มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินกระทบเศรษฐกิจรัสเซียอย่างไร

มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินกระทบเศรษฐกิจรัสเซียอย่างไร

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดสถานการณ์สงครามในประเทศยูเครน ส่งผลให้นานาประเทศทั่วโลก นำโดยสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรในยุโรป ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรประเทศรัสเซียในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสองมาตรการการคว่ำบาตรที่สำคัญ คือ การตัดช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) และ การสกัดกั้นการเข้าถึงเงินทุนสำรองของธนาคารกลาง

โดยเบื้องต้นการดำเนินมาตรการเหล่านี้ถือเป็นมาตรการที่พุ่งเป้าหมายไปยังระบบการเงินการธนาคารในประเทศรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยากลำบากด้านการเงินในการสนับสนุนสงคราม และสร้างแรงกดดันต่อประธานาธิบดีปูตินและกลุ่มธุรกิจในประเทศ

นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น เศรษฐกิจของประเทศรัสเซียได้เปลี่ยนแปลงไป โดยจากเดิมที่ประเทศรัสเซียดำเนินเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นการผลิตวัตถุดิบเพื่อนำมาแปรรูปเป็นสินค้าภายในประเทศ ได้เปลี่ยนหันมาพึ่งพาประเทศในยุโรปเพิ่มมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม ประเทศรัสเซียภายใต้การดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีปูติน ได้เล็งเห็นถึงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ของประเทศที่มีสินทรัพย์ประเภท น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ

 

จึงมุ่งเป้าหมายไปที่การส่งออกพลังงานเป็นหลัก เพื่อแลกเปลี่ยนกับการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศในยุโรป ดังนั้น จะเห็นได้ว่าธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจรัสเซีย เนื่องจากเป็นช่องทางการสร้างรายได้ของต่างประเทศผ่านการขายสินค้าพลังงาน ในขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นช่องทางหลักในการแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ

ระบบ SWIFT ที่เป็นเครื่องมือของชาติตะวันตกใช้ต่อต้านรัสเซียในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญต่อการเงินการธนาคารระหว่างประเทศอย่างมาก เนื่องจากระบบ SWIFT เป็นระบบสื่อสารหลักที่ธนาคารทั่วโลกใช้ติดต่อเพื่อดำเนินธุรกรรมทางการเงินระหว่างธนาคาร ดังนั้น การตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบสื่อสารนี้ จะส่งผลทำให้รัสเซียเผชิญความยากลำบากในการติดต่อธนาคารในประเทศอื่น ๆ เพื่อดำเนินธุรกรรมทางการเงิน เช่น นักธุรกิจรัสเซียที่มีสินทรัพย์ฝากไว้กับธนาคารต่างประเทศ อาจไม่สามารถเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ของตนเองได้ เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงระบบการสื่อสารแบบ SWIFT

ผลกระทบที่ตามมาจะทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจในประเทศรัสเซียไม่สามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศผ่านธนาคารได้ และอาจส่งผลทำให้เกิดเหตุการณ์ Bank Run ภายในประเทศ คือ ประชาชนและภาคธุรกิจต่าง ๆ ถอนเงินออกจากธนาคารอย่างรวดเร็ว  ซึ่งภายหลังจากการออกมาตรการคว่ำบาตร ทำให้ประชาชนในรัสเซียต่อแถวเพื่อกดเงินสดออกจากตู้เอทีเอ็มเป็นจำนวนมาก

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินรูเบิลของรัสเซียเป็นสกุลเงินยูโรและดอลลาร์สหรัฐเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินได้ ซึ่งความต้องการสกุลเงินต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการเงินรูเบิลที่น้อยลง จากการลดการถือครองสินทรัพย์ในประเทศรัสเซียของนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลทำให้สกุลเงินรูเบิลมีมูลค่าลดลงอย่างรุนแรง โดยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สกุลเงินรูเบิลมีการอ่อนค่าเกินกว่า 30% ซึ่งนับเป็นการอ่อนค่าที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 ที่รัสเซียเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรภายหลังการบุกยึดไครเมีย

สิ่งสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ค่าเงินรูเบิลรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจไม่ได้มีการพูดถึงกันมากนั้น คือ มาตรการการคว่ำบาตรธนาคารกลางรัสเซียผ่านการสกัดกั้นการเข้าถึงเงินทุนสำรอง โดยปกติแล้ว ในช่วงที่ค่าเงินในประเทศมีการอ่อนค่า ธนาคารกลางมีหน้าที่ควบคุมเสถียรภาพของค่าเงินในประเทศ โดยสามารถควบคุมมูลค่าของค่าเงินในประเทศผ่านการเข้าซื้อสกุลเงินนั้น โดยอาศัยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) เช่น การอ่อนค่าของสกุลเงินรูเบิลในปี 2557 ธนาคารกลางรัสเซียได้มีการลดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเกือบ 40% เพื่อพยุงมูลค่าสกุลเงินรูเบิล

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น เมื่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งที่ธนาคารกลางรัสเซียมีอยู่ ถูกเก็บไว้ในสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป โดยมีการประเมินเบื้องต้นว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่นอกประเทศรัสเซียมีมูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น มาตรการสกัดกั้นการเข้าถึงเงินทุนสำรองของธนาคารกลางรัสเซียในครั้งนี้ จึงทำให้ธนาคารกลางรัสเซียไม่สามารถนำเงินทุนสำรองที่อยู่ในต่างประเทศมาใช้เพื่อซื้อสกุลเงินรูเบิลได้ จึงส่งผลให้สกุลเงินรูเบิลอ่อนค่าอย่างรุนแรง

ธนาคารกลางรัสเซียจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือทางการเงินประเภทอื่นในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อจูงใจให้ประชาชนและภาคธุรกิจยังคงฝากเงินและถือครองสกุลเงินรูเบิลต่อไป เพื่อแก้ปัญหาการถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารในประเทศรัสเซีย  หรือ การอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของสกุลเงินรูเบิล  โดยธนาคารกลางรัสเซียได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 9.5% เป็น 20% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงวิกฤตไครเมียในปี 2557 และเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544

แนวทางการดำเนินนโยบายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่นานาประเทศได้วางแผนเพื่อกดดันประเทศรัสเซียอย่างรุนแรง โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจรัสเซียได้รับผลกระทบในระยะยาว หลังจากนี้ ต้องติดตามว่ามาตรการนี้จะมีผลกระทบอย่างไรต่อเสถียรภาพทางการเงิน  เศรษฐกิจยุโรปที่เป็นคู่ค้าหลัก  หรือแม้แต่การนำเข้าและส่งออกสินค้าของประเทศรัสเซีย