เนื้อหมูราคาแพง : การอธิบายด้วยกฎธรรมชาติทางเศรษฐศาสตร์
ราคาเนื้อหมูที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ถูกอธิบายว่าเป็นเพราะปริมาณเนื้อหมูส่วนหนึ่งหายไปจากตลาด (จะหายไปเพราะหมูติด โรคอหิวาต์แอฟริกา ทำให้หมูตายหรือเพราะอะไรก็แล้วแต่)
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์ว่าได้มีมาตรการในการแก้ปัญหาเนื้อหมูราคาแพงด้วยการห้ามส่งออกเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้ปริมาณเนื้อหมูกลับเข้าสู่ระบบการบริโภคในประเทศ ก่อนและเร่งส่งเสริมการเลี้ยงหมูเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูให้เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ
คำอธิบายเรื่องปริมาณผลผลิตขาดแคลนหรือไม่เพียงพอ กับความต้องการของผู้บริโภค แทบจะกลายเป็นคำอธิบายหลักที่ใช้ได้ในแทบทุกกรณีเมื่อมีปรากฏการณ์สินค้าทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น
เช่น กรณีราคาทุเรียนของปี พ.ศ.2564 ที่สูงขึ้นกว่าปี พ.ศ.2563 ก็ถูกอธิบายว่าเป็นเพราะผลผลิตทุเรียนถูกส่งออกไปประเทศจีนเพิ่มขึ้นทำให้มีผลผลิตทุเรียนเข้าสู่ตลาด(ไทย)น้อยลงกว่าปีที่แล้ว จึงเป็นเหตุให้ผู้บริโภคในไทยต้องเผชิญกับราคาทุเรียนที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากจะมีคนสงสัยว่า เหตุใดเมื่อปริมาณสินค้าหรือปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง แล้วจึงทำให้สินค้านั้น ๆ มีราคาแพงขึ้น คำตอบที่เขาจะได้รับก็คือเพราะมันเป็น “กฎธรรมชาติ” และนักเศรษฐศาสตร์คงแทบจะกลั้นหัวเราะไม่อยู่ขณะที่ตอบคำถามนี้
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้ผมนึกถึงบางส่วนในหนังสือ นักสืบเศรษฐศาสตร์ที่มี ทิม ฮาร์ฟอร์ดเป็นผู้เขียน ซึ่งเป็นหนังสือขายดีพิมพิมพ์ซ้ำ 10 ครั้งในช่วงเวลาเพียง 5 ปี(2551 – 2555) บางตอนดังกล่าวนั้นมีเนื้อความว่า
“พอล ซีไบร์ต นักเศรษฐศาสตร์เล่าถึงเจ้าหน้าที่โซเวียตซึ่งเดินทางไปลอนดอน เขาชมกระบวนการผลิตของโลกตะวันตกด้วยความสนเท่ห์และร้องถามเสียงหลง “ช่วยบอกผมหน่อยว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบจัดหาขนมปังให้คนลอนดอนทั้งเมือง” คำถามตลกดี แต่คำตอบว่า ไม่มีใครคุม ยิ่งฮาใหญ่” (หน้า 16)
ทิม ฮาร์ฟอร์ดเห็นว่าคำถามที่ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบจัดหาขนมปังให้คนลอนดอนทั้งเมืองเป็นคำถามที่ตลกดี เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าทำไมเมื่อมีปริมาณสินค้าเข้าสู่ตลาดน้อยกว่าความต้องการของผู้บริโภคสินค้านั้นจึงมีราคาแพงขึ้น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่ามันเกิดจากมือที่มองไม่เห็น (invisible hand) หรือกลไกตลาดซึ่งเป็น “กฎธรรมชาติ”
นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า กฎธรรมชาติในเรื่องดังกล่าวนี้มิได้ใช้อธิบายได้เฉพาะในขอบเขตประเทศใดประเทศหนึ่ง และยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถใช้อธิบายเชื่อมโยงถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างพื้นที่และต่างประเทศกันได้อีกด้วย
ทิม ฮาร์ฟอร์ด ยกตัวอย่างกฎธรรมชาตินี้ที่น่ามหัศจรรย์นี้ไว้ในหนังสือนักสืบเศรษฐศาสตร์อีกตอนหนึ่งว่า ในปีหนึ่งที่ประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายสำคัญของโลกต้องเผชิญกับอากาศที่หนาวผิดปกติส่งผลให้ผลผลิตกาแฟของบราซิลลดลงอย่างมาก ปริมาณผลผลิตกาแฟที่เข้าสู่ตลาดโลกจึงลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามไปด้วย
ในขณะที่ประเทศเคนยาซึ่งเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายสำคัญเช่นกันไม่ต้องเผชิญกับอากาศที่หนาวผิดปกติจึงทำให้ผลผลิตกาแฟของประเทศเคนยามีจำนวนเป็นปกติ
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟของเคนยาต่างพากันยิ้มหน้าบาน เพราะผลผลิตกาแฟของตนเองมีราคาสูงขึ้น อันเนื่องมาจากปริมาณผลผลิตกาแฟในตลาดโลกมีน้อยลง
เมื่อเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในประเทศเคนยามีผลผลิตเท่าเดิม แต่ราคาผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรจึงมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นมาก และฮาร์ฟอร์ดอธิบายต่อไปอย่างน่าทึ่งว่าปรากฏการณ์นี้ทำให้ราคาสังกะสีในประเทศเคนยาเพิ่มสูงขึ้น เพราะเกษตรกรต่าง ๆ กันต้องการซื้อสังกะสีมาต่อเติมและปรับปรุงที่พักอาศัยของพวกเขา
โดยสรุปฮาร์ฟอร์ดต้องการอธิบายว่า อากาศหนาวในบราซิลสามารถส่งผลให้ราคาสังกะสีในเคนยาสูงขึ้น ปรากฏการณ์สองอย่างที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลยนั้น สามารถอธิบายได้อย่างน่าทึ่งด้วยกฎธรรมชาติของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีใจความง่ายๆ ว่าเมื่อสินค้าชนิดใดขาดแคลนหรือมีความต้องการสินค้านั้นเพิ่มมากขึ้น สินค้านั้นก็จะมีราคาสูงขึ้น
ฮาร์ฟอร์ดอธิบายว่ากฎธรรมชาติหรือกลไกตลาดนี้เป็นสิ่งที่น่าทึ่งและน่าพึงปรารถนาอย่างยิ่งเพราะมันจะช่วยทำให้สินค้าไปตกถึงมือ “คนที่ถูกต้อง” ตามหลักของคำถามพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 3 ข้อที่นักเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐานทุกคนจะต้องได้รับการบอกว่าคือคำถามที่ว่าจะผลิตอะไร ผลิตเพื่อใคร และผลิตอย่างไร
ซึ่งคำถามที่ว่าจะผลิตเพื่อใครนั้น ฮาร์ฟอร์ดได้ตอบไว้ในหนังสือนักสืบเศรษฐศาสตร์ว่า ผู้ผลิตจะผลิตสินค้าเพื่อให้สินค้านั้นตกถึงมือ “คนที่ถูกต้อง” อันมีความหมายว่าผลิตเพื่อคนที่ต้องการสินค้านั้น
ที่ฮาร์ฟอร์ดบอกว่ากลไกตลาดเป็นสิ่งที่น่าทึ่งและน่าพึงปรารถนาอย่างยิ่งก็เพราะมันเป็นกฎธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้าไปควบคุม
ในทางตรงกันข้ามหากรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงหรือควบคุมก็จะทำให้สินค้าไปตกอยู่ในมือของ “คนที่ไม่ถูกต้อง” อันหมายถึงผู้ที่ไม่ได้มีความต้องการสินค้านั้น
มาถึงตรงนี้อาจมีบางคนที่สงสัยว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็น “กฎธรรมชาติ” จริงหรือไม่ กฎธรรมชาตินี้เหมือนกับการปล่อยของให้ตกลงพื้นด้วยกฎแรงโน้มถ่วงหรือไม่ หรือเหมือนกับการต้มน้ำให้เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสหรือไม่ รวมถึงตั้งข้อสงสัยว่า “คนที่ถูกต้อง” อาจยังมีความหมายอื่นนอกจากหมายถึงคนที่มีความต้องการสินค้าเท่านั้น
เพราะยังต้องหมายความว่าคน ๆ นั้นมีความสามารถที่จะจ่ายในราคาที่ปรากฏในตลาดได้ด้วย หาไม่แล้วแม้ว่าเขาจะมีความต้องการมากเพียงใดแต่หากเขาปราศจากปริมาณเงินในประเป๋าที่เพียงพอ เขาก็จะไม่สามารถซื้อเนื้อหมูหรือซื้อทุเรียนไปรับประทานได้แม้ว่ามันจะวางอยู่ตรงหน้าเขาในตลาดก็ตาม
สิ่งที่ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลถึงขนาดถูกยกให้เป็นกฎธรรมชาติ อาจไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลและไม่ได้เป็นกฎธรรมชาติจริง ๆ รวมถึงสิ่งที่ฟังดูน่าพึงปรารถนาก็อาจไม่ได้น่าพึงปรารถนาหากเราขบคิดอย่างรอบด้าน
ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่กฎธรรมชาติที่อธิบายผ่านวิชาวิทยาศาสตร์อย่างเรื่องแรงโน้มถ่วงหรือน้ำเดือดที่ 100 องศาเซลเซียสก็ยังสามารถถูกนักวิทยาศาสตร์นำมาดัดแปลงหรือควบคุมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้
ดังนั้น กฎธรรมชาติในวิชาเศรษฐศาสตร์ ในด้านหนึ่งจึงควรถูกตรวจสอบว่าเป็นกฎธรรมชาติจริงหรือไม่ ในอีกด้านหนึ่งผู้ที่เชื่อไปแล้วอย่างจริงใจว่าเป็นกฎธรรมชาติก็ควรคิดหาวิธีดัดแปลงและควบคุมกฎธรรมชาติข้อนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนที่จำเป็นต้องกินต้องใช้ ไม่ใช่เฉพาะกับผู้ที่มีเงินทองมากมายพอที่จะจ่ายเท่านั้นที่จำเป็นต้องกินต้องใช้.
คอลัมน์ : มุมมองบ้านสามย่าน
ตะวัน วรรณรัตน์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น