ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ ก่อนชู 'เสรีไฟฟ้า'
เมื่อกระแส "ตลาดไฟฟ้าเสรี" ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยหวังว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้มีการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนลงได้นั้น มีข้อมูลอะไรบ้างที่ควรรู้เพื่อประกอบการตัดสินใจ
ที่ผ่านมาไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคที่บริหารโดยภาครัฐ ทั้งนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและให้บริการไฟฟ้าแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุม
ทั้งนี้ ในช่วงระยะหลังมีการพูดถึง "ตลาดไฟฟ้าเสรี" ซึ่งกำลังเป็นกระแสได้รับความสนใจมากขึ้นในสังคมไทย โดยหลายฝ่ายมองว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างกิจการไฟฟ้าไปเป็นแบบ "แข่งขันเสรี" ที่มีการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงได้ จะทำให้ความเสี่ยงและภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนลดลงกว่าปัจจุบัน มุมมองดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่นั้น ต้องลองพิจารณาข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ประกอบด้วยเช่นกัน
ทุกวันนี้ไทยใช้โครงสร้างไฟฟ้าแบบใด?
ปัจจุบันประเทศไทยใช้โครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบที่เรียกว่า Enhanced Single Buyer (ESB) คือ การที่รัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ จุดแข็งของระบบโครงสร้างนี้คือ ทำให้รัฐมีอำนาจในการบริหารจัดการและควบคุมสั่งการได้อย่างเด็ดขาด 100% เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา
ที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด 19 ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดต่ำลงทั่วโลก และวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ต้นทุนพลังงานของโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อมองดูผลกระทบต่อประเทศไทย พบว่าภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน สามารถคุมเสถียรภาพไฟฟ้าที่ขายให้ประชาชนในประเทศไทยในอัตราค่าไฟฟ้าต่ำกว่าต่างประเทศ โดยในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นราว 0.5 เท่า ในขณะที่ต่างประเทศได้มีการขึ้นค่าไฟฟ้าไปกว่า 2-3 เท่า
จากภาพจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการบริหารจัดการ ทำให้ค่าไฟฟ้าขึ้นมาในปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ
ขายไฟฟ้าเสรี แต่จำเป็นต้องมีตลาดกลางไฟฟ้า
อีกหนึ่งเรื่องที่ควรทราบเพื่อประกอบการทำความเข้าใจคือ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นการซื้อขายไฟฟ้าตลาดเสรี หากในทางปฏิบัติแล้ว การซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรีไม่ได้เป็นการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้ไฟฟ้า แต่เป็นการซื้อขายผ่าน "ตลาดกลางไฟฟ้า" ที่เรียกว่า "Power Pool Market" ซึ่งการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านั้น จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้รองรับการซื้อขายไฟฟ้า และอนุญาตให้เอกชนสามารถลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้อย่างเสรีเสียก่อน
ขณะเดียวกัน ก่อนที่เราจะจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าได้นั้น ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาด้านองค์ความรู้ บุคลากร รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอ และเหมาะสมสำหรับบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การผลิตไฟฟ้าในรูปแบบเสรี และการใช้ไฟฟ้าที่มีความผันผวนตลอดเวลา ซึ่งมีแนวโน้มจะผันผวนมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อใช้โครงสร้างไฟฟ้าระบบนี้
ดังนั้น ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกิจการไฟฟ้าต้องใช้เวลา ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อม รวมถึงต้องมีการดำเนินการอย่างบูรณาการค่อยเป็นค่อยไปอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการบริหารจัดการไฟและความผันผวนที่อาจเกิดในอนาคต
เสรีไฟฟ้า อาจเสี่ยงต่อ "ค่าไฟผันผวน"
ในการเปิดตลาดเสรีซื้อขายไฟฟ้ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีจะเกิดขึ้นเมื่อปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าในตลาดมีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า (Over Supply) ซึ่งมีโอกาสทำให้ค่าไฟถูกลงได้ แต่ในทางกลับกัน หากปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ จะทำให้ค่าไฟมีความผันผวนสูงหรือเข้าขั้นรุนแรงได้
ดังนั้น อัตราค่าไฟฟ้าใน ตลาดเสรีไฟฟ้า มีโอกาสที่จะผันผวนอย่างมาก ซึ่งมีข้อกังวลคือระบบเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวได้ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมประเทศไทยยังคงต้องใช้โครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ Enhanced Single Buyer (ESB) อยู่
ยกตัวอย่างเช่น ราคาไฟฟ้า ของไทยในช่วงวิกฤติพลังงานเมื่อเทียบกับประเทศที่เปิดตลาดเสรีไฟฟ้า จะพบว่าประเทศที่เปิดตลาดเสรีไฟฟ้า มีความผัวผวนของค่าไฟสูง และทำให้อัตราค่าไฟแพงขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ อาทิ อิตาลี ซึ่งพบว่าอัตราค่าไฟเพิ่มขึ้นถึง 188% รองลงมาคือ สวีเดน ค่าไฟเพิ่มขึ้น 157%, สเปนเพิ่มขึ้น 87% และเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 75% ขณะที่ไทยเพิ่มขึ้น 19% เท่านั้น (ข้อมูลอ้างอิงจาก : European power price tracker)
คุณภาพระบบไฟฟ้าไทยเทียบชั้นแถวหน้าอาเซียน
อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าพิจารณาคือ ปัจจุบันหากวิเคราะห์ในแง่คุณภาพไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าประเทศไทยในระดับภูมิภาคนั้น จะพบว่าอยู่ในเกณฑ์คุณภาพลำดับต้นๆ โดยจากรายงาน World Bank Doing Business 2020 เปรียบเทียบไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ พบว่า ดัชนีชี้จำนวนไฟฟ้าดับ หรือ System average interruption frequency index (SAIFI) ของประเทศไทยอยู่เป็นอับดับที่ 5 เป็นรองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และมาเลเซีย
ขณะที่ ดัชนีระยะเวลาที่ไฟฟ้าดับ หรือ System average interruption duration index (SADI) ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 2 เป็นรองแค่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงคุณภาพไฟฟ้าของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนทั้งในแง่ของจำนวนครั้งที่ไฟดับและระยะเวลาที่ไฟดับในแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของกำลังผลิตสำรองที่ต้องสัมพันธ์กับสัดส่วนแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า และการวางแผนด้านพลังงานให้เกิดเสถียรภาพสูงสุดของไทย เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต