พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดรองรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้ว | สกล หาญสุทธิวารินทร์
พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด ฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2544 โดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่2) พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
การแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนั้น เพื่อให้บริษัทมหาชนจำกัด ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ให้มีช่องทางปรับตัวสามารถดำรงอยู่และประกอบธุรกิจต่อไปได้ บทบัญญัติที่มีการแก้ไขปรับปรุงที่เป็นหลักสำคัญ คือให้บริษัทมหาชนจำกัดสามารถซื้อหุ้นคืน เพื่อปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น หรือปรับโครงสร้างทางการเงินได้ และให้สามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้
นับตั้งแต่ตราพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดออกมาใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อปี พ.ศ.2544 ก็เป็นเวลานานมากแล้ว บทบัญญัติ ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535ไม่รองรับการพัฒนาของเทคโนโลยี การสื่อสารทาง สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีการพัฒนารวดเร็วมาก
กล่าวคือกรณีที่ต้องมีการบอกกล่าว การแจ้งความ หรือโฆษณาข้อความใดฯเกี่ยวกับบริษัทให้บุคคลอื่นหรือประชาชนทราบ หรือการส่งคำสั่งคำเตือนหนังสือหรือเอกสารใด แก่บุคคลอื่น หรือการเรียกประชุมกรรมการ การเรียกประชุมผู้ถือหุ้น ยังเป็นไปตามวิธีการที่ถือปฏิบัติกันมาแต่เดิมคือ
การส่งทางไปรษณีย์ หรือประกาศทางหนังสือพิมพ์ ยังไม่เปิดช่องให้ส่งหรือประกาศทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกรวดเร็ว ส่วนการประชุม คณะกรรมการ หรือผู้ถือหุ้น ผู้จะร่วมประชุม ต้องเข้าประชุมในสถานที่ประชุมตามที่กำหนด เท่านั้น เพราะบทบัญญัติของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด ยังไม่เปิดช่องให้ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ต่อมาเมื่อมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่74/2557 เรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่27มิถุนายน พ.ศ.2557 ออกใช้บังคับ และต่อมาได้ตราเป็นพระราชกำหนด ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ออกใช้บังคับแทนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับดังกล่าว
บริษัทมหาชนจำกัด ก็ได้อาศัยบทบัญญัติของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพระราชกำหนดดังกล่าว จัดประชุมคณะกรรมการ และผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่ตัวพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดยังไม่มีบทบัญญัติรองรับไว้
บัดนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลบังคับในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สาระที่มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม คือ
เนื่องจาก บทบัญญัติ ของมาตรา6 เดิม วรรคหนึ่งเป็นกรณีที่ต้องมีการบอกกล่าว เตือน แจ้งความ หรือโฆษราข้อความใดฯ เกี่ยวกับบริษัทให้บุคคลอื่นหรือประชาชนทราบ ( เช่นการนัดประชุมผู้ถือหุ้น) ต้องโฆษณาข้อความนั้นในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยที่จัดพิมพ์จำหน่ายในท้องที่ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ มีกำหนดเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน
ส่วนวรรคสองของมาตรา6 เป็นกรณีไม่มีหนังสือพิมพ์ ในท้องที่ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์ที่จัดพิมพ์จำหน่ายในกรุงเทพมหานครแทน
-ได้แก้ไขเพิ่มเติมวรรคสามของมาตรา6 ให้สามารถใช้วิธีการโฆษณาข้อความเกี่ยวกับบริษัทดังกล่าว เช่นการนัดประชุมผู้ถือหุ้น ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แทนโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ก็ได้ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนด
ตามมาตรา 7 เดิมการส่งหนังสือหรือเอกสารให้กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของบริษัท ต้องส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
- ได้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา7/1 ให้สามารถส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ถ้าบุคคลดังกล่าวแจ้งความประสงค์หรือยินยอมให้ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่นายทะเบียนจะต้องรีบดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ออกใช้บังคับต่อไป
-_แก้ไขปรับปรุงมาตรา 79 ซึ่งเป็นเรื่องการประชุมคณะกรรมการให้สามารถจัดประชุมคณะกรรมการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่อ อิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้ หากข้อบังคับของบริษัทไม่มีข้อห้ามไว้
- แก้ไขปรับปรุงมาตรา81 อันเป็นบทบัญญัติในการเรียกประชุมคณะกรรมการ เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของบริษัท กรรมการตั้งแต่สองคนขึ้นไป จะร่วมกันร้องขอให้ประธานกรรมการ เรียกประชุมคณะกรรมการได้โดต้องระบุเรื่องและเหตุผลที่จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาด้วย
ในกรณีเช่นนี้ ประธานกรรมการต้องเรียกประชุมคณะกรรมการภายในสิบสี่วันนับแต่วันได้รับรับการร้องขอ พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวประธานกรรมการไม่เรียกประชุม กรรมการที่ร้องขออาจอาจร่วมกันเรียกและกำหนดวันประขุมคณะกรรมการได้ภายในสิบสี่วัน นับแต่วันครบกำหนดที่ประธานต้องเรียกประชุมดังกล่าว
- เพิ่มมาตรา 81/1 ในกรณีไม่มีประธานกรรมการไม่ว่าด้วยเหตุใดฯ ให้รองประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการ ในกรณีไม่มีรองประธานกรรมการไม่ว่าด้วยเหตุใดฯ กรรมการตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจร่วมกันเรียกประชุมคณะกรรมการได้
- แก้ไขปรับปรุงมาตรา 82 การเรียกประชุมคณะกรรมการ แต่เดิมกำหนดให้ต้องส่งหนังสือนัดประชุมไปยังกรรมการไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันประชุม แก้ไขปรับปรุงใหม่ให้ส่งหนังสือนัดประชุมไปยังกรรมการไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันประชุม แต่หากจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของบริษัทจะแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่นใด และกำหนดวันประชุมเร็วกว่านั้นก็ได้
- เพิ่มเติมข้อความเป็นวรรคสามของมาตรา98 กรณีไม่มีข้อบังคับกำหนดห้ามไว้เป็นการเฉพาะ การประชุมผู้ถือหุ้นอาจดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
- เพิ่มเติมวรรคสามของมาตรา 101 ในกรณี ที่ได้จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ถือว่าที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเป็นสถานที่ประชุม
(มาตรานี้มีจุดมุ่งหมายให้เกิดความชัดเจนในกรณีอาจมีข้อพิพาทที่เกิดจากการประชุมผู้ถือหุ้น ว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท)
- เพิ่มเติมมาตรา101/1 ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเป็นผู้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นเองตามมาตรา101 ให้สามารถจัดส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ หากผู้ถือหุ้นนั้นได้แจ้งความประสงค์หรือให้ความยินยอมไว้แก่บริษัทหรือคระกรรมการตามมาตร7/1แล้ว
- เพิ่มเติมวรรคสามของมาตรา102 เป็นกรณีการมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นและออกเสียงลงคะแนนแทน จะดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แทนได้ โดยต้องใช้วิธีการที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ว่าการมอบฉันทะนั้นได้ดำเนินการโดยผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนด.