หุ้นปันผลสูง ทางรอด ลดแรงกระแทก ฝ่าวิกฤติ?
ในช่วงที่เงินเฟ้อทรงตัวระดับสูง มีความเป็นไปได้ว่า หุ้นกลุ่มที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงจะเป็นทางเลือกแรกๆ ที่นักลงทุนสนใจ หนึ่งในนั้นคือ "High Dividend Yield & High Dividend Growth" ส่วนจะมีความน่าสนใจอย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้
ในช่วงที่ เงินเฟ้อ ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ธนาคารกลางต่างก็ยังคงมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนในหุ้นเติบโตสูงอาจจะไม่ตอบโจทย์มากนัก แต่ในขณะเดียวกันก็มีหุ้นบางประเภทที่มักจะให้ผลตอบแทนได้ดี และช่วยลดความผันผวนในสภาวะปัจจุบันได้ หลายท่านอาจจะนึกถึงหุ้นกลุ่ม Defensive อย่างกลุ่ม Health Care, กลุ่ม Consumer Staples, กลุ่ม Utilities หรือกระทั่งกลุ่ม REITs ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ผิด แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ กลุ่ม "High Dividend Yield & High Dividend Growth" หรือหุ้นกลุ่มที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูง รวมถึงมีการเติบโตของอัตราเงินปันผลที่สูง ซึ่งจากที่ได้ศึกษามาพบว่า หุ้นกลุ่มนี้มักให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดหุ้นโดยรวมในสภาวะดังกล่าว และช่วยลดความผันผวนโดยรวมให้กับพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุนได้ดี
- หุ้นกลุ่มปันผลสูงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นโดยรวมในช่วง 22 ปี ที่ผ่านมา
หากศึกษาย้อนกลับไป 22 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2000 จะพบว่า ช่วงเวลาดังกล่าวตลาดหุ้นโลกต้องเผชิญกับหลายวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติ Dot.com (ปี1998-2000), Subprime (ปี 2007-2010), COVID-19 (ปี 2020-2021) ซึ่งในแต่ละครั้งตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงแรงทุกครั้ง แต่ก็สามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาและทำจุดสูงสุดใหม่ได้ แต่หากดูจากภาพที่ได้เปรียบเทียบระหว่าง ดัชนี MSCI ACWI High Dividend Yield Net Total Return USD Index ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นกลุ่มปันผลสูง กับ MSCI ACWI Net Total Return USD Index ซึ่งเป็นตัวแทนหุ้นทั่วโลก จะเห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มปันผลสูง เวลาเจอวิกฤติก็มีทิศทางปรับตัวลงเป็นทิศทางเดียวกันกับหุ้นโลก แต่ในช่วงเวลาที่ตลาดกลับตัวจะสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่า จนในท้ายที่สุดหลังผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง กลุ่มปันผลสูงก็จะสามารถทำผลตอบแทนโดยรวมได้ดีกว่าตลาดหุ้นโลกอย่างเห็นได้ชัด หากนับตั้งแต่ 12 ต.ค. 2000 - 11 ต.ค. 2022 กลุ่มปันผลสูงสร้างผลตอบแทนสะสมได้ +244% เทียบกับหุ้นโลกที่ +187% สามารถสร้างส่วนต่างได้ถึง 57% เลยทีเดียว
รูปที่ 1 : แสดงผลตอบแทนระหว่าง ดัชนี MSCI ACWI High Dividend Yield Net Total Return USD Index กับ MSCI ACWI Net Total Return USD Index ช่วง 12 ต.ค.2000 – 11 ต.ค. 2022
ที่มา : Bloomberg data as of 12 Oct 2022
- หุ้นกลุ่มปันผลสูงจะช่วยสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ดีขึ้นเมื่อเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น "High Dividend Fight Inflation"
ในช่วงที่ เงินเฟ้อ ทรงตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส และ สงครามรัสเซีย-ยูเครน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนและกำลังเกิดขึ้นคือการที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเพิ่มความเข้มงวดของนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้นโดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเติบโตสูงที่บริษัทมักจะมีภาระดอกเบี้ยที่ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม พบว่าหุ้นกลุ่มปันผลสูงมักจะให้ผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่มีการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ
จากภาพเป็นการเทียบอัตราผลตอบแทนระหว่างกลุ่มหุ้นปันผลสูง (กราฟแท่งสีเหลือง) กับดัชนี S&P500 (กราฟแท่งสีฟ้า) ในแต่ละช่วงของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ระหว่างปี 1970-2021 ซึ่งเห็นได้ว่าในช่วงที่เงินเฟ้อ (Headline CPI) อยู่สูงกว่าระดับ 6% ขึ้นไป จะเป็นช่วงที่หุ้นปันผลให้ผลตอบแทนโดดเด่นที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงเงินเฟ้ออื่นๆ สะท้อนภาพในปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ (Headline CPI) ที่ระดับ 8% และอาจจะอยู่ในระดับมากกว่า 6% ไปอีกระยะ 1 ปี ข้างหน้า
รูปที่ 2 : แสดงการเปรียบเทียบผลตอบแทนในช่วง 12 เดือนระหว่างกลุ่มหุ้นปันผลสูงหุ้นกลุ่มปันผลสูง กับดัชนี S&P500 ในแต่ละช่วงของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ระหว่างปี 1970-2021
- หุ้นกลุ่ม Dividend Growth มักจะปรับขึ้นได้ดี ภายหลัง Fed ขึ้นดอกเบี้ย
ภายหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ มักจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นจนอาจจะทำให้เกิดการพักฐานเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่หลังจากนักลงทุนได้ซึมซับปัจจัยดังกล่าวไปมากแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องกลับมาโฟกัสที่ปัจจัยพื้นฐานอีกครั้ง และกลุ่มที่นักลงทุนจะกลับมาสนใจเป็นอันดับต้นๆ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ยคงหนีไม่พ้นกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแรง มีรายได้และกำไรแข็งแกร่ง รวมถึงมีการเติบโตของการจ่ายปันผลที่ดี จากภาพจะเห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่ม Dividend growers (มีการเติบโตของการจ่ายปันผล) เป็นกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี รองลงมาก็ยังคงเป็นกลุ่ม Payers with no change in dividends (หุ้นกลุ่มที่มีการจ่ายปันผลสูงแต่ไม่ได้มีแนวโน้มจะจ่ายเพิ่มขึ้น) ส่วนกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนที่น้อยที่สุดหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยคือกลุ่มที่ลดการจ่ายปันผล จะเห็นได้ว่าปัจจัยในด้านของเงินปันผลนั้น มีผลมากกับการฟื้นตัวของหุ้น
รูปที่ 3 : แสดงการปรับตัวขึ้นของหุ้นที่มีลักษณะการจ่ายเงินปันผลที่แตกต่างกัน ภายหลังจากที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย
ภาพรวมแล้ว บรรยากาศการลงทุนในปัจจุบันยังคงเป็นช่วงที่เงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูง และอาจจะไม่ปรับลดลงเร็วนัก ดังนั้น บรรยากาศเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้ธนาคารกลางในหลายประเทศยังคงต้องใช้นโยบายที่เข้มงวด ซึ่งสิ่งแวดล้อมแบบนี้ยังคงจะสร้างความผันผวนและกดดันตลาดหุ้นไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บรรยากาศเหล่านี้ก็มีทิศทางที่เริ่มผ่อนคลายลง และอาจเข้าใกล้ปลายวัฏจักรของการขึ้นดอกเบี้ย จนอาจจะเป็นจุดที่นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งจากข้อมูลที่เราได้นำเสนอมาข้างต้นนั้น ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าหุ้น "High Dividend Yield & High Dividend Growth" หรือหุ้นกลุ่มที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูง จะเป็นทางเลือกแรกๆ ที่นักลงทุนสนใจ เนื่องจากมีการฟื้นตัวได้ดีและให้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่ดีเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโดยรวม
ที่มา : Bloomberg
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมา และพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสม และรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยง และเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 -2633-6000 กด 4 0-2080-6000 กด 4 และ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds