เดิมพันชินวัตร ปั้น "อุ๊งอิ๊ง" ฝ่าดงส้ม "ธนาธร" ต้านพลังดูดบุรีรัมย์
คอลัมน์ "มังกรซ่อนพยัคฆ์" โดย ประชา บูรพาวิถี / เดิมพัน "ชินวัตร" ปั้น "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ฝ่าดงส้ม "ธนาธร" ต้านพลังดูดบุรีรัมย์
โครงการพ่อปั้นมากับมือ "อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร" ประกาศเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ตามจังหวะเกมของ "ทักษิณ" ที่ส่งสินค้า Gen ใหม่แบรนด์ชินวัตร ทดสอบตลาดการเมือง
เดิมพันสุดท้ายตระกูลชินวัตร ไม่ส่ง "อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร" สู่สนามรบ ก็ยากที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล เมื่อเจอคู่แข่งทั้งพรรคคนรุ่นใหม่ กระแสดี พรรคเจ้าบุญทุ่ม กระสุนเพียบ
เป็นไปตามความคาดหมาย พรรคเพื่อไทยจัดกิจกรรม "ครอบครัวเพื่อไทย บ้านหลังใหม่ หัวใจเดิม" ที่ จ.อุดรธานี ได้เปิดตัว อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
บรรยากาศการเปิดตัว หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ไม่ต่างจากอีเวนท์เปิดตัวสินค้าใหม่แต่แบรนด์เดิม และเป็นก้าวแรกของอุ๊งอิ๊ง ก่อนขยับเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มตัว ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ทักษิณ ชินวัตร สุดยอดนักการตลาดการเมือง เคยใช้เวลา 40 กว่าวัน ปั้นน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ซึ่งบริบทการเมืองในวันนั้น เพื่อไทยมีคู่แข่งสำคัญคือ ประชาธิปัตย์ และทักษิณมีกองทัพเสื้อแดง เป็นกองหนุนที่ยิ่งใหญ่
ต่างจากวันนี้ ประชาธิปัตย์ไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัวของเพื่อไทยอีกต่อไปแล้ว เพราะมีพรรคก้าวไกล เป็นคู่ต่อสู้กับเพื่อไทย ที่จะเข้ามาชิงตลาดฝ่ายประชาธิปไตย
ปัจจุบัน คนเสื้อแดงสลายตัวไปตามธรรมชาติ ขณะที่เยาวชนคนรุ่นใหม่หรือม็อบสามนิ้ว เติบโตอย่างรวดเร็ว หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ พลังคนสีส้มมีอยู่ทั้งในเมืองใหญ่ และชนบท
การเลือกตั้งสมัยหน้า พรรคก้าวไกลคงไม่ชนะพรรคเพื่อไทย แต่พลังคนสีส้มจะทำให้ความฝันของทักษิณคือ "เพื่อไทยแลนด์สไลด์" เกิดขึ้นได้ยาก
ดังนั้น เพื่อไทยจึงเลือก จ.อุดรธานี ที่เคยถูกเรียกขานว่า "เมืองหลวงคนเสื้อแดง" เป็นเวทีเปิดตัวลูกสาวบ้านจันทร์ส่องหล้า เป็นว่าที่นายกฯหญิงคนที่ 2 เพราะสมรภูมิเลือกตั้งอีสาน มี ส.ส.มากที่สุด
ว่ากันว่า เลือกตั้งสมัยหน้า ภาคอีสาน 20 จังหวัด จะมี ส.ส.เพิ่มเป็น 133 คน จากเดิมมีแค่ 116 คน ฉะนั้น หากพรรคใดยึดครองอีสานได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็เท่ากับได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
'แดงไม่ขลัง'
ผลการเลือกตั้ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค.2554 พรรคเพื่อไทย ได้รับการสนับสนุน 15,752,470 เสียง แยกเป็น ส.ส.เขต 204 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 61 ที่นั่ง รวม 265 ที่นั่ง ส่งผลให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
10 กว่าปีที่แล้ว ทักษิณ เดินยุทธศาสตร์ 2 ขาคือ พรรคเพื่อไทย และ นปช. จึงทำให้กระบวนการปั้นนารีขี่ม้าขาวเกิดขึ้นได้ในเวลาอันสั้น โดยเฉพาะภาคอีสาน และภาคเหนือ คนเสื้อแดงมีบทบาทสำคัญยิ่ง
ย้อนไปดูผลการเลือกตั้ง 22 มี.ค.2562 โฟกัสในพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนัยยะ เมื่อสแกนแต่ละโซน ก็สะท้อนถึงสถานการณ์การเลือกตั้งในอนาคต
โซนอีสานเหนือ อุดรธานี ,หนองคาย, บึงกาฬ, หนองบัวลำภู, เลย, สกลนคร, นครพนม และมุกดาหาร เพื่อไทย ได้ ส.ส. 24 ที่นั่ง โดยมี ส.ส.ภูมิใจไทย แทรกเข้ามาได้คนเดียว
โซนอีสานกลาง ขอนแก่น, ชัยภูมิ, กาฬสินธ์, ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม มี ศักดา คงเพชร เพื่อได้ ส.ส. 28 ที่นั่ง ถูกพรรคพลังประชารัฐ ,พรรคอนาคตใหม่ และพรรคชาติไทยพัฒนา เจาะไปได้ 5 ที่นั่ง
โซนอีสานใต้ตอนบน ยโสธร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เพื่อไทย มี ส.ส. 18 ที่นั่ง ถูกพรรคภูมิใจไทย ,พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ แทรกเข้ามาได้ 5 ที่นั่ง
โซนอีสานใต้ตอนล่าง นครราชสีมา,ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, และสุรินทร์ เพื่อไทยได้ ส.ส.แค่ 10 ที่นั่ง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ,พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติพัฒนา แย่งยึดไปได้ 20 ที่นั่ง
จากปี 2554 เพื่อไทย กวาด ส.ส.ภาคอีสาน 104 ที่นั่ง แต่ปี 2562 ลดลงเหลือ 83 ที่นั่ง แต่ภาพรวมเพื่อไทยก็ยังเป็นแชมป์อีสาน
จากผลเลือกตั้งสมัยที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่า เพื่อไทยมีจุดอ่อนในอีสานใต้ตอนล่าง และคู่แข่งที่สำคัญคือ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งสมัยหน้า ภูมิใจไทยได้วางยุทธศาสตร์ยึดอีสานใต้ ด้วยการดึงตัว ส.ส.เพื่อไทย ,พลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ มาร่วมงานด้วย
สถานการณ์ภาคอีสานวันนี้ มีเพียงพรรคภูมิใจไทยเท่านั้น ที่จะต้านยัน "อุ๊งอิ๊งแลนด์สไลด์" ได้ เพราะพลังประชารัฐอ่อนแรงลงไปเยอะ หลังเกิดความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส
'ส้มธนาธร'
ผลการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส.เขต 1 คนคือ ฐิตินันท์ แสงนาค ขอนแก่น เขต1 (ต.ในเมือง, ต.เมืองเก่า และ ต.บ้านเป็ด) แต่ฐิตินันท์ ได้ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยแล้ว
ภูมิทัศน์การเมืองในภาคอีสานเปลี่ยน หลังจากพรรคอนาคตใหม่(พรรคก้าวไกล) ลงสนามเลือกตั้ง ผู้สมัครส.ส.โนเนม ก็ได้คะแนนเสียงเฉลี่ยเขตละ 1-2 หมื่นคะแนน
ส.ส.อีสาน พรรคเพื่อไทย กินบุญเก่า "ทักษิณ" มานานกว่า 20 ปี (2544-2565) เมื่อประชาชนได้เห็นข้อเปรียบเทียบระหว่างสินค้ายี่ห้อเดิมกับยี่ห้อใหม่ คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่
ที่สำคัญ ส.ส.เพื่อไทยเป็นผู้แทนแบบเก่า มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมเป็นส่วนใหญ่ ต่างจากผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกลที่เป็นตัวแทนความคิดก้าวหน้า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จึงกล้าประกาศว่า สมัยหน้าพรรคต้องการผู้แทนราษฎรที่กล้าชนนายทุน ขุนศึกศักดินา
อย่างไรก็ตาม พิธา รู้ดีว่า จุดอ่อนของพรรคก้าวไกลในภาคอีสานคือ การสร้างฐานมวลชนระดับรากหญ้า โดยเฉพาะเขตเลือกตั้งรอบนอก ก้าวไกลจึงอุดช่องโหว่ ด้วยการคัดสรรตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่เกาะติดพื้นที่
โจทย์ที่พรรคก้าวไกลต้องแก้คือ "พรรคไม่รู้จักคนอีสาน" หมายถึงการสร้างฐานมวลชนระดับรากหญ้า โดยเฉพาะเขตเลือกตั้งรอบนอก
สำหรับโจทย์ข้อนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะก้าวหน้า ได้ใช้เวทีเลือกตั้งท้องถิ่น สร้างที่มั่นระดับเทศบาล และ อบต.ไว้ได้ระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งฐานเสียงของพรรคก้าวไกล กับคณะก้าวหน้า คือฐานเสียงเดียวกัน
ดังนั้น คนรากหญ้าจึงรู้จักพรรคสีส้มมากขึ้น ทั้งพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า เฉพาะภาคอีสาน เมื่อคณะก้าวหน้าได้บริหารเทศบาลตำบล 8 แห่ง และ อบต. 22 แห่ง
มองในภาพรวม พรรคก้าวไกล จึงเป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทย ในสนามกรุงเทพฯ ,หัวเมืองใหญ่ในภาคกลาง, ภาคอีสาน และภาคเหนือ ยกเว้นภาคใต้ ที่เพื่อไทยและก้าวไกลต่างก็มีจุดอ่อน ไม่เป็นที่ยอมรับของคนใต้
ทักษิณรู้ดีว่า เลือกตั้งครั้งหน้า ยากที่จะเกิดเพื่อไทยแลนด์สไลด์ จึงต้องเล่นเกมเสี่ยงส่งลูกสาวคนเล็กลุยสมรภูมิเลือกตั้ง เนื่องจากอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร มีภาพเป็นตัวแทนคน GenY GenZ ที่จะประกบกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้
สงครามชิงฐานเสียงในฝ่ายประชาธิปไตย ก็เหมือนสงครามตัวแทน มุมสีแดงคือ อุ๊งอิ๊ง ที่มีเงาทักษิณ ทาบทับอยู่ และมุมสีส้ม พิธา ที่เห็นธนาธร ยืนอยู่หลังม่าน