SX2023 ปลุกกระแสเยาวชนและผู้เข้าชมงานมากกว่า 3 แสนคน
SX2023 ปลุกกระแสเยาวชนและผู้เข้าชมงานมากกว่า 3 แสนคน พร้อมขับเคลื่อนทศวรรษแห่งการ "ลงมือทำ" เพื่อโลกที่ยั่งยืน
เป็นต้นแบบของ Collaboration platform พลังแห่งความร่วมมือด้านความยั่งยืนระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน สำหรับงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023) บนแนวคิด "พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก" (Sufficiency for Sustainability) เป็นแนวทางการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ที่สร้างปรากฏการณ์ให้ทุกภาคส่วน และเยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญ และร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกน่าอยู่อย่างยั่งยืนในทศวรรษแห่งการ "ลงมือทำ" ( Decade of Action) ให้สำเร็จตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs)
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานอำนวยการ SX 2023 เผยว่า ขอขอบพระคุณเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน และทุกๆ คนที่มาร่วมไม้ร่วมมือกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับโลกใบนี้ให้น่าอยู่อย่างยืนยืนไปด้วยกัน ซึ่งคณะผู้จัดงานต้องการผลักดันให้ SX2023 เป็นงานระดับนานาชาติ เพราะจุดหมายสำคัญคือ อยากให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมาร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน จากจุดเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่ตัวบุคคลสู่การดำเนินชีวิตที่จะสร้างประโยชน์ให้สังคม และสิ่งแวดล้อม ว่าเราจะช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร เราได้ร่วมดูแลพื้นที่สีเขียวอย่างไร เราดูแลบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ที่เหลือใช้ได้มากน้อยอย่างไร สิ่งสำคัญคือการที่ถ้าเราใส่ใจและการได้ประเมินตัวเองคือแนวทางไปสู่การพัฒนา เพราะถ้าไม่มีจุดที่เราประเมินเราก็อาจไม่รู้ว่าเราจะพัฒนาหรือให้ความสำคัญกับเรื่องไหนต่อ พลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนคือ รวมทั้งความมีจิตอาสาที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ แบ่งปัน เพื่อสร้างประโยชน์ดีๆ ให้กับสังคมในมิติต่างๆ
นายฐาปน กล่าวเพิ่มเติมว่า งาน SX2023 มีแรงบันดาลใจการจัดงานด้วยแนวคิดเรียบง่าย "พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก" ที่สะท้อนให้เห็นว่าความยั่งยืนที่มีความเกี่ยวข้องกันในทุกมิติ ที่ทำให้ทุกคนมารวมพลังกันในวันนี้เพื่อสร้างโลกแห่งอนาคตของเราให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) จากการผสานความร่วมมือขององค์กรนานาชาติ วิทยากร และเครือข่ายธุรกิจยั่งยืนระดับภูมิภาค และระดับโลก และยังมีการจัดงานใหญ่ระดับประเทศ และอาเซียนขึ้นในระหว่างงานที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก อาทิ งานประชุม ภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 ที่มีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทีวีสิน มาเป็นประธานเปิดงาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะปลุกคนไทยให้เปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมด้านการผลิต และบริโภค เพื่อโลกที่ยั่งยืน
"ซึ่งผมคาดหวังว่า SX2023 จะเป็นหมุดหมายให้ทุกคนอยากมาร่วมงานอีกในครั้งต่อๆ ไป โดยตลอด 10 วัน มีคนเข้าร่วมงานกว่าสามแสนคน และที่ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะกว่า 60% ของผู้เข้าชมงานคือ เด็กและเยาวชน นับเป็นการสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เป็นวงกว้าง เพราะ ความยั่งยืน เป็นเรื่องสำคัญของทุกคนที่ต้องช่วยกันลงมือทำ และจะยั่งยืนอย่างไรอยู่ที่พวกเราทุกๆ คน ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคณะผู้จัดงานที่จะจัดงาน Sustainability Expo อย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืนให้สำเร็จตามเป้าหมายของโลกในปี 2030"
นอกจากนี้ มาลองฟังเสียงสะท้อนจากบุคคลสำคัญ และผู้ร่วมงานที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ อาทิ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า จำนวนคนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น และร่วมกันใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดจนหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาจริงๆ จึงอยู่ที่การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ภารกิจของเราคือต้องรักษาโลกนี้เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานของเรา ถ้าเราใช้ทรัพยากรจนหมดในวันนี้ลูกหลานของเราจะอยู่อย่างไร
Gita Sabharwal UN Resident Coordinator in Thailand กล่าวว่า เราแต่ละคนต้องให้คำนิยามความยั่งยืนว่ามีความหมายต่อพวกเราอย่างไร ตราบใดที่พวกเราทำตามหัวใจ ทำตามความชอบ และตามพลังที่มี
Nicky Clara Disabilities Womenpreneur and Founder of Berdayabareng กล่าวว่า จงมีทัศนคติแห่งความเพียงพอ บางทีเราก็ลืมคำว่าพอไป เราไม่สามารถเลือกได้ว่าเราจะเกิดมาอย่างไร แต่เราสามารถเลือกได้ว่าเมื่อเราจากโลกนี้ไป จะถูกจดจำอย่างไร และคุณต้องการให้โลกนี้จดจำสิ่งใด
นายเรอโน เมเยอร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผู้คนได้ยินเรื่อง Climate Change มากมาย แต่พวกเขายังไม่ได้ฟังเสียงเรียกร้องที่มาจากธรรมชาตินี้อย่างจริงจัง ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคน ไม่เฉพาะแต่ทางภาครัฐจะต้องช่วยกันลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เช่นนั้นมันอาจจะถึงจุดจบของมนุษยชาติ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ดีใจที่เห็นเอกชน ประชาชน มีความตื่นตัวมากขึ้น สิ่งที่สำคัญพอกันคือ ภาครัฐเองก็ต้องเร่งทำ เร่งกระตุ้นในภาครัฐด้วยกันเอง นโยบายทั้งหลาย ถ้าไม่ได้นำไปปฏิบัติใช้ มันก็จะกลายเป็นแค่เศษกระดาษเท่านั้น ผมเชื่อมั่นในศักยภาพคนไทยทั้ง 66 ล้านคน ถ้าเราทำด้วยกัน เราสามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าทำด้วยกัน ไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้ Together possible
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือ หรือ COLLABORATION แบบ CROSS-INDUSTRY จะทำให้ความรู้เรากว้างขึ้น เป็นความร่วมมือ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะเป็นกำลังมหาศาล เราไม่จำเป็นต้องแข่งขันกัน เรา FOCUS ที่ลูกค้า ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน การศึกษา ประชาสังคม ต้อง COLLABORATION ด้วย ถ้าร่วมมือกัน เราก็จะหักโค้ง ก่อนชนได้ทัน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า "วิกฤติ" ทำให้คนวิ่งเร็วที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของนวัตกรรม และวิกฤติเป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้ ทำให้เป็นโอกาส ให้เราปรับตัวให้อยู่ตรงนี้ได้ ถ้าบริษัทปรับได้ อยู่ได้ ก็จะเติบโตอย่างยั่งยืน มี 3 มิติ ที่ไม่ค่อยมาพร้อมกันคือ การเงิน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ความสำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะหาจุด BALANCE ของ 3 มิติ นี้ได้
ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด กล่าวว่า ขยะไม่มีในโลก มันคือทรัพยากรที่สร้างรายได้ สร้างบ้านหลังใหญ่ เมื่อคัดแยกแล้ว ของเหล่านี้จะไม่ใช่ขยะ เมื่อคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือสินค้าของเราทุกคน เป็นการสร้างโอกาสให้แก่เรา
นายอาทิวราห์ คงมาลัย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิก้าวคนละก้าว กล่าวว่า สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นแต่งเพลง ร้องเพลง หรือทำมูลนิธิเพื่อน้องๆ เพื่อโรงพยาบาล เราอยากทำมันเต็มที่ ทำในแบบของเรา โดยที่เราไม่ได้คิดจะไปเปลี่ยนอะไรที่เป็นเรื่องใหญ่ สิ่งที่เราได้ลงแรง ได้ตั้งใจทำด้วยกันกับทุกๆ คน คือปลายทางที่มีความสุขและเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ
นางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ นักสิ่งแวดล้อมและธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า อยากเห็นเอกชน เป็นผู้นำตลาดที่ดีและเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภค สนับสนุนสังคมมากขึ้น รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิต การสร้างพื้นที่ชุมชนสีเขียว และการแผ่กำลังไปสนับสนุนพื้นที่ที่ห่างไกลส่วนของภาครัฐ ต้องจริงจังมากขึ้น มีกฎหมายที่จริงจังและมี incentive ให้คนมากยิ่งขึ้นน่าจะดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นายเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจ Media and Event Amarin Group กล่าวว่า การจัดงานให้ยั่งยืน ไม่อยากให้เป็น KPI แต่อยากให้เป็นวัฒนธรรม และไม่ใช่คำสั่งครั้งต่อครั้ง แต่ให้เป็นกิจวัตรหรือนิสัย
ท้ายสุดเสียงจากหนูน้อยเยาวชน ด.ช.อัศดิศ แดงแก้ว (น้องอาษา) อายุ 5 ขวบ กล่าวว่า หนูมาปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว สนุกมาก หนูได้เห็นแมลงเยอะๆ ด้วย ที่นี่ก็สอนแยกขยะด้วย เหมือนที่โรงเรียนหนูเลย ปีหน้าหนูจะมาอีก เพราะแม่บอกว่ามีอีกหลายเรื่องที่หนูต้องเรียนรู้เพื่อโลกของเราครับ
ด.ช.อัครินทร์ เกษมเวชยานนท์ อายุ 7 ขวบ กล่าวว่า วันนี้ผมมา Kid zone ตื่นเต้นมากๆ ได้เข้ามาดู Bug Wonders ได้เห็นโลกของแมลงจริงๆ ผมเห็นตัวเลย ที่ผมชอบคือ ผีเสื้อราชินี ปลวก มันเหมือนจริงมากๆ และได้เล่นกิจกรรมตามฐานด้วย เล่นเกมแยกขยะด้วย ว่าขยะแบบไหนควรทิ้งถังขยะสีอะไร ทำให้ได้รู้ว่าต้องทิ้งขยะอย่างไรให้ถูกถัง และที่ผมชอบมากๆ คือ โซนหุ่นยนต์ พี่ๆ สอนให้ได้เรียนรู้และลงมือประดิษฐ์หุ่นยนต์จากการต่อวงจรไฟฟ้าครับ
ทั้งหมดนี้ คือพลังแห่งโลกอนาคตที่ยั่งยืนของพวกเราทุกคน สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่าน application SX และเว็บไซต์ ได้ตลอดทั้งปี