ทวงคืนทางเท้าปลอดภัยให้กับคนเดินเท้า | มุมมองบ้านสามย่าน
ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์มอเตอร์ไซค์พุ่งชนคนข้ามทางม้าลายในกรุงเทพหลายครั้ง มีทั้งกรณีที่บาดเจ็บเล็กน้อย บาดเจ็บสาหัส ไปจนถึงเสียชีวิตแทบจะทันที
หลังเกิดเหตุก็ได้มีการทาสีตีเส้นทางม้าลายข้ามถนนและเส้นชะลอความเร็ว ให้ชัดเจนขึ้นอย่างรวดเร็ว คำถามสำคัญคือ ที่ผ่านมาเมืองให้ความสำคัญกับการข้ามถนนที่ปลอดภัยมากขนาดไหน ในขณะที่เราต้องการพัฒนาระบบถนนให้คล่องตัวมากขึ้นเพื่อรองรับเมือง ที่เน้นการใช้รถส่วนบุคคลจนกรุงเทพติดอันดับเมืองที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนในระดับสูง
เมื่อลองดูข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนของกรุงเทพปี 2564 โดยศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ จะเห็นได้ว่า กรุงเทพเกิดอุบัติเหตุ 97,380 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 809 ราย อุบัติเหตุส่วนใหญ่ 90% เกิดขึ้นกับมอเตอร์ไซค์ ส่วนอีก 10% เกิดขึ้นจากรถยนต์ สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ คือ ขับขี่ยานพาหนะเร็วเกินกำหนดและการเปลี่ยนช่องจราจรกะทันหัน
แล้วจะทำอย่างไรให้คนข้ามถนนอย่างปลอดภัย? ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐมักเสนอให้สร้างสะพานลอยเพื่อให้คนเดินข้ามไปพร้อมกับการขยายถนน โดยเชื่อว่าการที่คนข้ามถนนโดยใช้สะพานลอยจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งถูกต้องในเชิงหลักการออกแบบทางวิศวกรรม
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การให้คนใช้สะพานลอยเดินข้ามถนนแทนทางม้าลาย ถือเป็นการผลักภาระให้คนเดินเท้าต้องเหนื่อยมากขึ้นเพื่อแลกกับความปลอดภัยทางถนน อีกทั้งคนยังมีภาพจำกับสะพานลอยว่าเป็นจุดเสี่ยงเกิดอาชญากรรม และมีสายไฟระเกะระกะ จนดูไม่ปลอดภัยต่อการเดินขึ้นสะพานลอย
บางจุดก็ได้มีการเสนอให้ขุดอุโมงสร้างทางเดินลอดถนนที่สามารถหลบแดดหลบฝนได้แทนสะพานลอยที่เหมือนจะเหนื่อยน้อยกว่าในตอนแรกที่เดินลง แต่ก็ใช้งบประมาณการก่อสร้างที่สูงกว่าสะพานลอยหลายเท่าตัว ทำให้อุโมงทางเดินลอดมีไม่กี่แห่ง
ในช่วงหลังก็มีการสร้าง สกายวอร์ค หรือ ทางเดินยกระดับ ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องการเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับอาคารสำนักงานหรือคอนโดมิเนียม ถือเป็นทางเดินพิเศษที่ไม่ต้องเดินลงมาใช้ทางเท้าร่วมกับคนทั่วไป
แต่เมื่อสร้างสกายวอร์คเสร็จเรียบร้อยก็มีการยกเลิกทางม้าลายข้ามถนน เช่น สกายวอร์คเชื่อมระหว่างศูนย์การค้ามาบุญครองกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนมีการเรียกร้องให้นำทางม้าลายข้ามถนนกลับมาเช่นเดิม เนื่องจากยกเลิกทางม้าลายนั้นไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มคนที่ใช้งานเดิม
สิ่งที่พอจะทำให้การข้ามถนนปลอดภัยได้ในตอนนี้ คือ การติดตั้งไฟกดรอสัญญาณข้ามถนนพร้อมติดตั้งไฟส่องสว่าง การตีเส้นชะลอความเร็ว แต่ก็ยังไม่เกิดเหตุชนคนข้ามถนน ณ ทางม้าลายข้ามถนนอยู่ดี หรือว่าเราควรจะมองปัญหาความปลอดภัยในการข้ามถนนที่ใหญ่กว่านี้ เพื่อเปลี่ยนบรรทัดฐานของเมืองที่นิยมใช้รถส่วนบุคคลใหม่
Jeff Speck ซึ่งเป็นนักวางแผนเมืองได้เขียนหนังสือ “Walkable City: how downtown can save America, one step at a time” เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์เรื่องการสร้างความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้า โดยการเสนอเรื่องเมืองเดินได้อย่างเป็นระบบ
การทำให้เมืองเดินได้อย่างปลอดภัย ต้องเริ่มจากรถส่วนบุคคล เนื่องจากรถยนต์มีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างสัณฐานเมืองและแทบจะเป็นชีวิตจิตใจของคนอเมริกันมาเป็นเวลานาน นักวางแผนต้องทำความเข้าใจว่าบทบาทของรถยนต์และโครงข่ายถนนมีส่วนในการสร้างความเข้าใจเรื่องการออกแบบทางเดินอย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดที่จอดรถขั้นต่ำของสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้าหรือคอนโดมิเนียม ทั้งที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าหรือป้ายรถเมล์ ซึ่งไม่ควรจะมีที่จอดรถส่วนบุคคลจำนวนมาก ฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจรถส่วนบุคคล ที่จอดรถ และการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมไปพร้อมกัน
นอกจากนั้น เมืองต้องสร้างการเดินที่ปลอดภัยให้กับคนเดินเท้าที่ต้องคำนึงถึงขนาดของบล็อค ความกว้างของช่องทางสัญจร ทิศทางการไหลของรถยนต์ การใช้ความเร็วของยานพาหนะในแต่ละช่วงเวลา และการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งเมืองในอเมริกาส่วนใหญ่มีการออกแบบถนนที่ผิดแผกไปจากหลักการความปลอดภัยที่ควรเป็น การออกแบบที่ไม่ถูกหลักจึงส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
กรุงเทพเองก็ถือเป็นเมืองที่คนนิยมใช้รถส่วนบุคคลเป็นชีวิตจิตใจเช่นเดียวกับหลายเมืองในอเมริกา บางย่านที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจและอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าก็ได้มีการเสนอแนวคิด Road Diet โดยการลดช่องการจราจรเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับคนเดินเท้า ออกแบบภูมิทัศน์ทางเท้าใหม่เพื่อให้คนสามารถข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
หากการทำ Road Diet ประสบความสำเร็จก็น่าจะทำให้การผลักดันความปลอดภัยในการข้ามถนนเป็นจริงมากขึ้น แต่จุดที่ต่างจากอเมริกา คือ กรุงเทพเป็นเมืองมอเตอร์ไซค์ หลายปีที่ผ่านมามีการจดทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ใหม่ที่สูงกว่ารถยนต์ และน่าจะเป็นเมืองมอเตอร์ไซค์ไปชั่วกัลปาวสาน ซึ่งต้องทำความเข้าใจมอเตอร์ไซค์ควบคู่ไปกับการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
หลายประเทศพยายามแก้ไขปัญหาเมืองมอเตอร์ไซค์ ด้วยการทำเลนมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่น จาการ์ตา มีการทำเลนพิเศษสำหรับมอเตอร์ไซค์ในเมือง ส่วนในมาเลเซียทำเลนมอเตอร์ไซค์ควบคู่ไปกับทางหลวงซึ่งเป็นการเดินทางระยะไกล รวมถึงการสร้างจุดพักรถเพื่อให้คนขี่สามารถหลบฝนได้
หากกรุงเทพคำนึงถึงคนขับที่มอเตอร์ไซค์ก็น่าจะมีการทดลองทำจุดเลี้ยว จุดกลับรถสำหรับมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะ การทำพื้นที่จอดพักมอเตอร์ไซค์ในช่วงที่ฝนตกหนัก คนขี่มอเตอร์ไซค์จะได้ไม่ต้องไปหลบฝนใต้สะพานลอยหรือสะพานทางข้าม
เพราะฉะนั้น การทำให้การเดินข้ามถนนอย่างปลอดภัยจึงไม่ใช่แค่การทาสีตีเส้น ไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยีการจราจรเข้ามาช่วย แต่ต้องผลักดันไปพร้อมกับแนวคิดเมืองที่ทำให้คนเดินได้อย่างปลอดภัย ซึ่งต้องมองทั้งบทบาทของรถส่วนบุคคลและมอเตอร์ไซค์ การจำกัดที่จอดรถ การปรับพื้นที่ถนนใหม่ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่จูงใจให้คนหันมาใช้มากกว่ารถส่วนบุคคล เพื่อให้เมืองคุ้มครองความปลอดภัยคนเดินเท้าและลดการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างแท้จริง.
คอลัมน์ : มุมมองบ้านสามย่าน
อดิศักดิ์ สายประเสริฐ นักวิจัยโครงการ SIAM LAB
นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น