อาการ "โควิดปลอม"? มีจริง | พสุ เดชะรินทร์
ในสถานการณ์ปัจจุบันมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในจำนวนที่สูง ขนาดเดียวกันอาการของโควิด ก็มีความคล้ายกับการเป็นหวัดมากขึ้น ได้เคยสังเกตไหมว่าก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มีอาการของโควิดปลอมเกิดขึ้น?
โควิดปลอมก็คืออาการที่คิดว่าตนเองติดเชื้อโควิด มีอาการหลายๆ อย่างที่คล้ายกับผู้ที่เป็นโควิด แต่เมื่อตรวจทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่าไม่เป็น จากนั้นอาการต่างๆ ข้างต้นก็หายไปโดยพลัน ดังนั้นไม่น่าแปลกใจว่าทำไม บางคนที่เมื่อได้อ่านหรือรับฟังข่าวเกี่ยวกับโควิด ท่านจะมีอาการระคายคอหรือน้ำมูกไหลขึ้นมาทันที
หรือ ถ้าทราบว่าคนที่รู้จักหรือใกล้ตัวเป็นโควิด ตนเองก็จะรู้สึกว่ามีอาการของโควิดขึ้นมาเช่นเดียวกัน และเริ่มเกิดข้อสันนิษฐานขึ้นมาว่าตนเองติดเชื้อโควิดหรือไม่?
บางท่านอาการดังกล่าวอาจจะหายไปได้เองเพื่อเวลาผ่านไป แต่บางท่านถึงขั้นทำ ATK หรือ PCR เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่ และเมื่อผลออกมาแล้วว่าไม่ติดเชื้ออาการระคายคอหรือน้ำมูกไหลก็จะหายไปทันที
ในยุคที่คนมีความสนใจและมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น ความกังวลหรือความเครียดที่เกี่ยวเนื่องจากสุขภาพจนทำให้คิดไปเองว่าตนเองป่วย ไม่ใช่เรื่องแปลก ในวงการแพทย์เขาก็มีศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า Hypochondia หรือ Health anxiety หรือ ล่าสุดเรียกกันว่า Illness anxiety disorder
ในไทยนั้นคำว่า Hypochondia ก็ได้มีบรรดาผู้รู้แปลไว้ว่า “โรคคิดไปเองว่าป่วย” ซึ่งในสหรัฐอเมริกานั้น OCD Center ใน L.A. ประมาณไว้ว่าร้อยละ 4-6% ของประชากรทั้งหมดเป็นโรคดังกล่าว
ผู้ที่เป็นโรคคิดไปเองว่าป่วยนั้นก็จะชอบคิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคร้ายแรงจากอาการเพียงนิดหน่อย หรือ มีความกังวลและตรวจเช็คร่างกายตนเองตลอดเวลาเพื่อหาว่าตนเองเจ็บป่วยในเรื่องใด จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเมื่อโควิดระบาดมากขึ้น เมื่อมีอาการระคายคอเพียงเล็กน้อย ไอ หรือ น้ำมูก ก็มักจะคิดและเครียดไปทันทีว่าตนเองเป็นโควิด
นอกจากนี้การระบาดของโควิด ยังสร้างปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Self-fulfilling prophecy ขึ้นมาอีกด้วย นั้นคือเมื่อมีความคาดหวังบางอย่างเกิดขึ้น ร่างกายก็จะตอบสนองและนำไปสู่อาการบางอย่างเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังนั้น
ซึ่งในประเด็นของโควิด นั้นเมื่อพบว่าคนใกล้ตัวเป็นโควิด ก็คิดว่าตนเองคงจะต้องติดเชื้อไปด้วย และความคิดดังกล่าวก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าระคายคอ หรือ หายใจลำบาก หรือ เจ็บหน้าอก ขึ้นมา และนำไปสู่ความเครียด ความกังวลว่าตนเองจะเป็นโควิดไปด้วย แม้จะตรวจ ATK แล้วพบว่าไม่เป็นก็ยังไม่เชื่อผลของ ATK และยังมีอาการต่างๆ ข้างต้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้ตรวจ PCR แล้วอาการต่างๆ ถึงหายไปเอง
มีบทความใน BBC ที่รายงานความคาดหวังหรือความคิดดังกล่าว จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในร่ายกายของคน จะทำให้เกิดการหลั่งสารบางอย่างที่นำไปสู่อาการปวดศรีษะ ซึ่งยิ่งทำให้บุคคลผู้นั้นคิดไปเองคิดว่าตนเองป่วยแล้วจริงๆ
ความกังวลและระมัดระวังในเรื่องของสุขภาพเป็นสิ่งที่ดี แต่ความกังวลในระดับที่มากเกินไป จนถึงขั้นเป็น Illness anxiety disorder กลับจะส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและจิตของคน ในบทความของ BBC รายงานผลวิจัยว่าอาการ Illness anxiety disorder ส่งผลต่ออัตราการตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ถ้ามีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพที่มากเกินไปอาจจะเสียชีวิตเร็วกว่าผู้ที่ไม่มีความกังวลที่มากเกินไป
เป็นเรื่องโดยธรรมชาติอยู่แล้วที่คนจะมีความเครียด ความกังวล หรือ ความตื่นกลัวต่อเชื้อโรคในช่วงของการระบาดของโควิด แต่ความกังวลหรือความเครียดที่มากเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะทำให้เกิดอาการ Illness anxiety disorder ในระยะยาวเมื่อโควิดกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว ดังนั้นการเดินสายกลางอย่างมีสติอาจจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด.
คอลัมน์:มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]