7 แสนเสียงวัยรุ่น กำหนดชะตาผู้ว่าฯ กทม.?
ในที่สุดการรอคอยอย่างยาวนานถึง 9 ปีของคนกรุงเทพฯ ก็ได้สิ้นสุดลง เมื่อมีการประกาศเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.นี้
เพื่อเข้าถึงหัวใจคนกรุงเทพฯ ผู้สมัครแต่ละคนจึงเสนอนโยบายที่ดูแล้วว่าตรงใจคนกรุงมากที่สุด ซึ่งก็หนีไม่พ้นการแก้ไขปัญหาจราจรแก้รถติด ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาปากท้อง ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ปัญหาการศึกษาและความเป็นอยู่
พูดได้ว่า นโยบายของผู้สมัครทุกคนล้วนให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้ทั้งสิ้น และอาจจะมีเพิ่มเติมนโยบายแม่เหล็กอีกนิดหน่อยเพื่อเรียกคะแนนเสียงเฉพาะกลุ่ม โดยหลักใหญ่ใจความแล้วนโยบายทั้งหมดมุ่งสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ให้มีชีวิตที่ดี มีความสะดวก มีความปลอดภัยและมีความสุขมากขึ้น
กทม.เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่หากวัดตามจำนวนประชากร เรียกได้ว่าใหญ่ติดอันดับโลก มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในเมืองนี้กว่า 5.7 ล้านคนหากยึดตามสำมะโนประชากร แต่มีการประมาณการถึงประชากรแฝงที่เข้ามาอาศัยทำงานในนี้รวมแล้วกว่า 10 ล้านคน ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวที่เข้าออกอีกปีละเกือบ 40 ล้านคน ดังนั้น หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ว่าฯกทม.จึงเรียกได้ว่าเป็นงานช้าง
เพราะเหตุผลข้างต้นนี้เอง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 4.5 ล้านเสียงนี้ จึงไม่ควรแค่เพียงคิดถึงแต่ตัวเอง แต่ควรคำนึงถึงประชากรแฝงอีกหลายล้านที่มาอยู่อาศัยในบ้านเกิดของตน เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวอีกหลายสิบล้านคนที่เข้ามาท่องเที่ยวในบ้านหลังนี้อีกด้วย
หากวิเคราะห์กันที่จำนวนผู้มีสิทธิ 4.5 ล้านเสียงนี้พบว่า เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งก่อน (ปี 2556 มีจำนวน 4.2 ล้านคน) และกว่า 16% ของจำนวนทั้งหมด หรือราว 7.2 แสนเสียงนี้เป็นสิทธิและเสียงของผู้ที่เพิ่งจะได้เลือกตั้งครั้งแรก ดังนั้นจึงสังเกตได้ว่า ทั้งนโยบายทั้งภาพลักษณ์ของผู้สมัครนอกจากจะต้องเอาใจคนกรุงโดยทั่วไปแล้ว จะต้องเอาใจและได้ใจวัยรุ่นด้วย
การเลือกตั้งครั้งก่อน (ปี 2556) นั้นผู้ชนะเลือกตั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนน 1.25 ล้าน เอาชนะพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทยที่ได้รับ 1.07 ล้านเสียง ถึงแม้ผู้มีสิทธิครั้งก่อนจะมีพอ ๆ กับปีนี้ และผู้ที่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งและมาใช้สิทธิจริงก็อยู่ที่ 2.7 ล้านเสียง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ได้รับความสนใจสูงสุดตั้งแต่เคยมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มา
ดังนั้น หากจะพูดว่า 7 แสนเสียงของวัยรุ่นกทม.จะเป็นตัวกำหนดชะตาว่าใครจะได้เป็นผู้ว่าฯกทม.ก็คงจะไม่เกินจริงแต่อย่างใด
ตำแหน่งพ่อเมืองขนาดใหญ่อย่าง กทม.นี้ หากทำดี ทำได้ตามที่หาเสียง สามารถเป็นสะพานที่จะเพิ่มรัศมีให้ผู้ว่าฯมีความโดดเด่นจนทะลุระดับท้องถิ่นสู่เวทีการเมืองระดับชาติได้ ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวอย่าง สมัคร สุนทรเวช หรือไกลตัวหน่อยอย่าง บอริส จอห์นสัน ที่เริ่มต้นจากการเป็น ส.ส. และกระโดดลงสนามผู้ว่าฯเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และลอนดอน และสุดท้ายจบด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและอังกฤษ
สมัยบอริสสมัครผู้ว่าฯกรุงลอนดอน นั้นก็หาเสียงด้วยนโยบายลดปัญหาอาชญากรรม การเพิ่มความปลอดภัยในระบบขนส่งมวลชน และการปรับปรุงพัฒนาเส้นทางการเดินรถโดยสารประจำทาง ขณะที่ในเชิงกลยุทธ์นั้นได้ให้ความสำคัญกับผู้คนที่อยู่ในเขตลอนดอนรอบนอกมากขึ้น ซึ่งดูแล้วก็ไม่ได้ต่างจากนโยบายของผู้ลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ของบ้านเรามากนัก
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เอง จึงทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มีความสำคัญ เสียงของผู้มีสิทธิทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน และ 1 เสียงของเรายังมีผลเกิดเป็นภาระผูกพันกับคนจำนวนอีกหลายล้านที่เข้ามาอาศัยทำมาหากินและท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ที่ไม่มีสิทธิออกเสียงอีกด้วย