เลือกตั้งเมืองพัทยา | ชำนาญ จันทร์เรือง
ขณะที่ผู้คนเกือบทั่วประเทศ (เน้นว่าทั่วประเทศ) กำลังตื่นเต้นต่อการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งจะมีเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ผู้คนกลับไม่ค่อยให้ความสนใจต่อการเลือกตั้งเมืองพัทยา ทั้งๆ ที่มีผู้คนรู้จักไปทั่วโลก ในแต่ละปีสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล
เพราะเมืองพัทยายังอยู่ในการกำกับดูแลจากผู้ว่าราชการจังหวัด และยังอยู่ในฐานะ อปท.ชั้นล่าง (Lower-Tier) ของ อบจ. เช่น ประชาชนในเขตเมืองพัทยายังมีสิทธิและหน้าที่ต้องไปเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ.ชลบุรี เพราะเขตของ อบจ.นั้นครอบคลุมทั้งจังหวัด (ม.8 วรรคสอง พรบ.อบจ.ปี 40) /อบจ.ชลบุรีมีอำนาจออกข้อบัญญัติเก็บค่าธรรมเนียมฯ จากผู้พักในโรงแรมในเขตเมืองพัทยา(ม.65 พ.ร.บ.อบจ.ปี 40) ฯลฯ
อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่า องค์กรปกครองท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นรูปแบบทั่วไป คือ อบจ./เทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)หรือรูปแบบพิเศษคือ กทม./เมืองพัทยา ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน มีความสำคัญต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย ฯลฯ
แต่คนทั่วไปมีความรู้เรื่องเมืองพัทยาน้อยมาก(แม้แต่คนพัทยาหรือจนท.ของเมืองพัทยาที่ผมโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลเองก็ตาม) ผมจึงขอนำเรื่องเมืองพัทยามาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
เมืองพัทยาถูกเปลี่ยนสถานะเมื่อปี 2521 ให้เป็นองค์ปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีพื้นที่รับผิดชอบ ไม่ครอบคลุมเต็มพื้นที่จังหวัดเหมือน กทม. ด้วยเหตุที่มีลักษณะพิเศษด้านการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นอันมากจนทำให้ อปท.ที่มีอยู่เดิม คือ สุขาภิบาลนาเกลือไม่สามารถรองรับได้ จึงมีการยุบเลิกสุขาภิบาลนาเกลือและจัดตั้งเมืองพัทยาขึ้นมาแทน
โดยนำเอาระบบการจัดการปกครองแบบ ผู้จัดการเมือง(City Manager) ที่ใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกาหลายๆแห่งแล้วได้ผลดี
ระบบนี้ประชาชนจะเลือกตั้งสมาชิกสถาท้องถิ่น และสภาท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดหาและว่าจ้างผู้ที่มีความเหมาะสม ที่มีความเป็นมืออาชีพและปลอดจากการเมืองมาเป็น ผู้จัดการเมือง ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการเมืองพัทยา
แต่การนำระบบนี้มาใช้กับเมืองพัทยากลับไม่ประสพความสำเร็จ เพราะมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองท้องถิ่นนั้นเองอยู่ดี
กอปรกับได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ ปี 2540 ที่กำหนดให้ผู้บริหาร อปท.และสมาชิกสภา อปท.ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในท้องถิ่นเท่านั้น จึงได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารเมืองพัทยา ปี 2542 อันส่งผลให้ระบบ City Manager สิ้นสุดลง
โครงสร้างการบริหารเมืองพัทยาปัจจุบันประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ นายกเมืองพัทยาและสภาเมืองพัทยา
1.นายกเมืองพัทยา เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารแทนผู้จัดการเมืองแบบเดิม
ที่มาของนายกเมืองพัทยามีความคล้ายคลึงกับผู้ว่าฯกทม./นายก อบจ./นายกเทศมนตรี และนายก อบต. โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปี ไม่สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ หากจะกลับมาจะต้องพ้นระยะเวลา 4 ปีไปแล้ว(แก้ไขเมื่อ ปี 62) นายกเมืองพัทยาสามารถตั้งรองนายกฯได้ไม่เกิน 4 คน ปัจจุบันมีนายสนธยา คุณปลื้ม เป็นนายกเมืองพัทยาโดยการแต่งตั้งจาก คสช. ตั้งแต่ปี 2561
2.สภาเมืองพัทยา ประกอบไปด้วยสมาชิกฯจำนวน 24 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยมีประธานสภาฯ 1 คนและรองประธานฯ อีก 2 คน
อำนาจหน้าที่ต่างๆและรายได้ของเมืองพัทยาโดยทั่วไปแล้วจะคล้ายคลึงและเทียบเคียงได้กับเทศบาลนคร แต่เมืองพัทยาสามารถดำเนินภารกิจอันเป็นอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาและมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์แกเมืองพัทยานอกเขตพื้นที่รับผิดชอบของเมืองพัทยาได้ โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยาและได้รับความยินยอมจาก อปท.ที่เกี่ยวข้องก่อน
ทั้งนี้ หากเมืองพัทยาไม่ได้รับความยินยอมจาก อปท.ที่เกี่ยวข้อง นั้น ให้นายกเมืองพัทยารายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ถ้าผู้ว่าฯชลบุรีเห็นว่าภารกิจดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ให้ผู้ว่าฯชลบุรีดำเนินการให้นายกเมืองพัทยาและ อปท.ที่เกี่ยวข้องมาประชุมกันเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน
นอกจากนี้ เมืองพัทยาสามารถร่วมกับหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ อปท.อื่นๆจัดตั้งหน่วยงานใหม่ในรูปแบบ “สหการ” ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้น เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านการพัฒนาและส่งมอบบริการสาธารณะต่างๆอันเป็นอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาได้ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าจวบจนปัจจุบันเมืองพัทยายังไม่มีการจัดตั้งสหการขึ้นแต่อย่างใด
ในส่วนของการบริหารงานบุคคลของเมืองพัทยา นั้น ถูกกำหนดให้ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ที่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลกำหนด ที่เป็นการใช้สำหรับการบริการสาธารณะทั่วๆไป
ซึ่งไม่สอดคล้องต่อโครงสร้างของเมืองพัทยา และไม่สนองตอบต่อเจตนารมณ์ ความต้องการ และความคาดหวังของประชาชนในท้องถิ่น ที่ต้องการบริการสาธารณะอันเป็นการเฉพาะด้านการท่องเที่ยวทางทะเลแบบนี้
เราสามารถกล่าวได้ว่า การบริหารเมืองพัทยาในปัจจุบันโดยภาพรวมแล้วคล้ายคลึงกับเทศบาลนครตาม พ.ร.บ.เทศบาล ปี 2496 เช่น โครงสร้างภายในที่นายกฯและสมาชิกสภาต่างก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 4 ปี ไม่สามารถเป็น 2วาระติดต่อกัน จำนวนสมาชิกสภาฯ ก็ 24 คน เท่ากัน รายได้ของเมืองพัทยาที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เมืองพัทยา ปี 42 ก็คล้ายคลึงกันอีก คือ รายได้จากภาษีอากร รายได้จากค่าธรรมเนียม รายได้จากทรัพย์สิน รายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์ รายได้เบ็ดเตล็ด รายได้จากสะสมจ่ายขาด ฯลฯ
เพียงแต่มีรายละเอียดบางประการที่แตกต่างออกไปบ้างเล็กน้อย เช่น ระบียบปฏิบัติทางการคลัง การงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้าง และการพัสดุ ที่เมืองพัทยาสามารถออกเองได้ แต่ก็ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานกลางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดอยู่ดี พูดง่ายๆว่าเมืองพัทยาก็คือเทศบาลนครดีๆนี่เอง แต่ไม่เรียกว่าเทศบาลเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าเมืองพัทยาจะไม่ต่างกันกับเทศบาลนครซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วนให้เมืองพัทยาเป็น อปท.รูปแบบพิเศษจริงๆ ทั้งโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ การบริหารบุคคลและรายได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ชื่อเช่นนี้ แต่บทบาท วิสัยทัศน์ และฝีมือของผู้บริหารและสมาชิกสภาเมืองพัทยาก็มีส่วนสำคัญ ที่จะนำไปสู่ประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะและการพัฒนาเมืองพัทยา และนำไปสู่การพัฒนาประเทศในที่สุดให้ที่ดีขึ้นได้
ฉะนั้น เราจึงไม่สามารถมองข้ามการเลือกตั้งเมืองพัทยาที่จะเกิดขึ้นในโอกาสที่จะถึงนี้ได้.