เมื่อบริษัทเทคโนโลยีคืออำนาจใหม่ | บัณฑิต นิจถาวร
การเติบใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีทั้งขนาด ความมั่งคั่ง และอิทธิพลที่บริษัทเหล่านี้มีต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ต่อการทำธุรกิจของบริษัททั่วโลกและการทำหน้าที่ของรัฐ ทำให้มีการเปรียบเปรยอิทธิพลของบริษัทเหล่านี้ว่าเป็นอำนาจใหม่
อำนาจใหม่คือ อำนาจเทคโนโลยี เหมือนเป็นอำนาจที่สามในระเบียบเศรษฐกิจและการเมืองโลก ต่อจากอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจ ประเด็นคือเราควรมีแนวทางกำกับดูแลการทำธุรกิจของบริษัทเหล่านี้อย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์มากสุดต่อส่วนรวม นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจและบทบาทบริษัทเทคโนโลยีในสังคมเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 โดยเฉพาะห้าบริษัทยักษ์ใหญ่คือ อัลฟาเบตที่เป็นเจ้าของกูเกิล แอ๊ปเปิ้ล อเมซอน เฟซบุ๊คที่ล่าสุดเปลี่ยนชื่อเป็นเมต้า (Meta) และไมโครซอฟท์
สะท้อนการปฏิวัติด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทั่วโลกที่ได้ปรับเปลี่ยนหรือ transform วิธีการติดต่อ การทำงาน และการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้คนทั่วโลกอย่างสิ้นเชิง บนโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศด้านดิจิทัลที่บริษัทเหล่านี้ได้พัฒนาขึ้นและ "เป็นเจ้าของ"
ทำให้ทุกการติดต่อ ทุกธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ในทุก platform ที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัลหรือ Digital Space ต้องพึ่งโครงสร้างพื้นฐาน ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรม หรือชุดคำสั่งคือ algorithm ที่บริษัทเหล่านี้ได้สร้างขึ้น
ผลคือบริษัทเหล่านี้กลายเป็นผู้ควบคุมหรือ control โครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศของโลกดิจิทัลอย่างเบ็ดเสร็จ แม้จะไม่ผูกขาดเพราะการแข่งขันในทางพฤตินัยยังมีได้
เราจึงเห็นในปี 2020 ห้าบริษัทใหญ่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐ (SP500) เป็นบริษัทเทคโนโลยีทั้งสิ้น มีสัดส่วนมูลค่าตลาดรวมกันร้อยละ 21.7 ไม่มีบริษัทในภาคเศรษฐกิจจริงหรือภาคการเงิน และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตของรายได้และกำไรต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤติโควิด
ทำให้บริษัทเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่ทรงอำนาจและอิทธิพลในเศรษฐกิจการเมืองโลกมากสุดกลุ่มหนึ่งขณะนี้
คำถามคืออำนาจของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้มาจากไหน คำตอบคือมาจากอำนาจเศรษฐกิจ การเมือง และ เทคโนโลยี
อำนาจเศรษฐกิจมาจาก หนึ่ง โมเดลธุรกิจที่เน้นการสร้าง platform ให้ผู้ซื้อผู้ขายเจอกันและขยายจำนวนผ่าน network effects ทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ ผลคือธุรกรรมเติบโตมาก ตัวอย่างเช่นลูกค้าของ Amazon App มีมากถึง 175 ล้านคนสิ้นปีที่แล้ว
สอง การได้ข้อมูลลูกค้าทำให้บริษัทเหล่านี้ได้เปรียบและสามารถใช้ข้อมูลไปต่อยอดหาประโยชน์ (Asymmetric Information) สาม ใช้เงินที่มีมหาศาลขยายธรุกิจหรือ disrupt ธุรกิจเดิมที่มีอยู่ เข้าซื้อบริษัทที่มีศักยภาพจะเป็นคู่แข่งเพื่อลดการแข่งขัน และลงทุนเพื่อให้บริษัทสามารถคงอิทธิพลอยู่ในโลกดิจิทัลได้ต่อไปทั้งในฐานะผู้ออกแบบ ผู้จัดการและผู้ดูแลระบบ
ส่วนอำนาจการเมือง บริษัทเหล่านี้ก็เหมือนบริษัทใหญ่อื่นทั่วไป คือใช้เงินล็อบบี้ให้นโยบายภาครัฐเดินไปในทิศทางที่บริษัทต้องการเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัท รวมถึงควบคุมการเสนอข้อมูลในโซเชียลมีเดียที่ไม่ตรงกับความเชื่อของบริษัท
แต่ที่มีอิทธิพลจริงๆ คืออำนาจทางเทคโนโลยี ที่บริษัทสามารถออกแบบระบบ โปรแกรม และชุดคำสั่งหรือ algorithm ต่างๆ รวมถึงบริหารจัดการระบบนิเวศของโลกดิจิทัลให้เป็นประโยชน์แก่ตนและเพื่อการสร้างอำนาจหรืออิทธิพลให้กับบริษัท
ตัวอย่างล่าสุดคือการขยายธุรกิจของเฟซบุ๊คเข้าไปใน Metaverse ซึ่งเป็นพื้นที่ดิจิทัลที่ไม่มีการควบคุมและมีความเสี่ยงมากที่จะเกิดปัญหาธรรมาภิบาลตามมา ประเด็นนี้สำคัญและเป็นเรื่องที่ประชาชนและแวดวงวิชาการกังวล จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องจริงจังที่จะกำกับดูแลโลกดิจิทัลในแง่นโยบายสาธารณะ
ในส่วนของการกำกับดูแล ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ
หนึ่ง โลกดิจิทัลหรือ Digital space ปัจจุบันเป็นเหมือนพื้นที่ที่ภาคเอกชนจัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ไม่มีการกำกับดูแลอย่างเป็นกิจจะลักษณะโดยภาคธุรกิจ ทำให้ล่อแหลมต่อการปฏิบัติที่มิชอบทำให้ประชาชนที่เข้าไปใช้ประโยชน์เสียหาย
ปัญหาที่พบมากทั่วโลกขณะนี้คือ การให้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง (Disinformation) ในโซเชียลมีเดีย การฉ้อโกง ปัญหาธรรมาภิบาลโดยเฉพาะเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ปัญหาจริยธรรมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ และเรื่องความปลอดภัย (Cybersecurity)
สิ่งเหล่านี้คือช่องว่างของระบบนิเวศในโลกดิจิทัลปัจจุบัน ที่สร้างต้นทุนและความเสี่ยงให้กับธุรกิจและประชาชน
สอง รัฐบาลประเทศหลักเช่น สหรัฐพร้อมที่จะทำอะไรมากขึ้นในการกำกับดูแล แต่แนวคิดยังมุ่งไปที่บทบาทหน้าที่ของบริษัทเทคโนโลยีในฐานะที่เป็นบริษัทในระบบเศรษฐกิจ จึงพยายามกำกับดูแลในประเด็นคล้ายกับบริษัทในภาคเศรษฐกิจจริง
เช่นเรื่องการแข่งขัน การมีอำนาจเหนือตลาด การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มากกว่าที่จะกำกับดูแลบริษัทเหล่านี้ในแง่ market practice ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้เล่นคนสำคัญในโลกดิจิทัล ซึ่งสำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยให้กับธุรกรรมในโลกดิจิทัล
สาม เพราะโลกดิจิทัลเป็นธุรกิจ ความรับผิดชอบในการดูแลให้โลกดิจิทัลปลอดภัย น่าเชื่อถือ และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็ต้องเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ด้วยเช่นกัน
เหมือนคำพูดที่ว่า With great power comes great responsibility คือเมื่อมีอำนาจก็ต้องมีความรับผิดชอบ ที่ผ่านมาจากที่ธุรกิจดิจิทัลโตเร็วมาก การเติบโตจึงไปเร็วกว่าความพร้อมของบริษัทเทคโนโลยีที่จะให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบเหล่านี้
ในความเห็นของผม การแก้ไขคือต้องทำให้ digital space เป็นพื้นที่สาธารณะไม่ใช่พื้นที่ของบริษัทเทคโนโลยี และภาครัฐควรวางระบบการกำกับดูแลเพื่อรักษาไว้ซึ่งความซื่อตรงของระบบและให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวอย่างมีธรรมาภิบาล คือ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรม
ถ้าไม่ทำ ช่องว่างนี้จะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเพราะบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้คือผู้ที่จะออกแบบสร้างและบริหารจัดการโลกดิจิทัลต่อไปในอนาคต ซึ่งพัฒนาการจะไปเร็วมากโดยการตัดสินใจที่ให้ความสำคัญกับเหตุผลทางธุรกิจและประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ
ผลคือการตัดสินใจที่ออกมา ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของคนทั่วโลก อาจไม่ดีสุดในแง่เสถียรภาพและประโยชน์ต่อส่วนรวม
นี่คือข้อคิดที่อยากฝากไว้.
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]