'ดีป้า' ชู Digital Tourism ต่อจิ๊กซอว์อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ถอดแนวคิด "ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์" ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กับการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย สู่ Digital Tourism มุ่งโฟกัสซัพพลายเชนในอุตสาหกรรม เจาะกลุ่ม Young Talent - Digital Nomad แนะไทยต้องเป็น Ease of Doing Business
ความสำเร็จจากโครงการ "เปิดเมือง เปิดท่องเที่ยวไทยด้วยดิจิทัล" ที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับธุรกิจผ่านแพลตฟอร์ม ThailandCONNEX ในเดือนตุลาคม ปี 2566 ถือว่าเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยยอดการเชื่อมต่อมีอัตราผู้ประกอบการตบเท้าเข้าร่วมแพลตฟอร์มแล้วกว่า 100,000 ราย มีผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและผู้สนใจร่วมกิจกรรมต่าง ๆ รวมกว่า 2,800 ราย มีสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวมากกว่า 200,000 รายการ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10% และในอนาคตยังมีตลาดคลาวด์ที่จะเข้ามาเสริมในส่วนนี้ ขณะที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 40% ของ GDP ของประเทศ ดังนั้นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวผนวกกับเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญอย่างมาก
โฟกัสซัพพลายเชนในอุตสาหกรรม
ผอ.ใหญ่ ดีป้า อธิบายว่า จากโครงการ "เปิดเมือง เปิดท่องเที่ยวไทยด้วยดิจิทัล" เราทำงานกับ บริษัท ทราวิซโก เทคโนโลยี จำกัด เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มท่องเที่ยวแห่งชาติ ThailandCONNEX ทำหน้าที่เป็นการจับคู่แบบ Business to Business (B2B) ในลักษณะ Wholesales สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้สามารถเข้าถึง นำเสนอสินค้าและบริการสู่ผู้ให้บริการท่องเที่ยว (Online Travel Agents : OTAs) ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการจัดทำธนาคารข้อมูลดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวและโทเคนดิจิทัลด้านการท่องเที่ยว
"สิ่งที่เราทำกับทราวิซโก ยังอยู่ในขอบเขตของ B2B เราต้องเปลี่ยนจุดนี้ให้เป็น B2C ให้ได้ ให้เกิดซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมครบหมดทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ จุดขายของไทยมีตั้งแต่วัฒนธรรมไปถึงซอฟต์แวร์ เราต้องหยิบออกมาสื่อถึงประเด็นนี้ให้ได้"
เจาะ Young Talent - Digital Nomad
ผอ.ใหญ่ ดีป้า ฉายภาพว่า การจะทำให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรม Digital Tourism ขยายตัว นอกจากการแมชชิ่งหาพาร์ตเนอร์ทั้ง B2B และ B2C คือเร่งมาตรการ VISA และ Citizen รูปแบบเฉพาะสำหรับ Digital Nomad หรือชาวต่างชาติที่มี Talent เพื่อดึงดูดให้เข้ามาในประเทศไทย
"ระบบโครงสร้างพื้นฐานเราดีมาก ดังนั้นขับเคลื่อนสู่ ASEAN Digital Hub จะมีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการไหลเวียน การพัฒนาและการต่อยอดเทคโนโลยีดิจิทัลให้ทันสมัยและยังเป็นการแก้ไขปัญหาสำคัญอย่างการขาดแคลนแรงงานดิจิทัลในประเทศไทยที่ยังมีความต้องการของภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ"
(ต้อง) เป็น Ease of Doing Business
ผศ.ดร.ณัฐพล มองว่า ข้อจำกัดที่ยังมีอยู่ของไทยคือ การทำให้ไทยเป็นประเทศที่ได้รับความสะดวกสบายและง่ายต่อการประกอบธุรกิจ เพราะหากเป็นฮับด้านดิจิทัลในภูมิภาค ก็ต้องเร่งดูดกำลังคนดิจิทัลสาขาขาดแคลนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งที่ผ่านมามีการหารือกับคณะทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ และเมื่อร่างประกาศกระทรวงผ่านความเห็นชอบแล้วให้ส่งเรื่องเวียนถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำงานไปพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้คอขวดให้ประเทศไทยมี Ease of Doing Business และมีแพลตฟอร์มเดียวในการประกอบธุรกิจ Single Windows Portal
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนดิจิทัลเฉลี่ยปีละ 100,000 คน แต่ภาคการศึกษาสามารถผลิตกำลังคนกลุ่มดังกล่าวได้เฉลี่ยปีละ 25,000 คนเท่านั้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวของ ดีป้า ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีความสามารถด้านดิจิทัลสามารถเข้ามาพำนัก หางาน และทำงานในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยให้เรามีศักยภาพการแข่งขันได้ไม่น้อยหน้าต่างชาติ