ผ่าแนวคิดอภิมหาโปรเจกต์ 'วัน แบงค็อก' ยกระดับความยั่งยืน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ผ่าแนวคิดอภิมหาโปรเจกต์ "วัน แบงค็อก" มูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท มุ่งยกระดับความยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
ฉายแนวคิดอภิมหาโปรเจกต์อสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจร "วัน แบงค็อก" มูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท บนที่ดิน 108 ไร่ หัวถนนถนนพระราม 4 ตัดกับถนนวิทยุ ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยอาคารสำนักงานแบบพรีเมียม พื้นที่รีเทล ที่พักอาศัยระดับลักชัวรี โรงแรมระดับลักชัวรีและไลฟ์สไตล์ และพื้นที่แสดงงานทางศิลปะและวัฒนธรรมทั่วทั้งโครงการ
จากแนวคิดการเนรมิตพื้นที่ใจกลางเมืองแห่งนี้ ตั้งเป้าเป็น "ศูนย์กลางไลฟ์สไตล์ครบวงจรระดับโลก" หรือ Global Integrated Lifestyle Hub ที่ให้ความสำคัญกับผู้คน ชุมชน สังคม ตลอดจนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้เวลาการพัฒนานานนับ "ทศวรรษ" กว่าจะสำเร็จเป็น "เมืองกลางใจ" ที่ใช้ใจสร้างในทุกตารางนิ้ว พร้อมยกระดับกรุงเทพฯ สู่มหานครระดับโลก
ณัฐนี วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนโครงการวัน แบงค็อก กล่าวว่า วัน แบงค็อก (One Bangkok) ถือเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ "ต้นแบบ" ความยั่งยืนที่ทำให้ผู้คนสามารถสัมผัสได้ถึงความยั่งยืนที่ "ไม่ใช่" เรื่องไกลตัว และทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ ในมุมมองของผู้พัฒนาโครงการฯ ความยั่งยืน "ไม่ใช่" แค่เรื่องสีเขียว หรือสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการให้ความสำคัญกับผู้คนในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความใส่ใจตั้งแต่การวางแผนโครงการ การออกแบบ การก่อสร้าง และใช้งาน เพื่อให้การใช้ชีวิตของผู้คนมีความสะดวกสบาย และมีคุณภาพยิ่งขึ้น
จากการสร้างโครงการฯ ขนาดใหญ่เสมือนเป็นการสร้างเมืองขนาดย่อมที่ส่งเสริมให้คนที่เข้ามาใช้ชีวิตในพื้นที่รู้สึกอิ่มเอิบท้้งทางร่างกายและจิตใจ หนึ่งในองค์ประกอบการออกแบบที่สำคัญคือการสร้าง "เมืองที่เดินได้" เริ่มต้นจากรูปแบบของโครงการเป็น "มิกซ์ยูส" ที่มีความครบวงจร และองค์ประกอบที่หลากหลายอยู่บนพื้นที่เดียวกัน เอื้อให้คนสามารถใช้การเดินเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในแต่ละวัน อาทิ คนที่อยู่ออฟฟิศอาจจะอยากเดินไปซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตก่อนที่ลงรถไฟฟ้ากลับบ้าน หรือคนที่เข้ามาพักในโรงแรมสามารถเดินไปติดต่อธุรกิจกับบริษัทที่ตั้งอยู่ภายในโครงการฯ ได้
ณัฐนี อธิบายว่า พื้นฐานที่สำคัญของการสร้างเมืองที่เดินได้ มาจาก "การวางมาสเตอร์แพลน" ที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถเดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้อย่างสะดวก ภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยโครงการมีระยะทางเดินยาวต่อเนื่องรวม 5 กิโลเมตร โอบล้อมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์เรียงรายยาว 2.6 กิโลเมตร อีกทั้งทางเดินยังกว้างขวางเพื่อให้ทุกคนได้เดินเล่นพักผ่อนได้อย่างสบายใจ เสริมด้วยพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่งที่มากถึง 50% ของพื้นที่ดินโครงการทั้งหมด โดยพื้นที่เหล่านี้ยังได้รับออกแบบตามมาตรฐานการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการใช้รถเข็น หรือการปูทางเท้าสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น
โครงการ วัน แบงค็อก ถือเป็นโมเดลของ "สมาร์ทซิตี้" ที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานอาคารและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในโครงการตลอด 24 ชั่วโมง ด้วย District Command Center ศูนย์บัญชาการกลางที่ควบคุมบริหารจัดการระบบต่าง ๆ และดูแลความปลอดภัยภายในโครงการ ด้วยเซ็นเซอร์อัจฉริยะกว่า 250,000 ตัว ที่ทำหน้าที่ตรวจวัดผลการใช้พลังงาน การใช้น้ำ และคุณภาพอากาศ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้วางแผนการพัฒนาการบริหารจัดการต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ยังใช้ระบบทำน้ำเย็นจากระบบรวมศูนย์และส่งผ่านผ่านท่อใต้ดินไปยังแต่ละอาคาร ในโครงการวัน แบงค็อก โดยคาดว่าระบบดังกล่าว จะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 17,000 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 9,000 ตันต่อปี
ขณะเดียวกันในส่วนของการก่อสร้าง มีเลือกใช้วัสดุและการจัดการวัสดุเหลือใช้ในกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน "หัวใจสำคัญ" ของการบริหารจัดการของวัน แบงค็อก โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ก่อสร้างเพื่อสร้างนวัตกรรมในการ "ลดผลกระทบ" ต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบัน และอนาคตในระยะยาว
โครงการฯ เริ่มตั้งแต่การวางแผนการก่อสร้างส่วนแรกที่สุด คือ ฐานรากของโครงการ ซึ่งได้ร่วมกับบริษัท ซีแพค เพื่อพัฒนา "คอนกรีตความร้อนต่ำ" ที่ปล่อยความร้อนน้อยระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง และให้กำลังอัดสูง ด้วยส่วนผสมรีไซเคิลสูงถึง 50%
ตัวอย่างจัดการรขยะจากการก่อสร้าง ได้แก่ การนำเศษคอนกรีตจากการตัดเสาหัวเข็มที่เหลือใช้มารีไซเคิลมาเป็นวัสดุในการผลิตผนังหล่อสำเร็จรูปที่นำมาใช้ในโครงการ และการพัฒนาการจัดการขยะจากการก่อสร้างโครงการแบบองค์รวม เพื่อพัฒนาการคัดแยกและส่งขยะก่อสร้างกลับไปรีไซเคิล
นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ เอสซีจี จัดการเศษอาหารด้วยเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงที่ทำการย่อย แปรรูปเศษอาหารและขยะอินทรีย์ให้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน เพื่อใช้ปลูกต้นไม้ภายในโครงการและนำไปแจกจ่ายให้สวนสาธารณะและชุมชนรอบข้าง
"โครงการที่ยั่งยืน ไม่ได้มีความหมายแค่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะต้องเป็นเมืองที่ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างคุณค่าให้สังคมและเมืองนั้นๆ"
โครงการ วัน แบงค็อก ได้รับการรับรอง LEED for Neighbourhood Development ในระดับ Platinum ซึ่งเป็นโครงการแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองนี้ ซึ่งยืนยันถึงคุณภาพการออกแบบและก่อสร้างโครงการ อาคาร และโครงสร้างพื้นฐานว่า คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ และใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้คนและเมือง
นอกจากนี้ อาคารสำนักงานภายในโครงการยังมุ่งรับการรับรอง WELL Building ระดับ Platinum ซึ่งบ่งชี้ถึงการออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารงานที่ส่งเสริมสุขภาพของผู้ใช้อาคาร เริ่มตั้งแต่อาคารที่ให้เปิดให้เห็นทิวทัศน์ภายนอกและรับแสงธรรมชาติ ระบบจ่ายอากาศที่บริสุทธิ์ผ่านการกรองฝุ่นและฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี การก่อสร้างที่ควบคุมสารเคมีจากวัสดุตกแต่งภายใน ไปจนถึงการใช้เซ็นเซอร์ต่างๆเพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ตรงตามวิสัยทัศน์ความยั่งยืนสู่เมืองอัจฉริยะของอภิมหาโปรเจกต์ "วัน แบงค็อก" ที่มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานด้านความยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลจากการประเมินภายในของ วัน แบงค็อก ระบุว่า โครงการจะสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 32,000 เมกะวัตต์ชั่วโมง/ปี และประหยัดน้ำประปาได้ 3.7 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยเมืองขนาดย่อมแห่งนี้จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 35,540 ตัน/ปี