5 ข้อเสนอ "ทางม้าลาย" ปลอดภัย สกัดอุบัติเหตุซ้ำ
เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมภาคีกว่า 50 คน นำภาพตัวอย่าง "ทางม้าลาย" เสื่อมสภาพส่งถึง “อัศวิน” พร้อมเสนอ 5 ข้อที่ควรทำ สกัดอุบัติเหตุซ้ำรอยเข้าข่ายวัวหายล้อมคอก ฝันอยากเห็นผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ดันเป็นนโยบายต้องทำให้สำเร็จ
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ที่ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) น.ส.เครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมด้วย เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. เครือข่ายเหยื่ออุบัติเหตุ ภาคีเครือข่ายชุมชนเพื่อความปลอดภัย 50 คน ร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ขอทางม้าลายที่ปลอดภัย” บริเวณทางม้าลายที่มีไฟสัญญาณคนข้าม หน้าศาลาว่าการ กทม. และร่วมกันสั่นกระดิ่งปลุก กทม. ให้ตื่นทำงานเชิงรุกลดอุบัติเหตุ-สูญเสียซ้ำซาก
จากนั้นผู้แทนฯ ได้นำภาพถ่ายทางม้าลายเสื่อมสภาพมาร้องเรียน พร้อมยื่นข้อเสนอถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญมือง ผู้ว่าราชการกทม. และเรียกร้องผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่ากทม.ดันเป็นนโยบายที่ต้องทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มารับหนังสือแทน
น.ส.เครือมาศ กล่าวว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถจักรยานยนต์ big bike Ducati สีแดง ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย อย่างแรงระหว่างเดินข้ามทางม้าลายบริเวณหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต
ล่าสุด ทราบจากรายงานข่าวว่า บริเวณดังกล่าวก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน คือ มีรถจักรยานยนต์ขับมาทางขวาด้วยความเร็วและชนสองสามีภรรยาที่กำลังเดินข้ามถนนในจุดเดียวกันนี้ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซาก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจนเกิดเหตุสลดกับหมอกระต่าย
- เสียชีวิตจากข้าม "ทางม้าลาย" 500 คนต่อปี
ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2557 ก็เกิดเหตุรถฝ่าไฟแดงพุ่งชนพนักงานสาวแกรมมี่ขณะข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต และอีกหลายๆ กรณี ซึ่งจากข้อมูลศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ) ศึกษาจากแหล่งข้อมูลอุบัติเหตุต่างๆ ประมาณการณ์ว่า มีผู้ถูกรถชนเสียชีวิตขณะข้ามถนนบนทางม้าลาย เฉลี่ย 6% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน หรือประมาณ 500 คนต่อปี โดยพบเกิดเหตุในพื้นที่ กทม.เกิดเหตุมากที่สุด จึงขอให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมายทำทางม้าลายให้มีความปลอดภัย
- 5 ข้อเสนอ สกัดอุบัติเหตุ
น.ส.เครือมาศ กล่าวต่อว่า หลังเกิดเหตุกับหมอกระต่าย ทำให้ กทม.เข้าไปแก้ไขปรับปรุงสภาพทางม้าลายแล้วนั้น แต่ทางเครือข่ายขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ กทม. ดังนี้
1. เครือข่ายขอขอบคุณ กทม. ที่เข้าไปปรับปรุงแก้ไขทางม้าลายตรงจุดเกิดอุบัติเหตุรถชนหมอกระต่าย แต่ขอให้กทม.ทำงานเชิงรุกและมีความชัดเจนในการลดอุบัติเหตุทางถนน เร่งตรวจสอบทางม้าลายที่เสื่อมสภาพ กลไกการแจ้งเตือน อาทิ ไฟสัญญาณคนข้าม เส้นนูน-ลูกระนาดชะลอความเร็ว เป็นต้น เพื่อปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมตลอดเวลา
2.ขอให้กทม.เพิ่มการติดตั้งไฟสัญญาณคนข้ามทางม้าลาย ตลอดจนที่ดักชะลอความเร็ว ในจุดที่มีความสำคัญ เป็นเขตชุมชน และมีความเสี่ยง ให้มากขึ้นโดยเฉพาะจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และสัญญาณกำหนดความเร็วในเขตเมือง โดยเฉพาะ ตลาด ชุมชน โรงเรียน ที่ต้องขับขี่รถไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งทั้งหมดนี้แม้จะใช้งบประมาณจำนวนมากแต่ก็คุ้มค่าเมื่อแลกกับความสูญเสีย
3. ขอให้ กทม. สนับสนุนทุกกลไกเพื่อการตรวจจับปรับจริง กรณีมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจร และให้เร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจกับผู้ใช้รถใช้ถนนให้เคารพกฎจราจร โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมิใช่แค่ช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์
4. ขอเรียกร้องต่อคน กทม. ผู้ใช้รถใช้ถนน ให้ร่วมกันเป็นอาสาตาจราจร ช่วยกันสอดส่องดูแลผู้กระทำผิดกฎหมายต่างๆบนถนน เช่น ไม่จอดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ขับย้อนศร กลับรถในที่ห้ามกลับรถ หรือการกระทำผิดอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุของคนเดินเท้า หรือผู้ร่วมทาง โดยสามารถส่งคลิปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือมูลนิธิเมาไม่ขับ
5.ขอเรียกร้องให้บรรดาว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. แข่งขันกันเสนอนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุในพื้นที่ กทม. ให้เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้ชาว กทม.ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ
ขณะที่ นางพวงแก้ว โต้ตอบ เหยื่อผู้สูญเสียลูกชายอายุ 12 ปี จากการถูกรถยนต์ชนจักรยานยนต์ปลายปี 64 และแกนนำเครือข่ายชุมชนเพื่อความปลอดภัย กล่าวว่า ตนสูญเสียลูกชายจากอุบัติเหตุรถยนต์ บริเวณชุมชนหน้าเคหะชุมชนคลองเก้า คลองสามวา ซึ่งเป็นถนนสองเลน แต่รถวิ่งเร็วมาก โดยจุดเกิดเหตุอยู่ตรงทางแยกเข้ามาที่เคหะฯ แต่ไม่มีสัญญาณเตือนอะไรเลย ทางม้าลายก็หมดสภาพแทบมองไม่เห็น และเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุแทบทุกเดือน จึงอยากให้กทม. สำนักงานเขต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาดูแลก่อนจะเกิดเหตุขึ้นอีก แล้วมาตามแก้เข้าตำราวัวหายล้อมคอก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนและเครือข่ายได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพทางม้าลายหลาย ๆ จุดในกทม. พบหลายจุดเสื่อมสภาพ จึงได้ถ่ายภาพเป็นหลักฐานมามอบให้ กทม. ช่วยพิจารณาแก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนจุดเสี่ยงต้องมีไฟสัญญาณเตือนคนข้ามซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่จะตามมาได้มาก แต่เท่าที่เห็นมักอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางเมืองเท่านั้น ตนจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนช่วยกันถ่ายภาพทางม้าลายเสื่อมสภาพร้องเรียนไปที่ กทม. เพื่อให้ดำเนินการแก้ไข และร่วมกันถ่ายคลิปคนที่ทำผิดกฎหมายจราจร ส่งให้กับตำรวจหรือส่งไปที่มูลนิธิเมาไม่ขับ เพื่อให้นำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายต่อไป