AssetWise ขับเคลื่อนองค์กรสู่ Next Generation ซินเนอร์ยีธุรกิจ ลุยนิวเอสเคิร์ฟแห่งอนาคต
AssetWise มุ่งสู่การเป็นบริษัทชั้นนำในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทั้งด้านยอดขายและการเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจของลูกค้า พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่ Next Generation ลุยซินเนอร์ยีธุรกิจ สร้างโอกาส แตกไลน์ธุรกิจใหม่เพื่อสร้างนิวเอสเคิร์ฟในอนาคต
หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW เคลื่อนธุรกิจตามเป้าหมายที่วางไว้ มุ่งสู่การเป็นบริษัทชั้นนำในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทั้งด้านยอดขายและการเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจของลูกค้า
ช่วง 11 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย. 67) สามารถทำยอดขายสะสมได้ 17,874 ล้านบาท ถือเป็นยอดขายสถิติใหม่ของแอสเซทไวส์ และเกินกว่าเป้าหมายยอดขายปี 2567 และมีรายได้สะสม 9 เดือนแรกกว่า 7,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 90% ของเป้ารายได้ทั้งปี 2567 นับเป็นหนึ่งในบริษัทที่ยังสามารถเติบโตได้ในภาวะตลาดชะลอตัวเพียงไม่กี่ราย
กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันแลนด์สเคปอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนไป ในช่วงโควิด-19 มีการพัฒนารถไฟฟ้าหลายสาย ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นสายสีชมพู สีเหลือง เหมือนช่วงที่ได้สายสีเขียว มาใหม่ขยายถึงลำลูกกาหรือได้สายสีม่วงขยายไปถึงบางใหญ่ ขณะนี้ขยายไปถึงมีนบุรี สีเหลืองไปถึงเทพารักษ์
"ซัพพลายคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้ามีจำนวนมากขึ้น ถือเป็นแลนด์สเคปใหม่ของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มาทำให้เขตเมืองหรือขอบเมืองขยายไปตั้งแต่บางใหญ่ ลำลูกกา เทพารักษ์มาจนถึงมีนบุรี ทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่ขึ้น เพราะคนกระจายอยู่ตามรถไฟฟ้าไม่ได้กระจุกอยู่ในเมือง"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าก่อสร้างยังไม่ขึ้นแต่เมื่อที่ดินราคาแพงขึ้น ส่งผลให้ราคาขายคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น ขณะที่ 4-5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดโควิดรายได้ของคนในสังคมไม่ได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อ "ลดลง" ซัพพลายและดีมานด์ไม่ได้เจอกัน คาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะกว่ากำลังซื้อจะฟื้นกลับมาตัองรอภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว จากมาตรการผลักดันรายได้ของรัฐบาลที่ออกมากระตุ้นกำลังซื้อ
แอสเซทไวส์ ในฐานะดีเวลลอปเปอร์ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ต้อง "ปรับตัว" พัฒนาโครงการให้มีราคาที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้และอยู่ในทำเลที่เหมาะสมเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงเพราะซัพพลายเหลือเยอะ ขณะเดียวกันต้องเข้าสู่โหมด "ระมัดระวัง" ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ใช้เม็ดเงินลงทุนค่อนข้างมาก
"สิ่งสำคัญนับจากนี้ คือการเฝ้าระวังเรื่องการบริหารเงินสด เพราะเป็นธุรกิจใหญ่ ถ้าคนซื้อคอนโดมิเนียมเราอยู่ดีๆ พอจะโอน ก็โอนไม่ได้เพราะโดนปฏิเสธสินเชื่อทำให้กระแสเงินสดไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้"
ดังนั้น ต้องคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอีก 3-6 เดือนต่อจากนี้ เศรษฐกิจจะดีขึ้นไหม การปฏิเสธสินเชื่อจะเป็นอย่างไร ลูกค้าจะกู้ผ่านหรือไม่ ดอกเบี้ยจะลดลง คนจะกู้ง่ายขึ้นไหม ลูกค้าจะมีเงินในกระเป๋าไหม ต้นทุนจะเป็นอย่างไร เพื่อวางแผนกระแสเงินสด ไม่ให้มีปัญหา เพื่อจะได้มีเงินเหลือไปลงทุนใหม่
"แนวทางการรับมือกับภาวะเช่นนี้ก็คือการทำงานหนักขึ้น เพราะต้องติดตามและปรับแผนกลยุทธ์การดำเนินการไม่ว่า เป็นการปรับแผนการทำตลาด การก่อสร้าง ในระยะทุก 3 เดือนกันใหม่ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคและตลาดเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ต้องมอนิเตอร์ถี่ขึ้น เพื่อให้แม่นยำมากขึ้น ต่างจากสมัยก่อนที่เศรษฐกิจขาขึ้น ทำอะไรออกมาก็ขายได้"
ในฐานะเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องดูแลผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ต้องทำให้ธุรกิจเติบโต ต้องขยันมากขึ้น เพราะกำลังซื้อของลูกค้าในตลาด "ลดลง" ตามสภาวะเศรษฐกิจ ต้องปรับกลยุทธ์ หาสินค้าใหม่ออกมาขาย เปลี่ยนวิธีการในการเรียกลูกค้า มีโปรโมชันที่หลากกหลายขึ้น จากเดิมแถมเฟอร์นิเจอร์ลูกค้าก็ซื้อแล้ว แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้น
ขณะเดียวกันบริษัทฯ "บริหารความเสี่ยง" ด้วยการขยายน่านน้ำใหม่ อาทิ ทำเลอีอีซี เริ่มจากการเปิดคอนโดมิเนียม แบรนด์ "อควารัส" หาดจอมเทียน พัทยามูลค่า 5,000 ล้านบาทเพื่อรองรับดีมานด์รัสเซีย ยุโรปและจีน ในระดับราคาเฉลี่ย 1.5 แสนบาทต่อตร.ม. ในเดือนพ.ย. นี้ หรือการขยายตลาดอสังหาฯไป จ. ภูเก็ต เพื่อขยายฐานลูกค้าคอนโดใหม่ ภายใต้แบรนด์ "เดอะ ไทเทิล" ภายใต้การพัฒนาของ ร่มโพธิ์ พร็อพเพอร์ตี้ ด้วยความมุ่งมั่นของ ASW และ TITLE ในการคัดสรรทำเลที่ดี เชื่อมต่อการเดินทางได้หลากหลาย การออกแบบที่เข้าใจผู้อยู่อาศัย และการก่อสร้างที่มีคุณภาพ ส่งมอบโครงการที่อยู่อาศัยได้รวดเร็วตามกำหนด ทำให้แบรนด์ THE TITLE ได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจุบัน TITLE มี Backlog สะสมทั้งหมดราว 8,022 ล้านบาท เริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 จาก เดอะ ไทเทิล ฮาโล 1 (THE TITLE HALO 1) และคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการอื่นๆ ต่อเนื่องจนถึงปี 2570 ล่าสุด ASW ได้ปรับแผนเปิดตัวโครงการ Leisure Residences ในภูเก็ต โดยเปิดโครงการใหม่รวม 4 โครงการซึ่งมากกว่าแผนที่วางไว้ มูลค่าโครงการทั้งหมด 15,500 ล้านบาท
หรือการแตกไลน์ธุรกิจใหม่เพื่อสร้าง "นิวเอสเคิร์ฟ" ในอนาคตหลังจากที่ขยายไปยังธุรกิจ "Lifestyle & Entertainment" ครบวงจรด้วยการซื้อหุ้น 41.18% ในบริษัท แซ๊ป เวิลด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด หรือ ZAAP World
บิ๊กสเตปต่อไปคือการรุกไปในธุรกิจ เกี่ยวกับ "Health & Wellness & Beauty" ภายใต้ WHB เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านสุขภาพและความงามในเครือ และเป็นอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเติมเต็ม Ecosystem ของแอสเซทไวส์ในการดูแลไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนครบวงจร
ล่าสุด เปิดตัว "Rocket Fitness" ร่วมทุนกับผู้ที่เชี่ยวชาญ นอกจากนี้มีธุรกิจดูแลฟื้นฟูสุขภาพภายใต้แบรนด์ "Vitala" เป็นคลินิกกายภาพบำบัดและฟื้นฟูร่างกายเพื่อสอดรับกับเมกะเทรนด์โลกที่คนทุกช่วงวัยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้นและประชากรคนไทยสูงวัยเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ใช้กลยุทธ์ "ไลฟ์สไตล์ มาร์เก็ตติ้ง" ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความ "สนุกสนาน" ทั้งตัวพนักงานและสร้างความบันเทิงให้กับคอมมูนิตี โดยใช้ ZAAP เข้ามาช่วยในการจัดอีเวนต์ในงานต่างๆ เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับลูกบ้าน เป็นการต่อยอดและขยายไปยังธุรกิจใหม่ ในปีนี้กลุ่ม ZAAP เริ่มมี "กำไร" แล้วเพราะสามารถรับจ้างจัดงานต่างๆ ได้มากขึ้นหลังจากสะดุดไปช่วงเกิดโควิด -19
แต่เทียบกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายได้น้อยกว่าแต่มีส่วนสำคัญที่ต่อยอดไปสู่ธุรกิจ สามารถเกิดการ "ซินเนอร์ยี" ข้ามธุรกิจ และสิ่งสำคัญในมุมมองของกรมเชษฐ์ คือการได้ "Brand Awareness" หรือ "การรับรู้แบรนด์ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย" สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของซีอีโอ แอสเซทไวส์ ที่มุ่งรุกพัฒนาสู่องค์กรแห่ง Next Generation อย่างแท้จริง