'ไทย-จีน' น้ำหนึ่งใจเดียวกัน สู่ผลประโยชน์ร่วมเศรษฐกิจ
สภาวะวิกฤติโลกภายใต้โรคระบาดที่ทุกประเทศเผชิญมากว่าสองปีอย่างถ้วนหน้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนระหว่างประเทศอย่างแน่นอน
บทบาทภาครัฐได้สนับสนุนการทำธุรกิจผ่านการเจรจาระดับสูงและการเปิดประตู และลดอุปสรรคด้านการค้าในสภาวการณ์ปัจจุบัน ในทุกมิติ “อย่างรอบด้าน”
การเยือนจีนของ "ดอน ปรมัตถ์วินัย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่างประเทศ เป็นการยืนยัน “ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” อย่างแท้จริง และในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดของภาคเอกชนไทย กอปรกับการที่จีนเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง และมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับไทยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาช้านาน
หลายท่านอาจสงสัยว่า เหตุใดผู้แทนไทยระดับสูงจึงต้องเดินทางเยือนต่างประเทศจีน คนไทยได้ประโยชน์อย่างไร
การเดินทางเยือนเมืองหวงซาน มณฑลอานฮุย ประเทศจีนของรองนายกฯดอน เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างเป็นรูปธรรมเพราะเป็นการเยือนนำคณะนักธุรกิจไทย ผู้นำภาคเอกชน ประธานหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมด้วย เพื่อกระชับความร่วมมือกับฝ่ายจีนให้การค้าการลงทุนระหว่างกันสะดวกขึ้น
ส่วนผู้แทนระดับสูงของจีนในการพบปะครั้งนี้คือ “หวัง อี้” มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ ดังนั้น เป็นโอกาสอันดีทั้งไทยและจีนจะได้พูดคุย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการค้าการลงทุนร่วมกันต่อไป
ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ "อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร" เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ได้นำคณะนักธุรกิจไทยหารือกับผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีนเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีนด้วย
ปัจจุบัน ผลไม้เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยไปจีน และประมาณ 60% ขนส่งผ่านประเทศเพื่อนบ้าน แต่ขณะนี้ประสบปัญหาคอขวดที่ด่านขนส่งทางบก เนื่องจากมาตรการตรวจโควิด-19 ที่เข้มงวดของจีน ทำให้มีสินค้าค้างที่ด่าน หนึ่งในเรื่องที่หารือจึงเป็นเรื่องการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ฝ่ายไทยจึงขอให้จีนพิจารณาเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้การผ่านด่านและการตรวจมีความคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงการพิจารณาจัดทำ “ช่องทางสีเขียว" (green lane) และไม่เฉพาะแค่ด่านทางบก แต่ยังรวมถึงทางเรือและอากาศด้วย เพื่อที่พ่อค้าแม่ค้าชาวไทยของเราจะได้ส่งออกผลไม้ได้รวดเร็วขึ้น
ด้านการลงทุน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะดูแลนักลงทุนของกันและกัน ขณะที่ฝ่ายจีนยินดีสนับสนุนบริษัทจีนมาลงทุนในเขต EEC รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมจีน-ระยอง ด้านการกลับไปเปิดทำการบิน ฝ่ายจีนพร้อมกลับมาดูหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงต่อไป ส่วนเรื่องเส้นทางรถไฟ ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงรถไฟจีน-ลาว กับระบบรางของไทย และการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
เมื่อสร้างเสร็จจะขยายเป็นเครือข่ายคมนาคมระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ได้มีการหารือความร่วมมือด้านสาธารณสุข และความร่วมมือในสาขาที่ตอบสนองอนาคต เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล ฟินเทค เศรษฐกิจสีเขียว พลังงานสะอาด ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน สังคมผู้สูงวัย ฯลฯ
การเยือนครั้งนี้ที่มณฑลอานฮุย (Anhui) ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน มีเมืองหลวงชื่อเหอเฝย มณฑลอานฮุย มีประชากร 70 ล้านคน เกือบเท่าประเทศไทย อานฮุยให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับท้องถิ่น และประสงค์จะสถาปนาเมืองพี่เมืองน้องกับจังหวัดหนึ่งของไทย และส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า การศึกษาและวัฒนธรรมกับไทย และในการหารือกับผู้ว่าการมณฑลอานฮุย
ภาคเอกชนไทยได้เสนอให้มีความร่วมมือในลักษณะ 2 ประเทศ 2 นิคมอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ห่วงโซ่อุปทาน โดยไทยพร้อมเป็นฐานให้ธุรกิจจีนขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน
การเยือนครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นโอกาสทองที่ภาครัฐจับมือภาคเอกชน ไปร่วมผลักดันผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยตรงกับผู้กำหนดนโยบายของจีน แก้ไขประเด็นปัญหา และให้ข้อเสนอแนะความร่วมมือใหม่ ๆ สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐของไทยให้ความสำคัญ และพร้อมทำงานร่วมกันเป็นเนื้อเดียวกับภาคเอกชน
50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน จะเฉลิมฉลองในปี 2568 อีกเพียงสามปีข้างหน้า ถึงเวลานั้น ความท้าทายและบริบทต่างๆ ในโลกคงเปลี่ยนไปอีกจากวันนี้ แต่ที่แน่ ๆ ในวันหน้าคือ ผลประโยชน์ร่วมทางเศรษฐกิจไทย-จีน จะต้องคงอยู่และเห็นผลที่งดงามต่อไป เพราะความพยายามและแรงกายแรงใจในวันนี้เพื่อสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านนั่นเอง