กยศ. ท่อน้ำเลี้ยงการศึกษาไทย | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล
“หนี้ กยศ. ไม่จำเป็นต้องใช้คืนก็ได้ เดี๋ยวทางโน้นก็ทวงมาเอง...ถึงเวลานั้นค่อยว่ากันอีกที” ความคิดนี้ถือเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ และจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งหากความคิดนี้เกิดขึ้นจริงกับผู้ที่กู้ยืมเงินจาก กยศ.
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา
ข้อมูลจาก กยศ. ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 แสดงให้เห็นว่า กยศ. ให้กู้ยืมเงินไปแล้วกว่า 670,000 ล้านบาท โดยมีผู้มาขอกู้ยืมเงินมากกว่า 6 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะกู้ยืมเงินเพื่อไปศึกษาในระดับปริญญาตรีหรืออนุปริญญาตรีประมาณร้อยละ 56 รองลงมาคือร้อยละ 18 ที่กู้ยืมเงินเพื่อไปศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.)
นอกจากนี้ในปีการศึกษา 2564 ยังมีผู้ขอกู้ยืมเพื่อศึกษาในระดับปริญญาโท 16 คน ซึ่งข้อมูลการชำระหนี้คืนชี้ให้เห็นว่า มีผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ประมาณ 2.2 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 45 ของจำนวนผู้ที่ยังเป็นหนี้กับ กยศ.
กยศ. ได้เปิดเผยถึงการบริหารจัดการบัญชีของผู้กู้ยืม กล่าวคือ ผู้กู้ยืมทุกรายจะได้รับการปลอดการชำระหนี้ 2 ปีหลังจากจบการศึกษา จากนั้นผู้กู้ยืมจะมีภาระหนี้ที่ต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 หากผู้กู้ยืมรายใดยังคงค้างชำระก็จะมีการดำเนินคดีโดยทำสัญญาประนีประนอมผ่อนในระยะเวลา 9-15 ปี ซึ่งถ้าผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้ได้เสร็จสิ้นก็จะนำไปสู่การปิดบัญชีหรือตัดหนี้สูญ
แต่หากผู้กู้ยืมยังไม่สามารถชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นได้ ก็จะนำไปสู่การบังคับคดี ซึ่งขั้นตอนต่อจากนั้นคือ การยึดทรัพย์ แต่ในปัจจุบันทรัพย์ที่ยึดมานั้นจะงดการขายทอดตลาด และยังคงให้ผ่อนต่ออีก 1- 6 ปี ซึ่งถ้าผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นได้ก็จะนำไปสู่การปิดบัญชีหรือตัดหนี้สูญนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้กู้ยืมมีภาระหนี้ที่ต้องชำระคืนให้กับ กยศ. โดยมียอดเงินกู้ 100,000 บาท หากผู้กู้ยืมสามารถชำระภาระหนี้ได้ภายใน 15 ปีตามกำหนด ผู้กู้ยืมจะต้องชำระเงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น 109,275 บาท (เงินจำนวน 100,000 บาท คือ เงินต้นที่กู้ยืมมา ส่วนจำนวนเงิน 9,275 คืออัตราดอกเบี้ย)
ด้วยจำนวนยอดผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ประกอบกับวิกฤตด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ กยศ. ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้น อาทิเช่น ลดเบี้ยปรับร้อยละ 100 ในกรณีที่ผู้กู้ยืมสามารถปิดบัญชีได้ในคราวเดียว ลดเบี้ยปรับร้อยละ 80
ในกรณีที่ผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้ทันงวดลดอัตราเบี้ยปรับจากร้อยละ 7.5 เหลือร้อยละ 0.5 ต่อปีจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้กู้ยืมที่ไม่เคยผิดนัดชำระเหลือร้อยละ 0.01 จนถึงเดือนมิถุนายน 2565 ชะลอการฟ้อง การบังคับคดี ยกเว้นแต่กรณีที่คดีจะขาดอายุความ เป็นต้น
ในส่วนของผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ซึ่งส่วนใหญ่จะด้วยเหตุผลเพราะมีรายได้ต่อเดือนไม่เพียงพอในการชำระหนี้ โดยเฉพาะการได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (Coronavirus Disease 2019 Pandemic; COVID – 2019) ได้มีข้อเสนอมายัง กยศ. หลายประการ
เช่น ขอลดเบี้ยปรับร้อยละ 100 ในทุกกรณี ไม่เฉพาะเพียงกรณีของการชำระปิดบัญชีเพียงอย่างเดียว การอายัดบัญชีและยึดทรัพย์ทำได้แต่ต้องไม่นำส่งหรือบังคับขาย ซึ่งในส่วนนี้ กยศ. เองก็ไม่เสียสิทธิ์ในขณะที่ลูกหนี้ก็ไม่เสียทรัพย์ เป็นต้น
กล่าวได้ว่า กยศ. เป็นกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน กล่าวคือ เมื่อมีเงินไหลออกสำหรับการให้กู้ยืม ก็ต้องมีเงินไหลเข้าจากการชำระคืนหนี้พร้อมดอกเบี้ย เพื่อให้กองทุนนี้เติบโตและสามารถให้กู้ยืมได้ต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้กู้ยืมที่จะต้องชำระคืนหนี้อย่างมิอาจปฏิเสธ
อย่างไรก็ตาม ความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างมากในทุกประเทศ ส่งผลให้ปัญหาการเป็นหนี้กับ กยศ. เป็นประเด็นปัญหาที่หลายฝ่ายในสังคมให้ความสนใจ และพยายามเสนอข้อคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาดังกล่าว
เช่น การยกหนี้ กยศ. ให้ทั้งหมดสำหรับผู้กู้ยืมที่สำเร็จการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ยสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด การยกหนี้ กยศ. ให้ทั้งหมดสำหรับผู้กู้ยืมทุกรายด้วยเหตุผลของความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นต้น
ในข้อเสนอที่หนึ่งที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น หากจะกระทำจริงก็ต้องพึงระลึกเสมอว่า ในความเป็นจริงแล้ว สถานศึกษาแต่ละแห่งมีมาตรฐานทางการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน และมีความเป็นไปได้ว่าสถานศึกษาบางแห่งอาจใช้หลักเกณฑ์นี้ในการประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดให้ผู้ที่กู้ยืมจาก กยศ. เลือกที่จะมาศึกษาในสถานศึกษาของตนด้วยการไม่เข้มงวดต่อการให้เกรดเฉลี่ยกับผู้เรียนมากนัก
เช่นเดียวกับข้อเสนอที่สอง ที่ยกมาเป็นตัวอย่าง หากจะกระทำจริงก็ต้องพึงระวังว่า จะเกิดปัญหาที่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “อันตรายบนศีลธรรม (Moral Hazard)” ตามมา กล่าวคือ หากต่อไปในอนาคต มีบุคคลใดที่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนในลักษณะนี้ของรัฐ ก็มีความเป็นไปได้ที่บุคคลนั้น จะไม่กระตือรือร้นที่จะชำระหนี้คืน เพียงเพราะรอเวลาให้รัฐประกาศยกหนี้
ถือได้ว่า เป็นการสร้างวินัยทางการเงินในทางที่ผิดให้กับประชาชน และมีความเป็นไปได้ว่า การกู้ยืมจาก กยศ. โดยไม่มีภาระการชดใช้คืนหนี้สิน อาจมีผลต่อความตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียนของผู้กู้ยืม เหตุเพราะไม่มีความจำเป็นจะต้องเร่งรีบหางานที่ดีทำเพื่อให้ได้รายได้เพียงพอสำหรับการชดใช้หนี้หลังสำเร็จการศึกษา
ต่างจากผู้ที่กู้ยืมและมีภาระหนี้ที่ต้องชดใช้คืน จะมีความตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียนเพื่อจะได้มีงานที่ดี ได้รายได้สูงหลังสำเร็จการศึกษา และมีความสามารถในการชดใช้คืนหนี้ ยิ่งกว่านั้นหากมีการยกหนี้ กยศ. ให้ทั้งหมดจริง ย่อมไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อผู้กู้ยืมที่ได้ชำระคืนหนี้เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ก่อนหน้าแล้ว
ดังนั้น เพื่อให้ กยศ. ยังคงอยู่ และมีความสามารถในการปล่อยกู้เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับชนรุ่นหลังได้ในอนาคตอย่างต่อเนื่อง จำต้องแก้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ต่อ กยศ. ให้จงได้
การแก้ปัญหาดังกล่าวนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่สำคัญการแก้ปัญหาใดที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ คือ การแก้ปัญหานั้นให้จบสิ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่นำไปสู่ปัญหาใหม่ตามมา.