การใช้กลิ่นตัดสินโรค | วรากรณ์ สามโกเศศ

การใช้กลิ่นตัดสินโรค | วรากรณ์ สามโกเศศ

“สิ่งใดที่ไม่เคยเห็น มิได้หมายความว่าไม่มีหาก แต่ว่ายังมิได้ปรากฏเท่านั้น และปรากฏการณ์บางอย่างที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสอันเหมาะที่จะเกิดเท่านั้น” ข้อสังเกตนี้รู้จักกันในนามของ “หงส์ดำ” หรือ Black Swan

วันนี้คอลัมน์ “อาหารสมอง” จะนำเสนออาหารจานหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้น แต่ฟังดูแล้วราวกับเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเป็น “หงส์ดำ” อีกด้วย โลกรู้จักหงส์ขาวมาตั้งแต่สมัยโรมันเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว   ถึงแม้จะมีบทกวีที่กล่าวถึงหงส์ดำแต่ก็เชื่อกันว่าไม่มีอยู่จริงในโลก
    
    กระทั่งในปี ค.ศ. 1697 Willem de Vlamingh ผู้บุกเบิกทวีปออสเตรเลียชาวดัชน์ได้พบหงส์ดำที่ Swan River ในบริเวณที่เป็นรัฐออสเตรเลียตะวันตกในปัจจุบัน การพบหงส์ดำเป็นครั้งแรกโดยชาวยุโรปสร้างความประหลาดใจแก่ชาวโลกเป็นอย่างมาก    นักคณิตศาสตร์ชื่อ Nassim Taleb ได้เขียนหนังสือเมื่อปี 2007 และเรียกปรากฏการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้นได้โดยไม่สามารถพยากรณ์และคำนวณหาได้โดยมีผลกระทบกว้างไกลว่า Black Swan

Black Swan มีทั้งด้านลบและบวก   เช่น   เหตุการณ์ 9-11 / การเกิดขึ้นของ internet  /  Covid-19    ฯลฯ    การใช้กลิ่นวินิจฉัยโรคถือได้ว่าเป็น Black Swan ด้านบวกครั้งใหม่ที่กำลังปรากฏตัวให้เห็นในโลก   การไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนมิได้หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในบางกรณี

      Joy Milne เป็นหญิงชาวอังกฤษชอบพอกับ Les Milne  ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น   สิ่งที่ทำให้เธอรักเขาส่วนหนึ่งก็มาจากกลิ่นเฉพาะตัวของเขา  หลังแต่งงาน Les เรียนจบหมอส่วนเธอจบพยาบาล    ทั้งสองอยู่กันอย่างมีความสุข มีลูก 3 คน

หลังจากแต่งงานได้ 10 ปีตอน Les อายุได้ 31 ปี เธอก็รู้สึกว่ากลิ่นตัวของเขาเริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นกลิ่นคล้ายยีสต์      

ตอนแรกเธอผู้มีความสามารถเป็นพิเศษในการรับกลิ่น (ทางการแพทย์เรียกว่า Hyperosmia) มิได้คิดอะไรมาก   แต่เมื่อนานวันเข้าบุคคลิกของ Les ก็เปลี่ยนไปด้วย เขากลายเป็นคนเจ้าอารมณ์  

เมื่อ Les มีอายุ 40 กว่า ๆ  เธอก็เห็นว่าเขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคน     บางครั้งเขาทุบตีเธอ  ตัวสั่นและตะโกนเสียงดัง   นอนไม่หลับ   เธอคิดว่า Les มีเนื้องอกในสมอง   แต่เมื่อไปตรวจละเอียดก็พบว่าเขาเป็นโรค Parkinson’s Disease ตอนอายุ 45 ปี

ในเวลา 20 ปีต่อจากนั้น  อาการก็เริ่มเลวร้ายลงเป็นลำดับ  เขาเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยลง ตัวสั่นตลอดจนทำงานได้ลำบาก   เธอได้ไปเข้ากลุ่มคนเป็นโรคนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้กำลังใจกัน        

สิ่งสำคัญที่เธอสังเกตได้ทันทีก็คือ กลิ่นที่ออกมาจากร่างกายคนที่เป็นโรคนี้และอบอวลอยู่ในห้อง  มันเป็นกลิ่นเดียวกับกลิ่นของ Les ตอนอายุ 31ปี ตอนเริ่มเป็น Parkinson’s Disease   

เธอจึงสงสัยว่าการเป็นโรคนี้ทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะขึ้นมาหรือไม่    เธอหารือกับ Les ซึ่งเป็นหมอจึงเข้าใจว่าเธอได้ค้นพบสิ่งสำคัญเพราะถ้ารู้จากกลิ่นแต่แรก ๆ ว่าเริ่มเป็น ก็มีหนทางดูแลรักษาได้เร็ว  โอกาสจะเลวร้ายลงก็มีน้อย หรือมีอัตราเลวร้ายช้าลงก็เป็นได้

    เธอไปบอกหมอหลายคนก็ไม่มีใครสนใจว่า โรคจะมีกลิ่นเฉพาะจนกระทั่งมีข่าวว่ามีงานวิจัยที่สุนัขสามารถดมกลิ่นมะเร็งและช่วยวินิจฉัยโรคได้    

แพทย์ที่ University of Edinburgh  ชื่อ Tito Kunath       จึงเชิญเธอมาทดลองโดยมอบเสื้อยืดของคนที่เป็น Parkinson’s Disease กับคนที่ไม่เป็นให้ดม   ปรากฏว่าเธอบอกได้ถูกต้องทั้งหมดผิดเพียงรายเดียว (ต่อมารายนี้ก็เป็น Parkinson’s Diseaseจริง ๆ)   

Kunath และเพื่อนตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสาร ACS Central Science ในเดือนมีนาคม 2019    หลังจากนั้นก็เกิดความสนใจกันทั่วโลก จนมีการทดลองเรื่องกลิ่นกับโรคมะเร็ง เบาหวาน  วัณโรค   Alzheimer’s Disease   ฯลฯ  อยู่ในขณะนี้เนื่องจากการสันนิษฐานโรคโดยใช้กลิ่นมีราคาถูก     สะดวก  และในบางกรณี   เช่น  Parkinson’s Disease สามารถบอกได้แต่เนิ่น ๆ ในขณะที่ยังไม่มีเครื่องมือตรวจวินิจฉัยได้แต่แรกขนาดนั้น 

    กลิ่นที่สังเกตได้เฉพาะโรคมิได้เป็นกลิ่นของตัวเชื้อโรค    หากเป็นกลิ่นที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีของการทำงานของเชื้อโรคกับกลไกของร่างกาย    

Parkinson’s Disease เป็นโรคที่เกี่ยวพันกับการเสื่อมของประสาท ยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาให้หายขาด  มีแต่ชะลอความเสื่อมของประสาท   ปัจจุบันมียาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นลำดับในการรักษาอาการ เช่น จากการสั่นของร่างกาย

    นักวิจัยพบว่าคนที่เป็นโรค Parkinson’s Disease บนผิวหนังที่มีน้ำมันเคลือบอยู่นั้นมีสารเฉพาะบางอย่างที่หลั่งออกมาจากร่างกายของคนป่วยมากกว่าคนปกติ   และสารเหล่านี้รวมกันแล้วมีกลิ่นเฉพาะจนสามารถสังเกตได้ตั้งแต่มีอาการเริ่มแรก

    การใช้กลิ่นช่วยวินิจฉัยโรคโดยแท้จริงมีมานานเป็นร้อยปีแล้ว    ไม่ว่ากลิ่นของแผลติดเชื้อ หรือกลิ่นเฉพาะของโรคจากลมหายใจ(โรคติดสุราเรื้อรังนั้นบอกได้ง่ายมาก)   แต่เมื่อมีเครื่องมือตรวจโรคที่ทำงานได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพกว่าจึงเลิกราไป     ปัจจุบันกำลังกลับมาอีกครั้งด้วยเทคโนโลยีที่สูงกว่า

    ล่าสุดมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร ACS Omega โดย Chen Xing และ Liu Jun ที่ Zhejiang University ในจีน     กล่าวถึงประดิษฐกรรมใหม่สำหรับวินิจฉัย Parkinson’s Disease ก่อนที่จะมีอาการโดยใช้ AI (Artificial Intelligence) ที่เป็นจมูกอิเล็กทรอนิกส์   เครื่องมีขนาดใหญ่กว่าเครื่องปิ้งขนมปังไม่มากนัก     วิธีการคือทำให้ไขมันจากผิวระเหยเป็นไอและจับคลื่นความถี่เพราะโมเลกุลของสารแต่ละตัวมีคลื่นแตกต่างกัน    

AI สามารถเรียนรู้แบบแผนของคลื่นจากสารเหล่านี้และเอาไปเปรียบเทียบกับคลื่นที่ออกมาจากไขมันบนผิวของคนเป็น Parkinson’s Disease  ก็จะตอบได้ว่าเป็นโรคนี้หรือไม่      อย่างไรก็ดีเครื่องมือนี้มีความแม่นยำในระดับ  70%  ซึ่งยังไม่สามารถสู้กับจมูกของ Joy Milne ได้ในขณะนี้

    ขอจบลงด้วยข้อมูลสำหรับผู้อยากรู้ว่าตนเองมีโอกาสเป็นโรคนี้มากน้อยเพียงใด      สถิติของคนอังกฤษคือมีโอกาส 1 ใน 100 สำหรับคนอายุเกิน 60 ปี   สถิติทางตะวันตกคืออาการจะเริ่มปรากฏประมาณอายุเฉลี่ย 60 ปี     เพียง 5-10% ที่เป็นโรคนี้ก่อนอายุ 40 ปี     เชื่อว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม   ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง 1.5 เท่า  ทั้งโลกมีคนเป็นอยู่ประมาณ 10 ล้านคน  

และสุดท้ายสำหรับคนโรแมนติก   Les เสียชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ตอนอายุ 65 ปี    หลังจากมีชีวิตสมรสที่มีความสุขกับ Joy ซึ่งปัจจุบันเป็นคนดังระดับโลกไปแล้ว 

กว่า 40 ปี  เธออยู่ที่เมือง Perth ในสก็อตแลนด์  เมืองที่มีชื่อเดียวกับเมืองหลวงของรัฐออสเตรเลียตะวันตก  รัฐอันเป็นจุดกำเนิดของ ‘หงส์ดำ’