โลกสองขั้วในการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
จากการศึกษานโยบายที่เกี่ยวข้องกับ สินทรัพย์ดิจิทัล ของประเทศต่างๆ แล้วผู้เขียนพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มประเทศที่สนับสนุนการใช้คริปโทเคอร์เรนซี (คริปโท) และประเทศที่แบนคริปโท ซึ่งมีแนวคิดในเรื่องดังกล่าวแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
๐ กลุ่มประเทศที่มีนโยบายเข้มงวด
ประเทศในกลุ่มนี้คือ ประเทศที่มีนโยบายไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโทในแง่มุมต่างๆ เช่น การใช้เป็นสื่อกลางในการชำระราคาสินค้าหรือบริการ รวมถึงการทำธุรกรรมประเภทที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล
ประเทศแรกที่จะกล่าวถึงคือจีน โดยธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้ยกระดับเข้มข้นในการกำกับดูแลตั้งแต่ปลายปี 2564 ซึ่งได้ประกาศให้การทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และยังได้ห้ามบริษัทจีนหรือบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในประเทศใช้ชื่อทางการค้าที่มีคำว่า “Virtual currencies” หรือ “Crypto Assets”
นอกจากนี้ จีนยังได้สอดส่องธุรกรรมไปไกลถึงยังผู้ให้บริการในต่างประเทศ โดยได้กำหนดว่า “ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายในต่างประเทศ (Oversea exchanges) อาจมีความผิดในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับคริปโทต่อลูกค้าชาวจีน” และเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานภาครัฐหน่วยต่างๆ ที่มีอำนาจในการตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมในต่างประเทศสามารถตรวจสอบ สืบค้น การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโทของชาวจีนในต่างประเทศได้
ในทำนองเดียวกัน เมื่อปลายเดือน ม.ค.2565 หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของอินโดนีเซีย (Indonesian Financial Services Authority : OJK) ได้มีแนวนโยบายในการห้ามสถาบันการเงินให้บริการในการเสนอขาย การอำนวยความสะดวก การเป็นตัวกลาง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ หรือการทำการตลาดไม่ว่าในลักษณะใดที่เป็นการเกี่ยวข้องกับการซื้อขายคริปโท ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในปี 2564 ซึ่งรวมแล้วกว่าหกหมื่นล้านดอลลาร์ (Source : CNBC)
อีกประเทศที่น่าสนใจคืออินเดีย แม้ว่าในภาพรวม อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีประเทศหนึ่งของโลก อย่างไรก็ดี ในช่วงปีที่ผ่านมา นโยบายในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลดูเหมือนจะมีความเข้มข้นขึ้น
อินเดียมีความพยายามในการผลักดันและเสนอกฎหมายเพื่อคุ้มเข้มการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในหลายแง่มุม เช่น กฎหมายด้านการเงินที่ห้ามการใช้คริปโทในการชำระราคา และกฎหมายภาษีที่จะเก็บจากเงินได้ที่เกิดจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะเก็บสูงถึงร้อยละ 30 และอาจจัดเงินได้ที่เกิดจากการซื้อขายคริปโทบางประเภทให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับเงินได้ที่เกิดจาก
๐ ที่เข้มงวดเพราะจะมี CBDC ของตัวเอง
หากศึกษาที่มาของนโยบายของประเทศที่ไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล พบว่าทั้งจีนและอินเดียต่างมีจุดร่วมที่คล้ายกันคือ ทั้งสองประเทศกำลังพัฒนา CBDC (Central Bank Digital Currency) ของตนเอง ซึ่งจีนถือเป็นประเทศผู้นำในการเริ่มทดลองใช้ CBDC แล้วในหลายเมืองใหญ่ และจะเริ่มทดสอบการใช้ดิจิทัลหยวนในงานโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ณ กรุงปักกิ่งกับนักกีฬาและผู้เข้าร่วมงานเป็นครั้งแรก โดยให้สามารถใช้กับการชำระราคาสินค้าและบริการต่างๆ ในงาน ซึ่งมีบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับเงินดิจิทัลของจีนในโซนจัดงานด้วย
ส่วนอินเดีย แม้ที่ผ่านมาจะมีแนวนโยบายที่ทั้งสนับสนุนและแบนคริปโท (เริ่มแบนครั้งแรกในราวปี 2561 และผ่อนคลายในปี 2563 โดยผลจากคำพิพากษาของ Supreme Court) แต่ในปัจจุบัน แนวทางการไม่สนับสนุนชัดเจนขึ้นเนื่องจากธนาคารกลางอินเดียกำลังอยู่ระหว่างพัฒนา CBDC ของตนเอง ที่มีแผนจะใช้ให้ทันในภายในปีสองปีนี้
๐ประเทศนโยบายเสรี
ที่ว่าเสรีในที่นี้คือมีการตรากฎหมายเพื่อสนับสนุนในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในหลายกิจกรรม ซึ่งแนวนโยบายในลักษณะนี้มีความแตกต่างจากประเทศในกลุ่มข้างต้นอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น เมื่อกลางปี 2564 เอลซัลวาดอร์ได้ออกกฎหมายบิตคอยน์ (Bitcoin Law) ที่มีผลทำให้บิตคอยน์เป็นสื่อกลางที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
เดิมทีประเทศได้ใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักเพียงสกุลเดียว (ได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนบิตคอยน์กับดอลลาร์สหรัฐในเวลาต่อมา) ดังนั้น เมื่อสนับสนุน นโยบายทางภาษีก็ผ่อนคลายตามไปด้วย โดยเอลซัลวาดอร์อนุญาตให้ใช้บิตคอยน์ในการชำระค่าภาษีอากรได้ และมีนโยบายไม่จัดเก็บภาษีจากกำไรส่วนต่างของราคาบิตคอยน์
ล่าสุด เอลซัลวาดอร์ได้บัญญัติกฎหมายราว 20 ฉบับเพื่อรองรับและสร้างสถานะในทางกฎหมายให้กับ Bitcoin Bond หรือพันธบัตรบิตคอยน์ที่รัฐบาลเป็นผู้ออก (backed by government) ให้มีลักษณะเป็น Securities หรือ หลักทรัพย์ที่ถูกกฎหมายประเภทหนึ่ง ซึ่งมีแผนจะให้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 6.5
โดยรัฐบาลมีโครงการจะนำเงินที่ได้ไปพัฒนา Bitcoin City หรือเมืองเทคโนโลยีด้านบิตคอยน์ ที่จะมีแนวนโยบายในการดึงดูดนักลงทุนและผู้พัฒนาบล็อกเชน และคาดว่าจะมีแนวทางในการยกเว้นการจัดเก็บภาษีในรายการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ ภาษีที่ดิน และภาษีฐานกำไรจากการลงทุน
ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศต่างๆ ก็กำลังปรับเปลี่ยนไปในทางที่จะให้ประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตัวเอง