"วัคซีนสัญชาติจีน" ความหวังสูงสุดที่จะช่วยให้จีนหลุดพ้นมาตรการล็อกดาวน์
สร้างความกังวลไม่น้อยสำหรับโควิดในจีน หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงอีกครั้ง นำไปสู่การล็อกดาวน์ระลอกใหม่ในหลายเมือง แต่ความพยายามในการพัฒนา "วัคซีนโควิด" ตัวใหม่ๆ คาดว่าจะเป็นความหวังของจีนให้กลับมาผ่อนคลายมาตรการ และเปิดประเทศได้ในไม่ช้า
จีน กลับมาเผชิญหน้ากับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดที่กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มขึ้นแตะระดับ 29,754 รายต่อวัน ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเมษายนที่ผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 28,973 ราย โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในเมืองใหญ่อย่าง ปักกิ่ง กว่างโจว และฉงชิ่ง ส่งผลให้ทางการจีนกลับมาเร่งตรวจโควิด มีการปิดออฟฟิศ และโรงเรียนบางส่วน รวมถึงมีการสร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม
ล่าสุด ทางการจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองเจิ้งโจว และควบคุมการเข้าออกของประชาชนในวันที่ 25 – 29 พฤศจิกายน หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีการกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดอีกครั้ง แต่มองว่าการกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดเป็นระยะเวลานาน มีความเป็นไปได้ลดลง เพราะจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
ตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การเดินทางในหลายหัวเมืองสำคัญชะลอตัว
ที่มา: Bloomberg
วัคซีนจาก Cansino Biologics และ Livzon Pharmaceutical หรือจะเป็นความหวังของจีน
ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ในจีนได้รับ "วัคซีนโควิด" ยี่ห้อเดียวกันและเป็นวัคซีนเชื้อตายที่ผลิตโดย Sinopharm Group หรือ Sinovac Biotech ซึ่งการใช้วัคซีนเชื้อตายนั้น หลายสำนักมองว่า อาจจะไม่เพียงพอที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสและการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับ WHO (World Health Organization) ที่มองว่า การใช้วัคซีนประเภทเดียวกันอาจจะไม่เหมาะสมและยั่งยืน
โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน ได้มีการจัดสัมมนาผ่านช่องทางออนไลน์เกี่ยวกับการรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันระหว่างเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สอง โดยวัคซีนที่ถูกนำมาพูดถึงในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ วัคซีนที่ผลิตมาจากบริษัท Cansino Biologics Inc. บริษัทสัญชาติจีนที่ผลิต adenovirus vector vaccine โดยนำไวรัสอะดีโนมาดัดแปลงพันธุกรรมไม่ให้สามารถแบ่งตัวได้ และใส่สารพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 ลงไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและสร้าง antibody ต่อไวรัส COVID-19 ได้ดี และบริษัท Livzon Pharmaceutical Group Inc. อีกบริษัทวัคซีนสัญชาติจีนที่มีการผลิต recombinant protein vaccine หรือวัคซีนที่ผลิตจากการตัดต่อโปรตีน โดยมองว่า แนวโน้มการใช้วัคซีนที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ต่างกัน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับประชาชนจีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในรอบกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นของบริษัท Cansino และ Livzon ปรับตัวขึ้นกว่า 160% และ 40% ตามลำดับ
ที่มา: TradingView
ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา หน่วยงานด้านสุขภาพ Chinese Health Authorities ได้อนุมัติ "วัคซีนโควิด" ที่ผลิตจากการตัดต่อโปรตีนของบริษัท Livzon Pharmaceutical Group Inc. เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน และใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมจากวัคซีนของบริษัท Sinovac และ Sinopharm โดยวัคซีนดังกล่าวอยู่ในการทดลอง Phase 3 (Clinical Stage) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัส COVID-19 ที่ระดับ 61.35% และถือว่าผ่านเกณฑ์ของทาง WTO ประกอบกับผลการศึกษาบ่งชี้ว่า เหมาะแก่การนำมาใช้ในผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติวัคซีนแบบสูดดมตัวแรกที่ผลิตจากบริษัท Cansino Biologics Inc. เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน และสำหรับแจกจ่ายผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายไปแล้ว 2 เข็ม เป็นระยะเวลานานเกิน 6 เดือน อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามถึงประสิทธิภาพในการรักษาและผลข้างเคียงต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลยังมีจำกัด
โดยภาพรวม ถึงแม้ว่าทางการจะยังคงยึดมั่นในการใช้มาตรการ Zero-COVID อยู่ แต่ได้เห็นแนวโน้มของการเปิดเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการผ่อนคลายกฏเกณฑ์การเดินทางและการล็อกดาวน์ รวมถึงความพยายามในการพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมในการรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งความสำเร็จของวัคซีนดังกล่าว จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ที่จะทำให้ทางการจีนกลับมาผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพิ่มเติมมากขึ้น และทำให้โอกาสที่จะเห็นจีนกลับมาเปิดเมืองในช่วงครึ่งปีแรกตามที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์มีเพิ่มมากขึ้น และจะช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นจีนกลับมาฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นในช่วงปี 2023
ที่มา: Bloomberg, Caixinglobal.com
ข้อมูล บทความทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ www.tiscoasset.com หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds