“คุณภาพ” ไล่ล่าเราแล้ว | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

“คุณภาพ” ไล่ล่าเราแล้ว | วิฑูรย์  สิมะโชคดี

แต่ละปีที่ผ่านไป ถ้าถามว่าเราทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอันบ้าง หลายท่านนับชิ้นได้ แต่หลายท่านก็คิดที่เป็นชิ้นเป็นอันไม่ออก ทั้งที่เราต่างทำอะไรๆ ตั้งมากมาย แต่ทุกเรื่องที่เราทำ จะสำเร็จผลมากน้อยเพียงใด มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ “คุณภาพ” แทบทั้งสิ้น

ลองคิดดูว่า  ถ้าทั้งตัวเราและองค์กรต่างๆ ในสังคม “ไม่มีคุณภาพ” แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เริ่มตั้งแต่โรงงานที่ไม่มีคุณภาพ  จะผลิต “สินค้าที่มีคุณภาพ” ได้อย่างไร

เช่นเดียวกับโรงเรียน ถ้าครูไม่มีคุณภาพแล้ว  จะผลิตลูกศิษย์ที่มีคุณภาพออกมารับใช้สังคมได้อย่างไร  ถ้าครูมีคุณภาพ หรือ ลูกศิษย์มีคุณภาพ  แต่เนื้อหาหลักสูตรไม่มีคุณภาพ นักเรียนและลูกศิษย์จะเป็นอย่างไร
    

การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย  ก็คงไม่ต่างจากนี้  คือถ้าปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งบกพร่องหรือไม่ได้มาตรฐานที่ยอมรับกัน (ไม่มีคุณภาพ หรือ มีคุณภาพต่ำ)  สถาบันนั้นก็จะผลิต “บัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพ” บัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพก็จะออกไปสร้างผลงานที่มีคุณภาพสู่สังคมได้ยาก

ถ้าหากการขนส่ง  การจราจร  หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนไม่มีคุณภาพ  พวกเราจะมี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีได้อย่างไร และอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ “คุณภาพชีวิต” ของเราด้อยค่าลง ทั้งๆ ที่เราทุกคนควรจะมี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีกว่านี้ ตามความเจริญของวัตถุและพัฒนาการทางสังคม รวมทั้งอายุที่มากขึ้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างอันน้อยนิด  ซึ่งยังไม่ได้รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่เราจับต้องและใช้สอยกันทุกวัน  เพราะถ้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่มีคุณภาพ  รวมถึงอาหารการกินที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคด้วยแล้ว  ผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

“คุณภาพ” จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งในวันนี้  โดยเฉพาะคุณภาพในกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ เพราะเกี่ยวข้องกับคน  กรรมวิธีการผลิต  การตรวจสอบ  การควบคุม  การจัดเก็บ  การขนส่ง  การบริหารจัดการในโรงงาน เป็นต้น  ซึ่งต้องการคุณภาพในทุกจุดและทุกกระบวนการอย่างครบวงจร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ “คุณภาพของคน”

กรณีการเอาเปรียบผู้บริโภคที่เป็นข่าวร้องเรียนอยู่เนืองๆ  ด้วยเหตุสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ (คุณภาพต่ำ) แต่ขายราคาแพง เพราะการเอาแต่ได้  โดยผู้ผลิตขาดความรับผิดชอบในการผลิต และผู้ขายขาดจิตสำนึกในการส่งมอบสินค้าหรือบริการที่ราคายุติธรรมให้กับผู้ซื้อ
 

ทุกวันนี้  การที่จะบอกว่าอะไรมีคุณภาพหรือไม่  จึงต้องอาศัย “มาตรฐาน” เป็นตัวชี้วัดเสมอ การที่จะบอกว่างานไหนมีคุณภาพหรือไม่  ก็ต้องมีมาตรฐานการทำงานและผลงานเป็นตัวกำหนดหรือชี้วัดว่าพนักงานทำได้ตามมาตรฐานงานที่ต้องการหรือไม่ เช่น ต้องทำได้กี่ชิ้นในเวลา 1 ชั่วโมง  ทำของเสียกี่มากน้อย ต้องแก้ไขงานไหม เป็นต้น

สินค้าที่มีคุณภาพ ก็คือสินค้าที่นอกจากจะต้องทำได้ตามมาตรฐานแล้ว  สินค้านั้นยังต้องสมารถสร้างความพอใจและประทับใจให้ลูกค้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ของตัวสินค้า  ประโยชน์ของการใช้งาน  ความสวยงาม  ความคงทน เป็นต้น แต่ปัจจุบัน  ยังมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาเกี่ยวข้องกับการผลิตและการให้บริการด้วย

คำว่า “คุณภาพ”  จึงครอบคลุมถึงกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น  การไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม  การลดใช้ถุงพลาสติก  การลดปัญหาขยะมีพิษ  การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  เป็นต้น

คำว่า “คุณภาพ” จึงครอบคลุมและตีความได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น  แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสถาบันต่างๆ (มาตรฐาน ISO)  โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สังคมโลกให้ความสำคัญมากขึ้นทุกที  ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ตระหนักรู้และปฏิบัติกันอย่างจริงจังมากขึ้น

“คุณภาพ”  จึงเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำได้ยากที่สุด และเราไม่ทำหรือไม่มีคุณภาพก็ไม่ได้ด้วย  โดยเฉพาะการสร้าง “คนที่มีคุณภาพ” เพื่อการต่างๆ ในองค์กร  เพราะ “คนที่ไม่มีคุณภาพ” จะอยู่ได้ยากมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน

ทั้งหมดทั้งปวงนี้  “คุณภาพ”  จึงหมายถึง “ความรับผิดชอบ” ของผู้นำ และ “ความยั่งยืน” ขององค์กร ด้วย

ณ วันนี้ ถ้าเราเชื่อคำกล่าวที่ว่า ยุคนี้เป็นยุคของ “ปลาเร็วกินปลาช้า” เราก็คงต้องรีบปรับเปลี่ยนความคิดของเราใหม่ให้เป็น “สร้างคุณภาพด้วยความรวดเร็ว” เพื่อให้ทั้งตัวเราและองค์กรอยู่รอดและยั่งยืนต่อไป ครับผม !