เด็กเกิดใหม่ต่ำสุด VS ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
กราฟจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงจนถึงระดับต่ำสุด ปรากฏเป็นกระแสโซเชียลเป็นอีกหนึ่งข้อกังวลถึงสมดุลของประชากร ปัจจุบันไทยเรามีอัตราการเกิดต่ำ ขณะประชากรสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น
ทุก 10 ปี ภาครัฐโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจะมีการจัดทำสำมะโนประชากร เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรไทยทุกคน โดยแบ่งแยกย่อยตามลักษณะทางประชากรศาสตร์ อาทิ เพศ อายุ สัญชาติ การศึกษา ที่อยู่จริง หลักการคือเพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากร ซึ่งโดยส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกนำมาเป็นฐานในการวิเคราะห์และจัดทำนโยบายทั้งในภาครัฐและเอกชน
การทำสำมะโนประชากรครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2503 และทำต่อเนื่องเรื่อยมาทุก 10 ปี จนล่าสุดในปี 2563 นั้นทำให้เห็นชัดเจนว่าโครงสร้างทางประชากรของประเทศไทยนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก กล่าวคือ ประเทศไทยจากเดิมที่เคยมีกลุ่มประชากรวัยทำงานจำนวนมากกลับมีจำนวนลดลง ขณะที่กลุ่มวัยพึ่งพิงอันได้แก่ประชาวัยเด็กและประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น
หากวิเคราะห์ลงให้ละเอียดจะพบว่า กลุ่มประชากรวัยพึ่งพิงที่เพิ่มมากขึ้นนั้น แท้จริงแล้วเพิ่มขึ้นจากกลุ่มประชากรผู้สูงอายุเท่านั้น ขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ของประชากรไทยนั้นลดลงเรื่อยๆ ในแต่ละปี จนล่าสุดเหลือน้อยกว่า 600,000 คนต่อปีแล้ว
สมดุลที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ หมายถึงภาระที่มากขึ้นของรัฐและประชากรวัยทำงานที่จำต้องดูแลประชากรกลุ่มอื่นๆ และสมดุลในลักษณะนี้ก็ไม่ใช่อะไรใหม่ แต่เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว ยกตัวอย่างที่ใกล้บ้านที่สุด เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นต้น
ประเทศไทยเรามีประชากรสูงวัยที่มีอายุ 60 ปีหรือมากกว่า จำนวน 11 ล้านคนแล้ว คิดเป็นร้อยละ 15.7% ของประชากรไทยที่ 70 ล้านคนโดยประมาณ ถือได้ว่าเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) แล้ว ขณะนี้คนไทยมีอายุเฉลี่ยที่ 75 ปี และอายุคนไทยเฉลี่ยจะมีแนวโน้มยืนยาวถึง 85 ปี ในปี 2568
กลับมาดูในส่วนของอัตราการเกิดของประชากรไทยที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จนดูเหมือนว่าจะยังไม่ถึงจุดต่ำสุดเสียที หากสัดส่วนของประชากรยังมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไป จะทำให้จำนวนประชากรวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะช้าลงเช่นเดียวกับการพัฒนาประเทศ
การทำสำมะโนประชากรล่าสุดในปี 2563 พบว่า จำนวนประชากรเด็กและวัยรุ่นนั้นได้ลงลงจาก 17.2 ล้านคน เหลือเพียง 15.1 ล้านคน คิดเป็น 23.3% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าต่ำมากโดยต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์) และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จนอาจจะเหลือเพียง 13.7 ล้านคนในปี 2573 นี้
ปรากฏการณ์จำนวนเด็กที่ลดลงอย่างมากนี้ สังเกตได้ง่ายที่สุดในชั้นเรียนของโรงเรียนทั่วไป ซึ่งจำนวนเด็กนักเรียนนั้นลดลงอย่างมากกลายเป็นห้องเรียนขนาดเล็ก หลายโรงเรียนที่มีตึกหรือห้องประชุมที่ใหญ่โตกลับไม่ได้ใช้งาน บางโรงเรียนก็จำต้องลดจำนวนครูลง ถือเป็นตัวสะท้อนที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด ซึ่งก็ตรงกันข้ามกับโรงเรียนชื่อดังที่มีนักเรียนเต็มห้องตลอดเวลาในทุกๆ ปี อันเนื่องมาจากชื่อเสียงและคุณภาพซึ่งก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโรงเรียนนั้นๆ
ความเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมและภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สมดุลประชากรไทยนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม ตั้งแต่การแต่งงานช้า ความเครียดจากการทำงาน ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายต่อบุตรที่สูงขึ้นมาก และที่สำคัญก็คือภาวะฝืดเคืองอย่างมากในทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติโควิดนี้
จะมาเกิดเป็นคนไทยนั้นก็ว่ายากแล้ว การจะรักษาตัวให้มีชีวิตที่ดีพอใช้ มีการศึกษา มีอากาศสดชื่นสะอาดหายใจ มีความปลอดภัยในชีวิตนั้นยิ่งยากกว่า