เดินตาม Passion หรือตาม Purpose? | พสุ เดชะรินทร์
ด้วยอาชีพประจำของการสอนหนังสือ ทำให้ได้มีโอกาสพบเจอคนรุ่นใหม่อยู่เป็นประจำ คำถามหนึ่งที่มักจะได้รับจากลูกศิษย์ที่อยู่ในวัย 20 กว่าๆ มาตลอด คือเมื่อจบไปทำงานแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าได้ทำในสิ่งที่ใช่?
ลูกศิษย์บางกลุ่มที่ยังทัน Steve Jobs ก็มักจะชอบยกคำกล่าวของ Jobs ที่บอกว่าให้ Follow your passion อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังก็เริ่มมีข้อถกเถียงว่าแล้วควรจะ Follow your passion จริงหรือไม่?
Passion ในความหมายนี้จะหมายถึง สิ่งที่สนใจ สิ่งที่ชอบ ดังนั้น Follow your passion ก็เสมือนการทำในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่สนใจ จนสามารถยึดเป็นอาชีพและเลี้ยงชีพต่อไปได้
อย่างไรก็ดี คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยก็มักจะบอกว่ายังไม่รู้ว่า Passion ของตัวเองคืออะไร ซึ่งพอไม่รู้ว่า Passion ของตนเองคืออะไรแล้ว ก็จะสับสนว่าควรจะทำอะไรต่อไปดี
ช่วงหลังเริ่มมีแนวคิดที่มองตรงกันข้ามกับการเดินตาม Passion ออกมาเรื่อยๆ เช่น การศึกษาจาก Jon Jachimowicz จาก Harvard Business School ที่มีข้อเสนอแนะว่าแทนที่จะสนใจหรือทำในสิ่งที่ชอบหรือสนใจ (Passion) ให้หันมาลองทำตามในสิ่งที่คำนึงถึงหรือห่วงใยมากกว่า ซึ่ง Jon นั้นใช้คำรวมๆ ว่าให้ทำตาม Purpose ของแต่ละคน
มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งของ Jon ที่ศึกษาพนักงานเป็นจำนวนหลายร้อยคน และพบว่าสำหรับคนที่มุ่งมั่นที่จะทำตาม Passion นั้น สุดท้ายแล้วคนกลุ่มนี้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเดินตาม Passion ที่ต้องการและเป็นไปได้สูงที่จะลาออกจากงานภายในเวลา 9 เดือน และยังพบว่า Passion มีความสัมพันธ์ในเชิงสถิติกับ Performance ในระดับที่ต่ำด้วย
ส่วน Purpose นั้นเมื่อนึกถึงคำว่า Purpose ในบริบทของการบริหารองค์กรแล้ว Purpose คือสาเหตุของการดำรงอยู่และสิ่งที่องค์กรทำให้กับผู้อื่น ดังนั้นเมื่อนำ Purpose มาใช้กับในระดับบุคคล ก็เป็นการตอบคำถามว่าแต่ละคนดำรงอยู่เพื่ออะไรและทำอะไรให้กับคนอื่น
นอกจากนี้ยังมีงานของอาจารย์จาก Kellogg School of Management ที่ชื่อ Nicholas Pearce ที่ศึกษาจากผู้นำต่างๆ แล้วได้ผลในลักษณะคล้ายๆ กัน นั้นคือสำหรับแต่ละบุคคลแล้วแทนที่จะตั้งเป้าหมายของชีวิตไปที่ความสุข โดยทำแต่เฉพาะสิ่งที่ตนเองสนใจและมีความสุขแล้ว ให้มุ่งเป้าไปในสิ่งที่ทำเพื่อตอบความหมายของการดำรงอยู่มากกว่า
Nicholas อ้างงานวิจัยต่างๆ ที่เริ่มพบว่าการนำเรื่องของความสุขมาเป็นเป้าหมายของชีวิตหรือการทำสิ่งต่างๆ นั้น สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้รับจะไม่ใช่ความสุขที่ปรารถนา แต่ผู้ที่ตามหาความหมายของชีวิตจะนำไปสู่ชีวิตที่ยืนยาวขึ้น สุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น สถานะทางการเงินที่ดีขึ้น และความยืดหยุ่นเมื่อต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิต
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาของทางมหาวิทยาลัย Harvard ที่ศึกษาและติดตามชีวิตผู้ชายมากกว่า 75 ปี พบว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่นำไปสู่ความสุขและสุขภาพที่ดีในชีวิต นั้นคือการมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ดี ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีอยู่ หรือสถานะทางสังคม หรือจำนวนคนที่ติดตามในสื่อสังคมออนไลน์
ความสัมพันธ์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจำนวนเพื่อนที่มี หรือการมีคู่รัก ชีวิตสมรส แต่มุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพของความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มีคุณภาพ มีคนที่สามารถไว้วางใจ เชื่อถือได้ และพร้อมจะพูดคุย รับฟังในทุกสถานการณ์ จะช่วยให้ผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้สมองมีสุขภาพที่ดีขึ้น และลดความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ
เหมือนกับว่าความเชื่อเดิมๆ ทั้งการทำตาม Passion หรือการมุ่งหาความสุขเป็นหลักนั้นอาจจะต้องเปลี่ยนไป แทนที่จะทำตาม Passion ก็ควรจะทำตาม Purpose ก่อน (แต่ต้องให้มั่นใจว่ามี Purpose ด้วย) แทนที่จะมุ่งแต่หาความสุข ก็ควรจะมุ่งหาสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิต โดยทั้งหมดนั้นจะต้องมีสัมพันธภาพที่ดีมีคุณภาพกับบุคคลอื่นด้วย.
คอลัมน์ : มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]