ความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในยุคโควิด-19 | กฎหมาย4.0
โรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ทำให้หลายประเทศมีมาตรการปิดประเทศ และให้ประชาชนกักตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ทำให้เกิดปัญหาใหม่ก็คืออาการ “เบื่อบ้าน”
ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ผู้คนส่วนใหญ่มักจะมีอาการเบื่อบ้าน เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเป็นเวลานานกว่าปกติ ทั้งยังต้องปรับตัวในเรื่องการทำงานที่ต้องทำงานจากที่บ้าน และต้องเผชิญกับการขาดหายไปจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมของเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท หรือญาติมิตร
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ต้องอยู่บ้านตลอดเวลาอาจจะมีการขัดแย้งหรือกระทบกระทั่งกับคนในครอบครัวได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้
เพื่อบรรเทาความเครียดและหลีกเลี่ยงการไปที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด พื้นที่สีเขียว เช่น พื้นที่ป่าไม้ สวนสาธารณะ หรือสนามเด็กเล่น จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้คนในยุคโควิด-19 เนื่องจากประชาชนสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวสำหรับการสันทนาการ ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อเนื่องจากเป็นสถานที่เปิดโล่ง
นอกจากนั้น พื้นที่สีเขียวยังหมายความรวมถึงสวนหลังบ้าน มุมเล็กๆ สีเขียวภายในบ้าน หรือสวนในหมู่บ้าน เป็นต้น ดังนั้น กลุ่มคนที่มีความพร้อมทางด้านการเงินหรือมีฐานะทางเศรษฐกิจ สามารถจัดหาและได้รับประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวได้มากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ สิ่งนี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวของประชาชนได้ในมิติหนึ่ง
ภายใต้การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคม พบว่าความนิยมในการใช้บริการพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในเมืองและไม่มีพื้นที่สีเขียวภายในบริเวณที่อยู่อาศัยของตนเอง แสดงให้เห็นว่าพื้นที่สีเขียวในเมืองมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคม
การมีสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวภายในตัวเมือง นอกจากจะเป็นปอดขนาดใหญ่ให้กับผู้คนที่อยู่ในเมืองแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงนโยบายการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐที่ใส่ใจ และตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ รวมถึงความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณะอีกด้วย
การจัดให้มีพื้นที่สีเขียวในเมืองหรือในเขตชุมชนต่างๆ ถือว่าเป็นการจัดทำกิจกรรมหรือการให้บริการอย่างหนึ่งของรัฐเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้รัฐจะต้องจัดสรรบริการสาธารณะเพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีและตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
เป็นที่สังเกตได้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะมีการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวในเมืองหรือในชุมชนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากรัฐบาลทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นได้มีกำหนดเป้าหมาย วางแผนและออกแบบอย่างเป็นระบบร่วมกันในการจัดการพื้นที่สีเขียว
ตลอดจนมีการพัฒนาระบบนิเวศของพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองหรือชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำในเข้าถึงพื้นที่สีเขียว ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวยก็สามารถจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวได้อย่างเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเทศที่รัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองหรือเขตชุมชนได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลในเรื่องของความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การขาดแคลนพื้นที่หรืองบประมาณในการจัดทำพื้นที่สีเขียว ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวของรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมหรือพื้นที่สีเขียว
สำหรับประเทศไทย รัฐมีการใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวที่อยู่ในรูปแบบของกฎหมายและแผนพัฒนาทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เช่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562
พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) และนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2540-2559
แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างๆ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือแผน ยังไม่สามารถนำมาบังคับใช้หรือประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม เนื่องจากรัฐยังขาดการบริหารจัดการที่ดี ขาดความเป็นเอกภาพและขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ดังจะเห็นได้จากชุมชนหลายแห่งในประเทศไทยยังประสบปัญหาด้านความขาดแคลนพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสม
เพื่อลดแรงกระแทกระหว่างรัฐและประชาชนในการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐควรให้ความสำคัญกับการจัดการพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างเร่งด่วน โดยจะต้องมีการนำมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายต่างๆ ที่กำหนดไว้มาบังคับใช้ในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน
เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขของรัฐ อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนและลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19.
คอลัมน์:กฎหมาย4.0
พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กานพลู งานสม นักวิชาการอิสระ