เรื่องเล่า “ชิงหมิงเจี๋ย” เทศกาล “เช็งเม้ง” แดนมังกร
“เช็งเม้ง” หรือ “ชิงหมิงเจี๋ย” เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีนที่รู้จักเป็นอย่างดี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 5 เมษายน 2565 ซึ่งที่จีนนับว่าเป็นเทศกาลสำคัญเช่นกันและถือเป็นวันหยุดราชการ โดยปีนี้หยุดตั้งแต่วันที่ 3-5 เมษายน
ชิงหมิง 清明 มีความหมายว่า สะอาดบริสุทธิ์และแจ่มใส โดยเป็นชื่อของ 1 ใน 24 ปักษ์ หรือ ฤดู ตามปฏิทินจีน โดยชิงหมิง นับเป็นปักษ์ที่ 5 ของปี โดยนับ “วันตรุษจีน” เป็นปักษ์แรกของแต่ละปี ซึ่งถ้าดูตามสภาพอากาศของเทศกาลชิงหมิงแล้ว ก็จะเข้าใจได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นช่วงที่อากาศดีจริงๆ เริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ อากาศแจ่มใส มีฝนตกโปรยปรายบ้างพอให้ชุ่มชื้น แต่บางปีบางพื้นที่ก็ไม่มีตก
คนจีนยุคนี้ยังไหว้บรรพบุรุษในวัน “เช็งเม้ง” อยู่หรือไม่?
คำตอบคือ คนจีนยุคนี้ยังคง “ไหว้” ซึ่งก็จะคล้ายคลึงกับคนไทยเชื้อสายจีนคือ ไปทำความสะอาดสุสานบรรพบุรุษ อาจจะก่อนวัน เช็งเม้ง หรือว่าในวันเช็งเม้งเลย พร้อมกับการไหว้ และเผากระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อส่งสิ่งต่างๆ ตามความเชื่อของพวกเขาว่า บรรพบุรุษจะได้รับ เพราะความเชื่อของคนจีนตั้งแต่สมัยโบราณคือ เป็นหนึ่งในวันที่โลกแห่งความตายกับโลกมนุษย์อยู่ใกล้กันมากที่สุด เช่นเดียวกับวันสารทจีน ผู้คนเลยไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อกันว่าวันนี้บรรพบุรุษของตนสามารถมารับของไหว้ได้
อีกหนึ่งจุดประสงค์สำคัญของเทศกาลนี้คือ การรวมตัวของครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ทำให้ชิงหมิง ยังเป็นดั่งวันแห่งการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษอีกด้วย
ปัจจุบันในจีนรณรงค์ให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สุสานหลายที่จึงห้ามเผากระดาษเงินกระดาษทอง และแทนที่ด้วยการสร้างแอปพลิเคชันเพื่อให้ “ส่งเงินเสมือน” ว่าเราโอนเงินให้บรรพบุรุษ ยกตัวอย่างเช่น สุสานในเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู จัดทำโครงการ “ธนาคารสวรรค์” เพียงใช้โทรศัพท์มือถือสแกน QR Code จากนั้นพิมพ์จำนวนเงินที่เราต้องการส่งให้บรรพบุรุษพร้อมข้อความลงใน mini app บน WeChat ที่ทางสุสานจัดทำไว้
ในขณะที่ “จีน” กลับมาเจอเคสการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ประเทศจีนอีกรอบ ทางการจีนจึงเชิญชวนให้ผู้คนงดออกจากบ้านในวัน เช็งเม้ง ซึ่งครอบครัวคนจีนหลายคน ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ก็มักจะไหว้บรรพบุรุษเพียงหนึ่งครั้งในเทศกาลอื่นแทน ที่ไม่ใช่เช็งเม้ง เช่น ไหว้แค่วันตรุษจีน หรือวันสารทจีน เพียงเทศกาลเดียว จากเดิมที่ไหว้ทุกเทศกาล และก็มีธุรกิจ “รับไหว้บรรพบุรุษแทน” โดยผู้ที่รับจ้างไหว้ จะไปยังสุสานของบรรพบุรุษที่ผู้ว่าจ้างได้ส่งข้อมูลให้ พร้อมกับระบุว่า จะเอาอะไรไหว้บ้าง จากนั้น ก็จะดูการไหว้ผ่านทางวิดีโอคอล หรือคลิปวิดีโอที่คนรับจ้างถ่ายและส่งให้ภายหลัง
อ้ายจง เชื่อว่า ภาพจำของเทศกาล เช็งเม้ง ในบ้านเรา คงมีแต่เรื่องราวของการไหว้และรำลึกถึงบรรพบุรุษดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ในประเทศจีน คนจีนทำอะไรกันอีกบ้างในช่วงเช็งเม้ง?
1. เป็นวันที่คนจีนนิยมออกไปเที่ยว
ในแต่ละปี การท่องเที่ยวช่วงเช็งเม้งจะคึกคักมาก แม้ว่าตั้งแต่ปี 2563 โควิด-19 แพร่ระบาดได้รับผลกระทบ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น อย่างเช่นปี 2564 ที่ผ่านมา ผู้คนก็พากันออกจากบ้าน พากันไปเที่ยวจำนวนไม่น้อย หนึ่งในกิจกรรมที่คนจีนนิยมเที่ยวช่วงเช็งเม้งคือ การดูดอกซากุระ และดอกไม้ชนิดต่างๆ บานสะพรั่ง สมัยที่อ้ายจงใช้ชีวิตที่จีน ก็ไม่เคยพลาดที่จะออกจากบ้านไปชมดอกไม้บานในช่วงเช็งเม้งเลย
2. เล่น “ว่าว”
วัน เช็งเม้ง เป็นช่วงแห่งสภาพอากาศดี ลมเย็นสบาย ฟ้าโปร่ง (ส่วนใหญ่อากาศมักเป็นเช่นนั้น แต่ก็มีไม่น้อยที่อากาศอาจไม่ดีเท่าที่ควร) คนจีนจึงพากันออกมาเล่นว่าวตามสวนสาธารณะและสถานที่ต่างๆ ที่จัดเอาไว้สำหรับการเล่นว่าวเลยก็มี
3. คนจีนนิยมกินขนม “ชิงถวน” ขนมสีเขียวซึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียว ในวันเช็งเม้ง
แม้เราจะไม่ได้กินเอง แต่อย่างน้อยก็มักจะซื้อเพื่อมอบให้คนในครอบครัว รวมถึงนำไปไหว้บรรพบุรุษด้วย เป็นขนมที่มีลักษณะลูกทรงกลม สีเขียวหยก โดยสีเขียวที่ว่านี้ ถ้าในสมัยก่อน เขาจะนำสมุนไพรจีนมาใช้ แต่ยุคสมัยใหม่เริ่มเปลี่ยนมาใช้ผงชาเขียว หรือพืชชนิดอื่นที่ให้สีเขียวมาใช้แทน ส่วนตัวแป้งขนม ทำจากแป้งข้าวเหนียว มีไส้หวานซึ่งทำจากถั่วแดงหรือถั่วดำ อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ มีไส้หลากหลายมากขึ้น เช่น ไส้ไข่เค็ม
ขนมชิงถวน ถือว่าเป็นขนมคู่วัน เช็งเม้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยมมากทางตอนใต้ของจีน แต่ก็แพร่หลายไปทั่วทั้งจีนแล้ว อย่างอ้ายจงเอง อยู่ที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ก็เห็นขนมชิงถวนวางขายในช่วงเช็งเม้งและฤดูใบไม้ผลิ
4. ช่วงเวลาแห่งการเก็บใบชาที่ดีที่สุด
นอกจากการกินขนมชิงถวนแล้ว คนจีนยังนิยมที่จะจิบชาร้อนๆ ควบคู่ไปด้วย รับวันอากาศดีที่สุดแห่งปี โดยชากับคนจีน เป็นสิ่งที่คู่กันมาอย่างยาวนาน การดื่มชารับอากาศบริสุทธิ์ จึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่คนจีนนิยมในเช็งเม้ง
และรู้ไหมว่า ในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนจะถึง “เช็งเม้ง” มีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำงานหนักมาก กลุ่มคนเหล่านั้นคือ คนปลูกชา โดยคนจีนมีความเชื่อสืบต่อกันมาอย่างยาวนานว่า ชาที่เก็บก่อนเทศกาลชิงหมิง ถือเป็นชาชั้นยอด ขายได้ราคาดี อ้ายจงเคยอ่านข่าวในจีน และเพื่อนคนจีนก็เคยเล่าให้ฟังว่า ราคาชาชั้นยอดที่เก็บเกี่ยวก่อนชิงหมิง มีราคาสูงถึง 2,400 หยวน (ประมาณ 12,000 บาทต่อกิโลกรัม) เลยทีเดียว
ทั้งหมดที่เล่ามาคือ เรื่องราววัน เช็งเม้ง แดนมังกร ที่หลายคนอาจยังไม่เคยทราบมาก่อน
ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่