ทำงานแบบไฮบริด - สิ่งที่ควรระวัง | พสุ เดชะรินทร์

ทำงานแบบไฮบริด - สิ่งที่ควรระวัง | พสุ เดชะรินทร์

โควิด19 ทำให้รูปแบบและวิธีการทำงานเปลี่ยนไป จากอดีตที่เข้าทำงานที่ออฟฟิศ สู่ Work from home ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสู่การทำงานแบบ Hybrid ในปัจจุบัน

 อย่างไรก็ดีการทำงานแบบไฮบริดยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ที่หลายๆ องค์กรยังอยู่ในช่วงทดลองหรือปรับตัวอยู่ ทำให้การทำงานแบบไฮบริดนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการที่พนักงานเข้าออฟฟิศเป็นบางวันใน 1 สัปดาห์ จนถึงการทำงานและประชุมร่วมกันระหว่างผู้ที่อยู่ในออฟฟิศกับผู้ที่อยู่บ้าน 

สูตรในการทำงานแบบไฮบริดขององค์กรในไทยก็ยังต่างกันอยู่ บางแห่งกำหนดว่าถ้าจะเข้าทำงานก็จะต้องเข้าพร้อมกันทั้งทีมหรือแผนก บางแห่งกำหนดให้เข้าออฟฟิศเฉพาะกรณีที่ต้องมีการประชุมหรือทำงานร่วมกันเป็นทีม งานที่สามารถทำคนเดียวได้ก็ให้ทำที่บ้าน บางแห่งก็กำหนดเป็นวัน 

โดยในหนึ่งสัปดาห์ให้เข้ามาทำงานสามวัน อีกสองวันสามารถทำงานจากที่บ้าน บางแห่งก็ให้พนักงานเข้าทำงานทุกคนทุกวัน แต่เมื่อมีเหตุการณ์หรือความจำเป็นก็สามารถเลือกที่จะทำงานจากที่บ้านได้ เป็นต้น

ข้อดีของการทำงานแบบไฮบริดนั้นคือการนำข้อดีของการทำงานที่ออฟฟิศและการทำงานที่บ้านมาผสมกัน

ในมุมของพนักงานนั้น การทำงานแบบไฮบริด ทำให้ได้มีโอกาสพบเจอ ทำงานร่วมกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงานแบบตัวเป็นๆ ไม่ใช่เจอผ่านหน้าจออย่างเดียว อีกทั้งได้ออกมาเปลี่ยนบรรยากาศนอกบ้าน 

ขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นของการทำงานที่บ้าน มีความสมดุลในชีวิตมากขึ้น มีเวลากับคนในครอบครัวมากขึ้น ประหยัดเวลาการเดินทางและลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการทำงานบางอย่างที่ต้องการสมาธิและไม่สามารถทำได้ที่ออฟฟิศ

ในมุมขององค์กรนั้น รูปแบบการทำงานเป็นแบบไฮบริดก็ยังช่วยรักษาค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่พยายามปลูกฝังไว้ได้ เมื่อพนักงานได้เข้ามาออฟฟิศก็ทำให้การคิดสิ่งใหม่ การตัดสินใจในบางเรื่องราวเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วขึ้น 

ขณะเดียวกันพนักงานก็ไม่สูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานจากการได้ทำงานที่บ้าน แถมยังอาจจะช่วยลดต้นทุนเรื่องของสถานที่ลงได้ เพราะสามารถปรับออฟฟิศให้เป็นรูปแบบใหม่ที่เหมาะสม และลดพื้นที่ ที่สอยลง

โควิดได้ทำให้เกิดความเคยชินใหม่ให้กับพนักงานที่จะมีรูปแบบในการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ในต่างประเทศได้มีการสำรวจกันและพบแล้วว่าสำหรับการสมัครงานใหม่ รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นกลายเป็นหนึ่งปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณา ผู้สมัครงานจะไม่สนใจสมัครงานกับองค์กรที่ไม่มีทางเลือกในการทำงานแบบไฮบริดเลย

อย่างไรก็ดีล่าสุดเริ่มมีการศึกษาออกมาแล้วว่าการทำงานแบบไฮบริดนั้นอาจจะไม่ดีอย่างที่คาดไว้ โดยเฉพาะกับตัวพนักงานเอง การสำรวจของ Tinypulse ที่สอบถามคนทำงานจากทั่วโลก พบว่าการทำงานแบบไฮบริดนำไปสู่ภาวะเหนื่ยล้า จากการทำงานมากกว่าการทำงานที่บ้านหรือที่ออฟฟิศเพียงอย่างเดียวถึงสองเท่า

เนื่องจากการทำงานแบบไฮบริด พนักงานจะมีที่ทำงานสองแห่ง และในหนึ่งสัปดาห์ก็จะเปลี่ยนหรือสลับไปมาระหว่างที่ทำงานทั้งสองแห่ง ต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ เอกสารต่างๆ ให้พร้อมสำหรับที่ทำงานทั้งสองแห่ง ซึ่งต่างจากการทำงานที่ใดที่หนึ่งตลอดเวลา ที่พนักงานจะมีความรู้สึกของการทำเป็นประจำ (Routine) จนเกิดความเคยชิน 

แต่การเปลี่ยนที่ทำงานไปมาทำให้พนักงานต้องหลุดออกจากความเคยชินและนำไปสู่อาการเหนื่อยล้าได้มากกว่า และการมีที่ทำงานสองที่ก็นำไปสู่การเพิ่มภาระให้กับพนักงานมากกว่าเดิม

สิ่งสำคัญของการทำงานแบบไฮบริดคือ พนักงานควรจะได้โอกาสเลือกรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับแต่ละคน ไม่ใช่เป็นคำสั่งจากผู้บริหารว่าจะให้เข้าวันไหนหรืออยู่บ้านวันไหน พนักงานได้มีโอกาสเลือกจะทำให้พนักงานได้ควบคุมตารางและรูปแบบการทำงานของตนเองได้ 

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือการคุยร่วมกันระหว่างเจ้านายกับพนักงานถึงรูปแบบการทำงานแบบไฮบริดที่ดีที่สุดต่อทั้งตัวองค์กรและพนักงาน

การทำงานแบบไฮบริดนั้น เป็นสิ่งที่ใหม่ในโลกการทำงาน การทดลอง การลองผิดลองถูกยังคงมีอยู่ และเชื่อว่าองค์กรยังต้องมีการปรับตัวเรื่องรูปแบบการทำงานแบบไฮบริดต่อไป ไม่แน่ว่าในไม่ช้านอกจากความไฮบริดระหว่างออฟฟิศกับที่ทำงานแล้ว อาจจะเป็นไฮบริดระหว่างโลกจริงกับ Metaverse ก็ได้.
คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]