ทักษะชีวิต โรงเรียนลืมสอน | บวร ปภัสราทร
ทุกคนผ่านการเรียนในโรงเรียนมาทั้งนั้น แต่ลองนึกทบทวนกันดูว่าที่เราอยู่รอดได้ในทุกวันนี้ มีมากมายหลายอย่างที่โรงเรียนไม่ได้สอนมา แน่นอนว่าจะให้โรงเรียนช่วยตระเตรียมทุกอย่าง สำหรับการมีชีวิตที่อยู่รอดท่ามกลางความท้าทายนานาประการไม่ได้ทั้งหมด
โรงเรียนก็ควรเป็นที่ที่ช่วยตระเตรียมลูกหลาน ให้พร้อมจะมีชีวิตเผชิญหน้ากับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น มากกว่าที่จะพร่ำสอนในสรรพสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตที่ผ่านมา
โดยหวังว่าความรู้จากอดีตจะเพียงพอสำหรับการรับมือความท้าทายในอนาคต ซึ่งชีวิตจริงพบว่าหลายอย่างที่ทุ่มเทฝึกฝนกันมาในโรงเรียนไม่ได้ทำให้ลูกหลานมีความพร้อมสำหรับการรับมือความท้าทายใหม่ๆ แต่อย่างใด
ในชีวิตจริงนั้นความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ และความรู้ตลอดจนประสบการณ์ในอดีตใช้รับมือความท้าทายเหล่านั้นได้ไม่มากนัก ซึ่งถ้าใครเชื่อว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นก่อนที่ลูกหลานจะผ่านพ้นช่วงวัยเรียน พ่อแม่ปู่ย่าตายายก็ไม่ต้องรับภาระนี้ไปทำ หากต้องการเห็นอนาคตที่ดีของลูกหลาน
ชีวิตจริงคนเราต้องพบกับความล้มเหลวเสมอ แต่โรงเรียนเตรียมคนให้พบกับความสำเร็จ คนที่ทำสำเร็จเท่านั้นที่จะได้คะแนนดีๆ ได้คำชมเชย กลายเป็นคนที่ล้มเหลวอย่างมีความสุขไม่ได้ ล้มเหลวแล้วต้องทุกข์เพราะสอบตก โดนตำหนิ โดนตราหน้าความล้มเหลวไว้ในระเบียนผลการเรียนจนชั่วชีวิต
โลกทุกวันนี้ต้องการคนที่พร้อมจะล้มเหลว แต่ฟื้นกลับคืนมาได้ด้วยตนเอง โดยไม่สูญเสียความเชื่อมั่นในฝีมือของตนเอง ความพร้อมที่จะล้ม ล้มได้เร็วและฟื้นได้เร็วถูกลืมสอนในโรงเรียน พ่อแม่ต้องช่วยสร้างความพร้อมนี้ โดยอย่าซ้ำเติมความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในระบบโรงเรียน แต่ต้องช่วยให้ลูกหลานล้มเหลวอย่างไม่ทุกข์
ล้มเหลวอย่างมีพลังที่จะฟื้นกลับคืนมาใหม่ได้ อยากเห็นลูกหลานไปสร้างนวัตกรรมในวันหน้า อย่าสร้างความทุกข์ซ้ำเติมความล้มเหลวที่ลูกหลานพบเจอมาจากโรงเรียนอย่างเด็ดขาด
ความสำเร็จในชีวิตขึ้นกับความสามารถในการตัดสินใจ โรงเรียนฝึกการตัดสินใจที่มีขอบเขตคับแคบ เพราะเป็นการตัดสินบนสาระในแต่ละวิชา ตัดสินใจตอบคำถามในข้อสอบ ตัดสินใจในการจัดทำโครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่มีบริบทที่มีขอบเขตจำกัดเป็นเรื่องๆ
คนยุคปัจจุบันต้องตัดสินใจภายใต้พหุมิติ ทักษะการตัดสินใจเชิงเดี่ยวที่ฝึกกันมาในโรงเรียนจึงแทบจะเป็นการลองผิดลองถูก เพราะไม่ได้ตัดสินใจกับช้างทั้งตัวที่อยู่ในป่า เคยแต่ตัดสินใจกับงาช้าง หรือขาช้าง หรือหางช้างที่เลี้ยงไว้ในสวนสัตว์เท่านั้น พ่อแม่สามารถสร้างทักษะนี้ให้กับลูกในวัยเรียนได้ โดยใช้มิติต่างๆ ที่ลูกต้องพบเจอในครอบครัว ในชุมชน และในโรงเรียนมาเป็นประเด็นให้ลูกฝึกการตัดสินใจ
ทักษะการตัดสินใจกับพหุมิตินี้แหละ จะช่วยให้เขาเอาตัวรอดได้ในชีวิตจริงได้ดีกว่าการตัดสินใจเชิงเดี่ยวที่ฝึกกันมาอย่างเข้มข้นในโรงเรียนมากมายนัก เพราะชีวิตจริงมีมิติที่เชื่อมโยงกันอยู่มากมาย ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคนที่ทำอะไรไม่เป็น แต่ได้ใหญ่เป็นโตให้เห็นอย่างแน่นอน
เราต้องต่อรองกันสารพัดเรื่องในการดำรงชีวิตจริง โรงเรียนลืมสอนเรื่องการเจรจาต่อรอง ตรงข้ามโรงเรียนกดดันให้ลดการต่อรองด้วยการจำกัดรูปแบบความสำเร็จไว้เพียงไม่กี่แบบ นอกจากนั้นคือความล้มเหลว การเจรจาไม่ใช่เพื่อการต่อรอง แต่เป็นการเจรจาเพื่อรับรู้ทางเลือกแบบอย่างของความสำเร็จ การเจรจาจึงจบลงด้วยชัยชนะฝ่ายหนึ่ง และพ่ายแพ้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าคนชนะคือโรงเรียน คนแพ้คือลูกเรา
โรงเรียนฝึกให้ทำตามคือชนะ ไม่ทำตามคือแพ้ ลูกหลานจึงอ่อนด้อยความสามารถในการเจรจาต่อรองในชีวิตจริง เจรจาเพื่อยอมรับเงื่อนไขแต่เพียงข้างเดียวทำได้ดี แต่เจรจาเพื่อการเปลี่ยนแปลงปรากฏออกมาสองสุดขั้ว คือถ้าไม่ก้าวร้าวจนทะเลาะกันไปหมด ก็อ่อนแอจนเอาชนะใครเขาไม่ได้
พ่อแม่อย่าซ้ำเติมให้อ่อนแอลงไปอีกด้วยการปิดการเจรจาต่อรองไว้เพียงทางเดียวคือ เจรจาได้ตราบเท่าที่เป็นไปตามที่พ่อแม่ต้องการเท่านั้น เปิดโอกาสให้ลูกฝึกหัดเจรจาต่อรองในทางที่พ่อแม่อาจจะไม่ชอบใจได้บ้าง
ให้เขาเห็นตัวอย่างการเจรจาที่จบลงด้วยความพึงพอใจของทุกฝ่ายบ่อยๆ วันหน้าเขาจะเจรจาจนได้ชีวิตที่ดีสำหรับเขาได้ โดยไม่ไปสร้างความทุกข์ให้กับใครต่อใคร
สามตัวอย่างที่โรงเรียนลืมสอน หรือสอนไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับความสำเร็จในชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน โรงเรียนลืมได้ แต่พ่อแม่ลืมไม่ได้.
คอลัมน์ : ก้าวไกล วิสัยทัศน์
รศ.ดร.บวร ปภัสราทร
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี