมและมรสุม เล่าเรื่องยาวเป็นเรื่องสั้น 
    เขาใช้เวลาอยู่ห้าปี เปลี่ยนความเป็นดีอยู่ดีขององค์กรที่มีส่วนแบ่งตลาดต้อยเตี้ยต่ำ และฐานะการเงินไม่แข็งแรง มาเป็นผู้เล่นหลัก สร้างกำไรให้กับองค์กรเสมือนหนึ่งมีเครื่องพิมพ์ธนบัตร 10 เครื่องที่ทำงาน 24/7

จุดเปลี่ยนชีวิต | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขา turnaround องค์กรได้สำเร็จ เพราะเขาได้รับอิสระจากคณะกรรมการบริษัททำสิ่งแปลกใหม่ที่อุตสาหกรรมไม่กล้าทำ สุดท้ายองค์กรของเขาเป็น top 5 player ในวงการตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกับตัวเขา ผลงานของเขาเปรียบเสมือน Boomerang ทำให้ฐานะทางการเงินเขาเปลี่ยนไปจนตัวเองยังตกใจ
    ทุกวันนี้ผู้บริหารท่านนี้เกษียณอายุ ผันตัวเองมาเป็นผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประเด็นที่อยากจะสื่อคือ แค่จุดเปลี่ยนชีวิตเพียงครั้งเดียว สร้างให้เขากลายเป็นนกอินทรีที่บินในท้องฟ้าแบบ sky is the limit  ถึงจะเกษียณอายุ แต่ก็ยังทำเงินได้จากความรู้ที่เขาไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้

 เขาให้ความเห็นว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์สำคัญที่สุดคือเราต้องรู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้ง พร้อมกับสร้างวิธีคิด “เฉพาะตัว” ที่มาจาก DNA ตัวเอง ประการที่สองวิธีคิดที่ว่านี้ต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพราะตลาดหลักทรัพย์เป็น dynamic market 
    ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ผมเคยเห็นผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่จาก “ดีแล้วกลายเป็นร้าย" จุดเปลี่ยนนั้นก็อยู่ในช่วงชีวิตกลาง 40 ถึง 50 ต้น ๆ ผมขอเรียกช่วงชีวิต 40 นี้ว่า Life flipping age period ถ้าข้อสังเกตนี้ใกล้เคียงความจริง ผู้คนควรให้ความสำคัญกับ critical moment นี้ ช่วงหยอดกระปุกสะสมต้นทุนชีวิตเพื่อสร้าง "ดาวเหนือ" ของชีวิต 
    เรื่องจุดเปลี่ยนชีวิต คนเราขอจุดเปลี่ยนเพียงครั้งเดียว แล้วสิ่งมหัศจรรย์จะทำให้ชีวิตคุณกลับหัวกลับหาง     ผมตั้งข้อสังเกตว่าจุดเปลี่ยนจะเป็นจริงได้ มีเงื่อนไขว่าตอนคุณอายุกลาง 20 ถึงปลาย 30 คุณต้องหยอดกระปุกออมสินสะสมต้นทุน

ความหมายคือยินดีมือสกปรก ทำงานหนัก เรียนรู้แบบเป็นบ้าเป็นหลัง เพื่อเก็บวิทยายุทธกระบี่ทุกกระบวนท่า เพื่อให้คุณเป็นหนึ่งในยอดฝีมือ เมื่อโอกาสมาเคาะประตู คุณพร้อมจะรับมือกับโอกาส เพราะคุณเก่งแบบยืนอยู่ที่หัวแถว 
    ผมเริ่มอาชีพจากวิศวกรแล้วเป็นคนโฆษณาตอนอายุปลาย 20 ต้องเริ่มต้นใหม่แบบ set zero ทำงานใน entry level แข่งกับคนที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัย ทำงาน dirty work ลูกพี่ให้ไปถ่ายเอกสาร ตามงานกับแผนกอื่น ๆ ยินดีทำงานเหมือนเด็กจบใหม่ ไม่บ่นและย่อท้อ บอกตัวเองว่า งานหนักและ dirty work คือ bridge over troubled water พาผมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า 
    ซ้ำร้ายผมมีลูกพี่ที่ไม่ค่อยสอนงาน ไม่เป็นไร ไม่สอน ก็เรียนรู้เอง บอกตัวเองว่า "โง่" มาก่อน “ฉลาด" วิธีคือ "ถามและคุยกับผู้คนในแผนกอื่น" ไม่อายที่จะถามคำถามที่ชาวบ้านเห็นว่าเป็นคำถามโง่ ๆ ยอมโง่ครั้งเดียว แล้วมันจะรู้ ทำอย่างนี้ day in, day out จากไม่รู้ มาเป็นพอรู้ แล้วกลายเป็นรอบรู้ 
    ตอนเย็นชาวบ้านกลับบ้าน ผมเปิดเอกสารที่บรรดาเซียนโฆษณาเขียน strategy paper อ่านเป็นบ้าเป็นหลัง เพราะย้อนหลังไปเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ยังไม่มี computer ทุกคนต้องเก็บเอกสารที่ file กลาง ทำให้ผมมีเครื่องมือ turn ตัวเองเป็นคนโฆษณาที่แท้จริงว่าต้องทำอย่างไร 
    อีกเรื่องหนึ่งผมมีคติว่า tough will make you tougher งานยากๆ จะทำให้เราเป็นคนแข็งแกร่ง ผมชอบรับงานหินๆ งานที่ไม่มีใครยอมรับทำ ถามว่าทำไม เพื่อเรียนรู้ให้มากที่สุด บอกตัวเองว่าถ้าทำไม่สำเร็จ บริษัทไม่เอาผมไปฆ่าหรอก ทำไม่ได้ แค่เสมอตัว แต่สิ่งที่ได้มาคือโอกาสพัฒนาตัวเอง 

เริ่มต้นเป็นคนโฆษณาตอนอายุปลาย 20 ผมใช้เวลาเพียง 2 ปีกว่า เป็นครูสอนตัวเอง จนจบปริญญาโทวิชาโฆษณา ไม่หยุดแค่นั้น เรียนรู้ต่อแบบไม่หยุดยั้ง เรียนรู้ด้วยวิธี self learning ทำงานตั้งแต่งานจับกังถึงงานใช้สมอง ทำอยู่หลายสิบปี ทำให้ผมสะสมกระบี่คู่กายไว้หลายเล่ม 
    ถ้าไม่ทำปัจจุบันให้ดี ไม่ลับดาบตัวเองให้คมกริบ ไม่สร้างสะพานเชื่อมต่อกับอนาคต วันที่  Opportunity knocks จุดเปลี่ยน ไม่มีทางเกิดขึ้น ในระยะเวลา 30 ปี ผมสร้างต้นทุนชีวิตด้วย 4 อาชีพ วิศวกร คนโฆษณา นักการตลาด และ business strategist เคยมีคนถามผมว่าผม cross industry ได้อย่างไร คนฟังคำตอบจะรู้สึกว่า มันง่ายอย่างนั้นหรือ 
    กระบวนการคือ "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ที่ผมเปลี่ยนอาชีพ เพราะไม่ชอบในอาชีพเดิม มันไม่ถูกกับ "จริต" ไม่ทำให้ผม shine out จะให้ผมทำ ผมพอทำได้ เอาตัวรอด แต่ขาดความสุข เลยถามตัวเองว่า จะทู่ซี้ทำไปทำไม เลยฟันฝ่าหาโอกาสในการสะสมต้นทุน 
    คำถามที่สองที่มีคนถาม ผมไปทำอาชีพเหล่านั้น ใช้ความรู้อะไร เพราะไม่เคยเรียนมาก่อน กระบวนการคือเป็นครูสอนตัวเองชั่วชีวิต นี่คือคติพจน์ในการเดินทางไกล อยากบอกผู้อ่านว่า ถ้าผมเป็นครูสอนตัวเองในยุคที่ไม่มี digital ช่วยเหลือ ยังทำได้ สมัยนี้มันยิ่งง่ายใหญ่ เพราะคุณอยากรู้เรื่องอะไร โลก digital คือ knowledge bank ที่คุณตามล่าหาทุกสิ่งอย่าง สำคัญคือคุณต้องเป็นลูกเสือขั้นเทพ เสาะหา "เข็มในมหาสมุทร" ทำทุกวัน เข็มแต่ละอัน
    เปรียบเสมือน Jig saw แต่ละชิ้น แล้วคุณต้องนำ Jig saw มาต่อเป็นภาพใหญ่ 22 เป็นวิศวกร, 27 เป็นคนโฆษณา, 29 เป็นนักการตลาด, 30 กลับมาเป็นคนโฆษณา, 49 เป็น business strategist บทความนี้ ไม่ใช่อยากเล่าเรื่องตัวเอง ผมต้องการสื่อว่าผู้คนอยากปั้นตัวเองเป็นอะไรก็ได้
แต่ถ้าไม่หยอดกระปุกสะสมต้นทุนตอนเป็น "มือใหม่หัดขับ"  อย่าหวังเลยครับว่าจะพลิกชีวิตได้.

คอลัมน์ : แกะดำทำธุรกิจ
ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์
วิศวกร คนโฆษณา นักการตลาด และ business strategis
ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท แกะดำทำธุรกิจ จำกัด
FB@Blacksheeprunbusiness