10 ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกในปี 2022 (ตอนจบ) | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำเสนอ 5 ความเสี่ยงแรกด้าน ภูมิรัฐศาสตร์โลกในปี 2022 ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนอีก 5 ประเด็นความเสี่ยงหลัง ด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ต้องจับตา
6. นโยบายเศรษฐกิจสังคมของจีน
แม้ผู้เขียนจะเชื่อว่าประเด็นด้านสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับจีนจะไม่ถึงระดับวิกฤตในปีนี้ แต่นโยบายด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจและสังคมของจีน จะทำให้จีนชะลอลงในระยะยาว รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนในจีน
ในด้านสาธารณสุข นโยบาย Zero covid โดยหากมีเมืองใดที่มีการระบาดลุกลามและมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น ทางการจีนก็พร้อมจะปิดเมืองและคุมเข้ม ซึ่งจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจแย่ลง เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของทั้งภาคการบริการและการผลิตในเดือน ม.ค. ที่ปรับลดลงแรงหลังการปิดเมืองซีอานเมื่อเดือนที่ผ่านมา
ด้านเศรษฐกิจและสังคม 2 นโยบายหลักที่จะจัดระเบียบเศรษฐกิจและสังคมจีนระยะยาว ได้แก่ Common prosperity ที่เน้นการเติบโตอย่างเท่าเทียม จำกัดการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยี ภาคอสังหาฯ และธุรกิจบริการ กับนโยบาย Dual circulation ที่เน้นภาคการผลิตโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในประเทศ และลดการพึ่งพิงสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ
ทั้ง 2 นโยบายนี้ทำให้เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจจีนในทางที่แย่ลง โดยสัดส่วนการส่งออกสุทธิ (ส่งออกลบนำเข้า) ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2021 เพิ่มขึ้นมากเป็นกว่า 21% เทียบกับ 13% ก่อนวิกฤต
ขณะที่สัดส่วนการลงทุน (โดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการ เช่น กลุ่มเทคฯ software) ลดลงเหลือ 14% จาก 29% เช่นเดียวกับขนาดของภาคบริการต่อเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงอัตราการขยายตัวก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน
แนวนโยบายเช่นนี้ จะสร้างความไม่แน่นอนและบิดเบือนตลาด โดยจะกดดันกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีพลวัตที่สุดของจีนบางแห่ง (โดยเฉพาะ e-commerce platform) ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญเชิงกลยุทธ์ แต่ยังไม่มีโอกาสได้กำไร (เช่น เซมิคอนดักเตอร์และเทคฯ Hardware) ซึ่งจะเป็นผลลบต่อการกระจายรายได้ รวมถึงการบริโภคของจีนในระยะต่อไป (เพราะภาคบริการเป็นแหล่งของการจ้างงานมากกว่าภาคอุตสาหกรรม) และอาจนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งในสังคมจีน และปัญหามลภาวะมากขึ้นในอนาคต
7. ข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน
หนึ่งในความหวังของพลโลกเมื่อต้นปีที่แล้วนั้น คือการที่ไบเดนจะนำพาสหรัฐและอิหร่านรวมถึงอีก 5 ชาติพันธมิตรและสหภาพยุโรปนั้นกลับมาตกลงทำสนธิสัญญาลดกำลังการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ที่ถูกยกเลิกไปในสมัยทรัมพ์ ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงด้านความมั่นคงลดลง และปริมาณการผลิตน้ำมันโลกมากขึ้น
แต่จนถึงปัจจุบัน ข้อตกลงใหม่ก็ยังไม่เกิดขึ้น ท่ามกลางการพัฒนาโครงการขีปนาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประธานาธิบดี อิบราฮิม ไรซี ของอิหร่านมีหัวอนุรักษ์นิยมรุนแรง ทำให้การเจรจาใหม่ไม่สัมฤทธิ์ผล นอกจากนั้น ฝ่ายอิหร่านก็ยังกลัวว่า หากไบเดนแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 และทรัมพ์กลับมาแล้ว ข้อตกลงก็จะถูกยกเลิกอีกครั้ง ทำให้อิหร่านมุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีหัวรบนิวเคลียร์
ภาพดังกล่าว จะทำให้ความเสี่ยงที่อิสราเอลบุกทำลายโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านเพิ่มมากขึ้น หลังจากศักยภาพในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านรุดหน้ามาก ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอิสราเอลได้ ดังนั้น หากความเสี่ยงนี้รุนแรงขึ้น อิสราเอลที่เสี่ยงต่อวิกฤตนิวเคลียร์อาจเป็นกังวล และพร้อมเข้าโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านก่อน ซึ่งความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจกระทบกับราคาน้ำมัน และนำไปสู่วิกฤตพลังงานได้
8. การปฏิวัติพลังงานสะอาดถึงทางตัน
หากปีที่แล้วเป็นปีเริ่มต้นแห่งการปฏิวัติพลังงานสะอาด หลังจากที่การผลักดันผ่านข้อตกลงปารีส (COP21) ในปี 2016 และมีข้อตกลงในเชิงปฏิบัติในข้อตกลงกลาสโกว์ (COP26) ในปี 2021 แต่กลายเป็นว่า ความพยายามที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทนนั้น กลับนำไปสู่วิกฤตพลังงาน ทั้งการขาดแคลนไฟฟ้าในจีนและอินเดีย การขาดก๊าซธรรมชาติในยุโรป และราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก
สาเหตุสำคัญเกิดจากการขาดการสำรวจและขุดเจาะใหม่ในฝั่งของการผลิตพลังงานแบบปกติ ขณะที่พลังงานที่ได้จากฝั่งพลังงานหมุนเวียนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และไม่สม่ำเสมอ นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงจากด้านภูมิรัฐศาสตร์จากประเทศผู้ผลิต เช่น กลุ่ม OPEC รวมถึงรัสเซีย เป็นต้น ภาพดังกล่าวจะทำให้ราคาพลังงานอยู่สูงอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
9.สถานการณ์ความไม่สงบทั่วโลกจะเพิ่มมากขึ้น
ณ ชั่วโมงนี้ ความปั่นป่วนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ยูเครน อิหร่าน เกาหลีเหนือ อัฟกานิสถาน เมียนมา เยเมน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ส่วนสำคัญเป็นผลจากการหันหลังให้กับโลกของสหรัฐ หลังจากลดบทบาทในฐานะตำรวจโลกลง โดยในยุคไบเดนท่าทีที่อ่อนแอเกินไปและการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน รวมถึงส่งสัญญาณว่าไม่พร้อมทำสงคราม
ภาพเหล่านี้ทำให้เกิดสูญญากาศของตำแหน่งผู้นำโลก ซึ่งไม่อาจทดแทนได้ด้วยประเทศมหาอำนาจอันดับสองอย่างจีน รวมถึงมหาอำนาจรอง ๆ อย่างอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และชาติอื่น ๆ ภาพเหล่านี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์ความไม่สงบทั่วโลกมีมากขึ้น และอาจนำไปสู่การก่อการร้ายขนานใหญ่ได้ในไม่ช้า
10. ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation) และวิกฤตการเงินในตลาดเกิดใหม่
แม้ความเสี่ยงสุดท้ายจะเป็นเศรษฐกิจ แต่ก็มีต้นกำเนิดจากภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามเย็นสหรัฐ-จีน ประเด็นรัสเซีย-ยูเครน อิหร่าน และความไม่สงบในส่วนต่าง ๆ ของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญของโลก
หากราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ก็จะกดดันให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง และฉุดรั้งให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง เกิดภาวะ Stagflation และอาจทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อกดเงินเฟ้อ และอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินในประเทศเกิดใหม่ รวมถึงในภาคธุรกิจที่มีหนี้สูงได้ และอาจกล่าวได้ว่า ความเสี่ยงนี้สำคัญและกระทบต่อปากท้อง รวมถึงความเป็นอยู่ของภาคธุรกิจ ครัวเรือน รวมถึงเศรษฐกิจมากที่สุด
สงครามเย็นสหรัฐ-จีน ประเด็นรัสเซีย-ยูเครน ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน การปฏิวัติพลังงานสะอาดที่ถึงทางตัน และสูญญากาศของมหาอำนาจโลก เหล่านี้คือบางส่วนของ 10 ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกในปีนี้ ท่านผู้อ่าน เตรียมพร้อมรับมือแล้วหรือยัง.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่
คอลัมน์ : Global Vision
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ฝ่ายวิจัยการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
[email protected]