เมื่ออังกฤษปฏิวัติกฎหมาย เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเงินดิจิทัล | สุมาพร

เมื่ออังกฤษปฏิวัติกฎหมาย เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเงินดิจิทัล | สุมาพร

ความเคลื่อนไหวในเรื่องเงินดิจิทัลจากภาครัฐมีขึ้นอย่างต่อในช่วงปีที่ผ่านมา อังกฤษถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องนับแต่กลางปี 2564 ที่ผ่านมา

  ที่มา
    ในเดือนกรกฎาคม 2564 ธนาคารกลางของประเทศอังกฤษได้มีการจัดทำเอกสารรับฟังความคิดเห็น เรื่อง New Forms of Digital Money โดยสำรวจความคิดเห็นผ่านการสอบถามประชาชนในประเด็นที่น่าสนใจ

 เช่น ผลกระทบของเงินดิจิทัลต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ และความจำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายการเงินการธนาคารเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งนี้ การรับฟังดังกล่าวได้เปิดรับฟังเป็นเวลาสามเดือน และสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา

ต่อมา เมื่อเดือนมกราคม 2565 หลังจากการรับฟังความเห็นดังกล่าวสิ้นสุดลง HM Treasury หรือ กระทรวงการคลังของอังกฤษได้จัดทำเอกสารเผยแพร่เพื่อนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจและรวบรวมข้อหารือ 

เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงกฎมายและนโยบายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลและ Stablecoins ซึ่งข้อสังเกตต่าง ๆ ได้มีการสรุปแนวทางที่ชัดเจนผ่านเอกสารที่พึ่งเผยแพร่เมื่อ 4 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา 

ปรับกฎเพื่อเป็นศูนย์กลางเงินดิจิทัล
    จากเอกสารเผยแพร่ของ HM Treasury สะท้อนให้เห็นว่า อังกฤษมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้เขียนขอสรุปโดยย่อในแต่ละประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวกฎหมายและนโยบายด้านการเงินที่สำคัญเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
 
1.ผลักดันการแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริม Stablecoin ในการชำระราคาสินค้า/บริการ (MOP) 
    ในประเด็นนี้ ธนาคารกลางของอังกฤษเห็นว่า Stablecoin แม้ออกโดยภาคเอกชน แต่มีคุณสมบัติและกลไกในการรักษามูลค่าให้คงอยู่ เพื่อให้สามารถนำมาแลกเปลี่ยนกับเงิน fiat currency ในแบบเดิมได้ 

Stablecoin นั้นก็สามารถนำมาใช้เป็น MOP ได้ โดยในทางปฏิบัติมีหลายประเด็นที่ต้องศึกษาโดยละเอียดโดยเฉพาะประเด็นความเสี่ยง การคุ้มครองผู้บริโภค และผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดีกระทรวงการคลังอังกฤษยังคงสนับสนุนในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการใช้ stablecoin โดยเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น 

เมื่ออังกฤษปฏิวัติกฎหมาย เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเงินดิจิทัล | สุมาพร

               1) ปรับปรุงกฎหมาย E-Money Regulation 2011 และ Payment Service Regulations 2017 เพื่อกำกับ Stablecoin ให้มีมาตรฐานเดียวกันกับเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องมีเกณฑ์ที่ควบคุมผู้ให้บริการ Wallets ศูนย์ซื้อขาย และ การให้บริการเก็บรักษาทรัพย์สิน (Custodian Services) ที่ชัดเจน

    2) เพิ่มการให้บริการชำระราคาด้วย Stablecoin เป็นหนึ่งในประเภทธุรกิจภายใต้หมวด Payment systems ของกฎหมาย Banking Act 2009 โดยให้ใช้มาตรฐานทำนองเดียวกันกับการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ และการกำกับระบบชำระเงินภายใต้กฎหมาย Banking Act 

    3) ขยายขอบเขตการบังคับใช้ Financial Service (Banking Reform) Act 2013 ให้ครอบคลุม Stablecoin ที่ใช้เป็น MOP เพื่อให้หน่วยงานที่กำกับดูแลระบบชำระเงิน (Payment Systems Regulator หรือ PSR) สามารถตรวจสอบและดูแล

เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสม และรวมไปถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการให้บริการ Digital Asset Settlement ที่ธุรกิจอาจนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ

    4) กำหนดหลักเกณฑ์ป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงานล้มเหลวของระบบชำระเงินที่ใช้ Stablecoin ซึ่งในประเด็นนี้กระทรวงการคลังของอังกฤษจะเสนอปรับปรุงแนวทาง SAR (Special Administration Regime) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงของระบบชำระเงิน (อยู่ระหว่างศึกษาและจัดทำเอกสารในเรื่องดังกล่าว)

เมื่ออังกฤษปฏิวัติกฎหมาย เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเงินดิจิทัล | สุมาพร

    5) สร้างกลไกการกำกับร่วมกัน หรือ การทำ Co-Regulation ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ธนาคารกลาง, หน่วยงานกำกับนโยบายด้านการเงิน (FCA) และหน่วยงานที่กำกับดูแลระบบชำระเงิน (PSR) ซึ่งสามหน่วยงานนี้จะกำหนดทิศทางและหลักเกณฑ์ร่วมกัน

2.ส่งเสริมนวัตกรรมผ่าน FMI DLT Sandbox 

อังกฤษได้ระบุชัดถึงการสร้าง Sandbox แบบใหม่สำหรับทดลองนวัตกรรมที่จะใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินในอนาคต (Financial Market Infrastructures : FMI sandbox)  ซึ่งยึดหลักแนวทางในเรื่องความเป็นกลางในทางเทคโนโลยี (Technology Neutrality) โดยจะไม่ได้จำกัดการทดสอบอยู่ที่การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ DLT เพียงเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี FMI Sandbox ที่เสนอในครั้งนี้ มีความแตกต่างจาก FCA Sandbox ที่ใช้ทดลองในปัจจุบัน เนื่องจากบริษัทต้องทดลองภายใต้ข้อบังคับของกฎระเบียบปัจจุบัน ในขณะที่ FMI Sandbox จะยกเว้นข้อจำกัดในเรื่องกฎเกณฑ์ ให้บริษัททดลองได้แม้อาจไม่สอดคล้องกับกฎหมายปัจจุบัน ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของภาครัฐ 

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างแท้จริง ซึ่ง FMI Sandbox ของอังกฤษจะเริ่มใช้ในปี 2566 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นเวลาเดียวกันกับ EU Sandbox for DLT pilot regime ที่คาดว่าจะเริ่มต้นในปีเดียวกัน 

เมื่ออังกฤษปฏิวัติกฎหมาย เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเงินดิจิทัล | สุมาพร

3.ศึกษาเพิ่มเติมสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทที่อยู่นอกการกำกับ

         อังกฤษได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทที่อยู่นอกการกำกับ หรือ Unregulated Tokens (เช่น Bitcoin, Ether หรือ exchange token บางประเภท) โดยในปัจจุบัน เอกชนนิยมออกเหรียญดังกล่าวเพื่ออ้างอิงกับทรัพย์สินต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย 

ดังนั้น กฎหมายหรือแนวนโยบายต้องมีความชัดเจน เพื่อสร้างกรอบให้ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนเข้าใจถึงสถานะของเหรียญแต่ละประเภทได้  เนื่องจากเหรียญเหล่าแม้จะมีทั้งความเสี่ยงต่อการใช้งานของผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีแนวทางในการพัฒนารูปแบบการใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มการเงินการลงทุนแบบใหม่ เช่น Defi

อังกฤษมองว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา และถือเป็นรูปแบบการพัฒนาของตลาดการเงินแบบใหม่ ที่รวมผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายรูปแบบ และผลจากการสำรวจภาคธุรกิจ พบว่า มีความกังวลในการทำลายรูปแบบของธนาคารในปัจจุบัน เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำกว่า เข้าถึงได้ง่าย และอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ที่ภาครัฐได้กำหนดไว้เดิม 

อย่างไรก็ดี แผนการในเรื่อง Unregulated Tokens อาจใช้เวลานานกว่าแผนการอื่น ๆ เนื่องจากอังกฤษตั้งใจจะบรรจุประเด็นดังกล่าวลงในแนวนโยบายการส่งเสริมภาคการเงิน (Financial promotion regimes) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการกำกับดูแลที่เหมาะสม และสอดคล้องกับแนวนโยบายในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายด้วย

    ท้ายที่สุด ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านถ้อยแถลงของรัฐบาลอังกฤษและมีข้อความที่น่าสนใจว่า “การเริ่มต้นปรับเปลี่ยนแนวทางของกฎหมายและนโยบายในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อต้องการให้อังกฤษ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ที่ดึงดูดการลงทุนในอนาคต และเป็นฐานให้บริษัทที่ประสงค์จะพัฒนานวัตกรรม แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหน...” 

ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าอังกฤษมีเป้าหมายในเป็น pro-innovation Jurisdiction อย่างชัดเจน อันจะนำไปสู่การเป็นตัวอย่างในการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศต่าง ๆ ตามมาในอนาคตอันใกล้.