ภาครัฐไทยในศตวรรษที่ 21 (จบ) | ธราธร รัตนนฤมิตศร
การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบให้เรียบง่ายขึ้น และสอดคล้องต่อแนวโน้มอนาคตอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการยกระดับสู่ รัฐบาลดิจิทัลและอัจฉริยะ (Smart and Digital Government) เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นที่จะขาดไม่ได้ของ ภาครัฐไทย ในศตวรรษที่ 21 ดังที่กล่าวในบทความตอนที่แล้ว
นอกจากนั้น สิ่งสำคัญคือกระบวนทัศน์ทางความคิดที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะการปรับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่าง ภาครัฐกับประชาชน หรือภาครัฐกับธุรกิจ จากความสัมพันธ์ในแนวตั้ง (vertical relationship) ให้เป็นความสัมพันธ์ในแนวราบ (horizontal relationship) โดยการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาต่างๆ ของภาครัฐ
ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐควรร่วมกันเป็นเครือข่าย ทลายการทำงานแบบไซโลลง แล้วร่วมผนึกกำลังกันแก้ปัญหาและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ประชาชน โดยการนำประเด็นวาระที่สำคัญ (agenda) พื้นที่ (area based) และปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง
ภาครัฐไทยหลายยุคหลายสมัยมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ โดยเฉพาะการก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางอยู่เป็นระยะเวลานาน การจะยกระดับประเทศไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วจำเป็นต้องมีพลังการขับเคลื่อนที่สูงกว่าที่เคยมีมา และต้องทำอย่างต่อเนื่องจริงจัง
ผู้เขียนเห็นว่า ในอนาคต ภาครัฐไทยควรแบ่งการทำงานออกเป็น 2 โหมดหลักที่ชัดเจน โดยการทำงานโหมดแรก เป็นโหมดการทำงานตามกฎหมายและบทบาทหน้าที่แบบปกติ (Routine Mode) เช่น การกำกับดูแล การทำงานนโยบายและวิชาการ การให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจที่สำคัญ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นชีวิตประจำวันที่มีลักษณะค่อนข้างชั่วคราว การทำงานในโหมดแรกนี้เป็นการทำงานที่สำคัญเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปอย่างปกติ ซึ่งเป็นโหมดการทำงานปกติของหน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
การทำงานแบบที่สอง คือ โหมดการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ (Strategy Mode) ซึ่งเป็นโหมดการทำงานที่ยังเห็นไม่ชัดในปัจจุบันนัก การทำงานเชิงยุทธศาสตร์เป็นการทำงานที่ให้ความสำคัญกับวาระหลักของประเทศที่จำเป็นต้องผลึกกำลังกันหลายหน่วยงาน มีการจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ที่ต้องดำเนินการและต้องใช้ความมุ่งมั่นเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศสูง
เช่น วาระการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ การปฏิรูปการศึกษาและเสริมสร้างทุนมนุษย์ การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดขนาดและเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐ เป็นต้น วาระเหล่านี้ ไม่ควรแยกให้แต่ละหน่วยงานไปทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเท่านั้น แต่ต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์
เพื่อขับเคลื่อนวาระสำคัญเหล่านี้ การทำงานของระบบราชการแบบทำหน้าที่ปกติมักจะประสบปัญหาต่างๆ เช่น การแยกส่วนกันทำ การมีความเกรงใจระหว่างหน่วยงาน ความต่อเนื่องในการผลักดัน ซึ่งรวมถึงด้านกำลังคนและงบประมาณ และกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อนงานเกินขอบเขตที่กฎหมายของแต่ละหน่วยงานกำหนด
ที่ผ่านมา การขับเคลื่อนการทำงานในโหมดที่สองหรือโหมดยุทธศาสตร์ของภาครัฐนั้น มักจะใช้รูปแบบการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับวาระงานนั้นๆ มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีหน่วยงานหนึ่งหรือสองหน่วยงานเป็นฝ่ายเลขานุการ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคณะกรรมการระดับชาติและระดับต่างๆ ของประเทศมีเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการมากกว่า 100 ชุด
ดังนั้น การจัดประชุมจึงมักเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง หน่วยงานต่างๆ ส่งผู้แทนมาไม่ซ้ำกันหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประจำปีอยู่บ่อยๆ งานหลักมักฝากไว้ที่ฝ่ายเลขาฯ ซึ่งอยู่ภายใต้หน่วยงานรัฐหนึ่งๆ ที่มีทั้งงานประจำและงานคณะกรรมการต่างๆ จึงอาจทำให้วาระงานดังกล่าวไม่ต่อเนื่องและขาดพลังการขับเคลื่อนอย่างเพียงพอ
ภาครัฐในอนาคตจึงควรพิจารณาทบทวนการทำงานใน 2 โหมดดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในงานโหมดเชิงยุทธศาสตร์ ที่ควรมาร่วมกันออกแบบใหม่ จัดตั้งทีมทำงานที่ต่อเนื่องจริงจัง ออกแบบเชิงสถาบันให้เหมาะสม มีภารกิจเฉพาะที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไรให้สำเร็จตามลำดับความสำคัญ มีกำลังคน องค์ความรู้ เครื่องมือและงบประมาณที่เพียงพอในการขับเคลื่อนงานเชิงยุทธศาสตร์
รูปแบบการทำงานอาจเป็นระบบไฮบริดที่ผสมผสานลักษณะของหน่วยงานรัฐและเอกชน แต่ไม่ควรยึดติดรูปแบบระบบราชการ ควรสามารถดึงคนดีคนเก่งคนรุ่นใหม่จากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนมาร่วมทำงานได้อย่างเช่นประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย
จึงควรออกแบบการทำงานที่คล่องตัวหรือแบบสตาร์ทอัพ มีลักษณะการทำงานแบบเป็นเครือข่าย สามารถทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาควิชาการ ต่างประเทศ ชุมชน และประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การทำงานในโหมดยุทธศาสตร์ ทีมงานควรขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถรายงานความก้าวหน้าโดยตรงได้ สามารถขอความช่วยเหลือหรือการปลดล็อคอุปสรรคในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีควรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานในโหมดยุทธศาสตร์เป็นหลัก เนื่องจากเป็นงานที่ยาก ต้องการความมุ่งมั่นทางการเมืองสูง (political will) และเป็นงานที่ต่อเนื่องยาวนานกว่าจะบรรลุผล จึงจำเป็นต้องมีผู้นำแบบกัดไม่ปล่อย
ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยขับเคลื่อนวาระสำคัญๆ สำเร็จมาในอดีต เช่น โครงการ Eastern Seaboard หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเชื่อมโยงระบบคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ การเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและยานยนต์ระดับโลก เป็นต้น ซึ่งสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ให้กับประเทศ
ในอนาคต เราอาจต้องการความมุ่งมั่นและพลังการขับเคลื่อนอย่างสูงอีกครั้งเพื่อปฏิรูปภาครัฐไทยให้พร้อมขับเคลื่อนงานเชิงยุทธศาสตร์ในบริบทศตวรรษที่ 21 ที่แสนท้าทายนี้.
คอลัมน์ : คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
www.facebook.com/thailandfuturefoundation/