จับตาความเสี่ยง 'อุปทาน' ผลักดันราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น
สถานการณ์ราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปี 2567 ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องจับตาและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเสี่ยงด้าน "อุปทาน" ที่ผลักดันราคาน้ำมันให้เพิ่มขึ้น
ในช่วงครึ่งปีหลัง มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อ ราคาน้ำมัน ในตลาดโลก
ประเด็นแรก ยังคงเป็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งความตึงเครียดทำให้ราคาน้ำมัน ICE Brent ช่วงครึ่งเดือนแรก เดือนกรกฎาคมปีนี้ เพิ่มขึ้นที่ 85-88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่ระดับ 83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แม้ความขัดแย้งไม่ขยายเป็นสงครามแต่ต้องติดตามใกล้ชิด
อีกปัจจัยที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือ สถานการณ์ ราคาน้ำมันดิบ เดือนสิงหาคม - กันยายนปีนี้ มีแนวโน้มสูงขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นช่วงฤดูขับขี่ในสหรัฐและอุปทานที่ยังตึงตัวจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+
จากรายงานของกลุ่ม OPEC+ ในเดือนกรกฎาคม 2567 แสดงให้เห็นว่า ทางกลุ่ม OPEC ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ผลิตน้ำมันดิบเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 26.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน สะท้อนว่า OPEC+ ยังควบคุมปริมาณการผลิต
ขณะที่รายงานของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ประจำเดือนกรกฎาคมปีนี้ มองความต้องการใช้น้ำมันไตรมาส 3 ปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะเทศกาลท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันตก โดยความต้องการใช้น้ำมันไตรมาส 3 ปีนี้ จะมีจุดสูงสุดของปีที่ระดับ 104.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล
ส่วนการผลิตของประเทศนอกกลุ่ม OPEC+ คาดว่าเพิ่มขึ้น ดังนั้นการควบคุมการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ให้เป็นไปตามแผน จะรักษาสมดุลของตลาด ซึ่งประเมินเบื้องต้นได้จากปริมาณสินค้าคงคลังที่จะลดลงและความเป็น backwardation ที่จะเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ราคาน้ำมันโลก ช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายนปีนี้ จะเคลื่อนไหวในกรอบ 82-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้น้ำมันสูงกว่าปริมาณการผลิต
แต่ช่วงเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายนปีนี้ เป็นฤดูมรสุมบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกของสหรัฐ ซึ่งกระทบอุปสงค์และอุปทาน มีผลทำให้ ราคาน้ำมันดิบ เปลี่ยนแปลงเร็ว รวมถึงปัจจัย ภูมิรัฐศาสตร์ เป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตามถึงผลกระทบต่อความต้องการของตลาด