วิธีแก้ไขปัญหา “อย่าโอน” เรื่องฉ้อโกงออนไลน์ ในแบบฉบับ “จีน”
ปัญหาฉ้อโกงทางการเงิน หลอกให้โอนผ่านทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ กำลังเป็นภัยรายวันที่ไม่ใช่แค่ในไทยที่เจอ แต่ที่ “จีน” ก็เจอปัญหานี้เช่นกัน ทางการจีนจะแก้ปัญหาเรื่อง “อย่าโอน” นี้อย่างไร ต้องติดตาม
ปัญหาเรื่องการฉ้อโกงหลอกให้ประชาชน โอนเงิน ทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ ถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งทั่วโลกก็เจอปัญหานี้ โดยเฉพาะเมื่อโลกออนไลน์เติบโตขึ้น ในประเทศจีนเองก็ประสบปัญหานี้มากมายเช่นกัน
หากดูจากสถิติคดีที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง-หลอกลวงทางการเงินที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ข้อมูลทางการจากกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน (Ministry of Public Security) พบว่า คดีดังกล่าวเพิ่มขึ้นในแต่ละปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 ที่ ณ ตอนนั้น ตัวเลขต่ำกว่า 200,000 คดี ซึ่งตั้งแต่ปี 1995 ถึงก่อนปี 2010 ตัวเลขจำนวนคดีเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เปลี่ยนแปลงไม่มาก ยังคงไม่ถึง 400,000 คดี ซึ่งเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในปี 2009 ที่เข้าใกล้ 400,000 มากที่สุด โดยเป็นช่วงเวลาเดียวกับ E-commerce จีนเติบโตอย่างมากเช่นกัน โดยทาง Alibaba จัดแคมเปญช้อปแหลกวันคนโสด หรือ เทศกาล 11 เดือน 11 เป็นครั้งแรก และนับจากนั้นเป็นต้นมา ตัวเลขคดีโกงทางการเงินในจีน ก็สูงขึ้นจนแตะระดับ 1,000,000 คดี ในปี 2015 ด้วยเหตุนี้จึงสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า การเพิ่มจำนวนการหลอกลวงทางการเงิน สอดคล้องกับการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกรรมทางออนไลน์ ซื้อของ E-commerce ต่างๆ
ปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 และเป็นช่วงปีที่จีนให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะก็ยังมีผลกระทบจากสงครามการค้าจีนอเมริกา หลายบริษัทจีนโดนอเมริกาแบน จีนจึงหันไปกระตุ้นในประเทศของตน อย่างเช่น การพัฒนา E-commerce ซึ่งก็มีข้อสังเกตอีกหนึ่งจุดในประเด็นจำนวนคดีฉ้อโกง โดยจะเห็นได้ว่า “ความแตกต่างระหว่างปี 2019 และปีก่อนหน้า มีการเพิ่มจำนวนคดีฉ้อโกง มากที่สุด จนพุ่งไปถึง 1.4 ล้านคดี”
ตามการวิเคราะห์ของ อ้ายจง จึงมีความเห็นว่า “จำนวนคดีการหลอกลวงในจีน อาจเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาของเทคโนโลยีออนไลน์จริงๆ” และในปี 2019 นี้เอง ทางการจีนก็ไม่นิ่งเฉยอีกต่อไป ตามแนวทางที่ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ประกาศสงครามกับการฉ้อโกง โดยยกให้เป็นความสำคัญระดับสูงสุด
สิ่งที่ “จีน” ทำเพื่อให้ประชาชน “อย่าโอน” คือ
1. จัดทำโครงการให้ความรู้เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้ถูกหลอก ให้รู้เท่าทัน
โดยสื่อสารด้วยสื่อต่างๆ ทั้งสื่อดั้งเดิม (ออฟไลน์) เช่น ป้ายโฆษณา ป้ายบิลบอร์ด โปสเตอร์ ลงพื้นที่ในชุมชนย่านที่พักอาศัย เพื่อฝึกอบรมและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน สื่อทีวี สื่อวิทยุ และสื่อออนไลน์อย่างสื่อโซเชียลมีเดีย โดยจะมุ่งเน้นการนำเสนอการลงโทษผู้กระทำผิด เพื่อให้เห็นว่าทางการเอาจริงนะ ควบคู่ไปกับการปลูกฝังวิธีการป้องกันการโดนหลอก โดยเฉพาะการโอนเงินออนไลน์ และหลอกผ่านทางโทรศัพท์
2. การจัดทำแอปพลิเคชันมือถือ
กลุ่มเป้าหมายที่โดนหลอกลวงมากก็คือ ผู้ใช้งานออนไลน์ โดยถ้าเราดูจากข้อมูลล่าสุดของศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน (China Internet Network Information Center - CNNIC) ระบุให้เห็นเลยว่า ภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ (2022) จะมีชาวเน็ตจีนราว 17.2% ถูกหลอกลวงผ่านทางออนไลน์
แอปพลิเคชันนี้ มีชื่อว่า 国家反诈中心 ( National Anti-fraud Center) เป็นแอปพลิเคชันในลักษณะของการให้ข้อมูลการหลอกลวง การตรวจเช็กว่าใครมีพฤติกรรมจะฉ้อโกงบ้าง และยังสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ผ่านทางแอปฯ ได้ทันที ทางจีนเคลมว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในโครงการนี้ มียอดดาวน์โหลดทะลุ 500 ล้านครั้ง
ทำไมมียอดดาวน์โหลดมากขนาดนั้น? ต้องบอกว่าทางการจีนใช้วิธีเชิงรุกและแบบดาวกระจาย ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดาวน์โหลด ตัวอ้ายจงเองมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนคนจีน ทำให้ทราบว่า ตามย่านที่พักอาศัย รวมทั้งเวลาไปสถานีตำรวจ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ถามประชาชนเลยว่า ติดตั้งแอปพลิเคชันนี้แล้วหรือยัง?
แต่ทุกอย่างย่อมมีสองด้าน แอปพลิเคชัน National Anti-fraud Center อาจเป็นแอปฯ ที่จีนภูมิใจมาก แต่ในโลกตะวันตกและมุมมองของสื่ออเมริกันกลับเห็นตรงกันข้าม เขามองว่า แอปพลิเคชันนี้มีการติดตามการใช้งานมือถือและเซ็นเซอร์ตรวจจับเวลาที่เราโทรไปยังต่างประเทศ ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิและละเมิดเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล
3. การออกกฎหมายมาควบคุมการฉ้อโกงผ่านโทรศัพท์และออนไลน์โดยเฉพาะ
ปี 2021 หรือเมื่อปีที่ผ่านมา ทางการจีนได้ออกร่างกฎหมายต่อต้านการโกงผ่านโทรศัพท์และออนไลน์โดยเฉพาะ เป็นกฎหมายฉบับแรกของจีนที่มุ่งเน้นประเด็นนี้ หลังจากในปี 2020 มูลค่าความเสียหายของผู้ที่เป็นเหยื่อต่อการหลอกลวง หรือ Scam พุ่งสูงไปถึงราว 2.7 แสนล้านหยวน โดยตัวบทกฎหมายโดยทั่วไปที่จะระบุในกฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมประเด็นสำคัญ ที่รวมถึงระบบการจัดการขั้นพื้นฐานของซิมการ์ด บัญชีการเงินและอินเทอร์เน็ต และข้อกำหนดการลงโทษสำหรับการขายการเช่า และการให้ยืมบัญชีเหล่านั้นอย่างผิดกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการหลอกลวงในจีน ยังคงมีให้เห็นอยู่เนืองๆ ตัวอย่างเช่นเคสล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาในมหานครเซี่ยงไฮ้ สาวจีนรายหนึ่งถูกชายหนุ่มที่เป็น “รักออนไลน์” เจอกันแต่ในโลกออนไลน์ไม่เคยเจอตัวจริง ซึ่งโดนชายหนุ่มหลอกให้ลงทุนในแพลตฟอร์มลงทุนที่เป็นแพลตฟอร์มหลอกลวง เลยโดนหลอกไป 920,000 หยวน หรือราว 4.6 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน เท่านั้น และถ้าดูข้อมูลที่เพิ่งเผยแพร่ในเดือนมีนาคม 2565 นี้ จาก China Daily สื่อจีนรายใหญ่เผยว่า มหานครฉงชิ่ง เมืองเดียวก็มีมูลค่าความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงไปถึง 350 ล้านหยวน หรือราว 1,750 ล้านบาท โดยเป็นคดีหลอกลวงทางโทรศัพท์และออนไลน์ประมาณ 470 คดี เราจึงต้องติดตามกันต่อไปว่า จีนจะเอาชนะอย่างเด็ดขาดในสงครามฉ้อโกงได้อย่างไร? เป็นสิ่งที่น่าติดตามจริงๆ
ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่