เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อวิถีชีวิตชาวริมคลองฝั่งธนบุรี | TEI

เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อวิถีชีวิตชาวริมคลองฝั่งธนบุรี | TEI

วิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ผูกพันกับคูคลองและแม่น้ำมาตั้งแต่อดีต ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ริมสองฝั่งคลอง ที่เอื้อต่อการเกษตร ในสมัยก่อนมีการขุดคูคลองหลายสาย เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังถูกใช้ในการระบายน้ำ และคมนาคมขนส่ง

มีหลายคนเคยกล่าวว่า กรุงเทพฯ เปรียบเสมือนเวนิสตะวันออกเพราะมีความสวยงาม โดยมีคูคลองทั้งหมด 1,760 คลอง แต่ปัจจุบันมีการใช้ได้จริงไม่ถึงครึ่ง  เนื่องจากการเจริญเติบโตของเมือง 
    ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตริมฝั่งคลองมากมายที่เป็นทั้งโอกาสและปัญหาสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะชุมชนฝั่งธนบุรีเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงนิเวศวัฒนธรรมของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 

ชุมชนคลองฝั่งธนบุรี มีลักษณะเป็นโครงข่ายที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงโดยใช้แม่น้ำลำคลองและเส้นทางรถไฟ  การตั้งถิ่นฐานจึงมีเรื่องราวของวิถีชีวิต เชื้อชาติ ศาสนาที่แตกต่าง  แต่สามารถกลมกลืนผสมผสานทางวัฒนธรรมเป็นอย่างดี  
    ฝั่งธนบุรีในปัจจุบันยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร หลายชุมชนริมคลองฝั่งธนฯ ยังคงรักษาวิถีชีวิตเกษตรสายคลอง ย่านพาณิชยกรรมดั้งเดิม และย่านพหุวัฒนธรรม 
    ในขณะเดียวกัน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์และโครงการจัดสรรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ฝั่งธนฯ ในปัจจุบันจึงมีส่วนผสมที่ชัดเจนทั้งพื้นที่กึ่งชนบท พาณิชยกรรม เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย 
    ความวิวัฒน์ดังกล่าวเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรี การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทำให้พื้นที่เกษตรกรรมและการผลิตลดลง หลายคูคลองถูกกลบทับหรือกลายเป็นที่ระบายน้ำเสีย

เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อวิถีชีวิตชาวริมคลองฝั่งธนบุรี | TEI

บางชุมชนจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพและตัดขาดจากภูมินิเวศ ในขณะที่ชุมชนที่ยังคงวิถีเกษตรสายคลองเกิดข้อจำกัดมากขึ้น
    อีกด้านหนึ่ง ผู้อยู่อาศัยและกลุ่มธุรกิจใหม่ย่านฝั่งธนบุรี เป็นผู้บริโภคที่มีศักยภาพ และการพัฒนาระบบขนส่งทางรางทำให้การเข้าถึงชุมชนเป็นไปได้สะดวกซึ่งเสริมศักยภาพด้านการตลาด

ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ได้สร้างความท้าทายใหม่ในบริบทการพัฒนาเมือง ซึ่งชี้ว่าระบบเศรษฐกิจบนฐานต้นทุนของพื้นที่จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความยั่งยืน 

โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรีด้วยเครือข่ายคลังสมองของพื้นที่ และแผนผังภูมินิเวศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน (Green Thonburi) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย  สถาบันคลังสมองของชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  สถาบันอาศรมศิลป์ และมหาวิทยาลัยสยาม 
    ร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรี ให้คงยังมีวิถีแห่งสายน้ำด้วยการค้นหารูปแบบที่เหมาะสมบนฐานเศรษฐกิจสีเขียวในการพัฒนาระบบนิเวศที่ส่งเสริมศักยภาพและโอกาส และสอดคล้องกับภูมินิเวศและความเข้มแข็งของชุมชน

เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อวิถีชีวิตชาวริมคลองฝั่งธนบุรี | TEI
    การพัฒนานี้จะนำมาซึ่งความผูกพันในการอยู่อาศัย การสร้างอาชีพ และความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้พื้นที่คลองและวิถีชีวิตชาวฝั่งธนฯ ยังสามารถดำรงต่อไปได้  โดยมีพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนา 4 แห่ง ที่มีศักยภาพความพร้อมในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นเชิงสินค้าการเกษตร และบริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตร-วัฒนธรรม อันจะผลักดันให้เกิดการพึ่งพาตนเองบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน 
    ได้แก่ ชุมชนพูนบำเพ็ญ เขตภาษีเจริญ  ชุมชนตลาดพูล เขตธนบุรี  ชุมชนคลองบางประทุน เขตจอมทอง และชุมชนคลองบางมด เขตทุ่งครุ-บางขุนเทียน  ที่มีความเชื่อมโยงการเดินทางด้วยคลอง และระบบขนส่งมวลชน 
    จากการศึกษาพื้นที่ริมคลองฝั่งธนบุรี  พบว่า ทั้ง 4 ชุมชน เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงระบบนิเวศ  วัฒนธรรมของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เป็นของแต่ละชุมชน  ที่มีความพร้อมในการพัฒนา 

ชุมชนพูนบำเพ็ญ-เขตภาษีเจริญ
    มุ่งเน้นสินค้าและบริการ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของชุมชน  โดยส่งเสริมให้การทำการเกษตรของคนในชุมชนเป็นเกษตรอินทรีย์ 100 %  และการพัฒนาการท่องเที่ยวอนุรักษ์เกษตรวิถีคลอง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว  ด้วยการพัฒนาพื้นที่ตลาดเชิงอนุรักษ์วิถีคลอง เชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่เกษตร
ชุมชนตลาดพลู-เขตธนบุรี 
    อีกหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งอาหารที่หลายคนคุ้นเคยกันดี คือ กุยช่าย  ก๋วยเตี๋ยว  ขนมไทยต่าง ๆ ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นเศรษฐกิจสีเขียวในชุมชนตลาดพลู  และเน้นการท่องเที่ยวประกอบกิจกรรมบนฐานต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน  การวาดภาพ ศิลปะพู่กันจีน
ชุมชนคลองบางมด-เขตทุ่งครุ-บางขุนเทียน
     เป็นที่รู้จักขึ้นชื่อในเรื่องของส้มบางมด ที่มีผลผลิตเป็นที่ยอมรับตั้งแต่อดีต  ซึ่งในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทำให้ส้มบางมดหายไปจากพื้นที่ ชาวบางมดมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจริมคลอง อนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีชาวบ้าน ด้วยการท่องเที่ยวชุมชนและเกษตรปลอดภัย  ส่งเสริมการเกษตรที่มีความหลากหลาย  
ชุมชนคลองบางประทุน-เขตจอมทอง
    มีความผูกพันกับการทำเกษตรมาตั้งแต่อดีต  โดยการทำนา ทำสวนผลไม้ผสมผสาน  จนปัจจุบันพื้นที่ของชุมชนได้มีการจดทะเบียนพืชการเกษตร ส้มบางมด และ  ลิ้นจี่ เป็นสินค้า GL ก้าวต่อไปของชุมชนคือ การเพิ่มมูลค่าของสินค้า ด้วยการแปรูป สร้างแบรนด์กลางของชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่

เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อวิถีชีวิตชาวริมคลองฝั่งธนบุรี | TEI
    การนำเศรษฐกิจสีเขียวขับเคลื่อนคลอง จึงเป็นเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรีและคลัสเตอร์เศรษฐกิจบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว โดยการสร้างกลไกความร่วมมือคลังสมองของพื้นที่ และเครื่องมือยุทธศาสตร์แผนผังภูมินิเวศ พัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทาน
     และเสนอแนวทางพัฒนาระบบนิเวศสนับสนุนชุมชนบนฐานเศรษฐกิจสีเขียวที่สอดคล้องกับความต้องการ ศักยภาพ และภูมินิเวศของชุมชนเพื่อส่งเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่คลอง ได้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น และรักษาวิถีชีวิตชาวฝั่งธนบุรีให้ดำรงอยู่ต่อไป 
คอลัมน์ : รักษ์โลก Low Carbon Society
เรียบเรียงโดย  กุหลาบ  รอดทอง 
เจ้าหน้าที่สื่อสารและประชาสัมพันธ์  
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย