จับตาราคาข้าวโลกปรับขึ้นต่อเนื่อง อาจดันเงินเฟ้อกลุ่มตลาดเกิดใหม่พุ่งขึ้น

จับตาราคาข้าวโลกปรับขึ้นต่อเนื่อง อาจดันเงินเฟ้อกลุ่มตลาดเกิดใหม่พุ่งขึ้น

จับตาหลังราคาข้าวโลกปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างไร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ต้องติดตาม

ในระยะที่ผ่านมา ราคาข้าว ของโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยยะจากหลายปัจจัย โดยหลายพื้นที่ในหลายประเทศกำลังเผชิญกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของพืชเศรษฐกิจรวมถึงข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของประชากรกว่าสามพันล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก โดยราว 90% เพาะปลูกในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ ความต้องการนำเข้าข้าวที่ปรับสูงขึ้นในหลายประเทศ ประกอบกับมาตรการการควบคุมการส่งออกข้าวของประเทศส่งออกขนาดใหญ่ อาจผลักดันราคาข้าวให้พุ่งสูงขึ้นไปอีก จากที่ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วราว 15 - 20% นับตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปีที่แล้ว และส่งผลต่อ อัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ล่าสุดราคาข้าวในเดือนกรกฎาคม ปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี สะท้อนถึงแรงกดดันจากอุปทานผลผลิตข้าวของโลกในภาพรวม

ราคาข้าวเดือนกรกฎาคมปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2018

จับตาราคาข้าวโลกปรับขึ้นต่อเนื่อง อาจดันเงินเฟ้อกลุ่มตลาดเกิดใหม่พุ่งขึ้น ที่มา : Thai Rice Exporters Association, Bloomberg

ความเสี่ยงภาวะน้ำท่วมในประเทศจีนอาจกระทบราคาข้าวโลกพุ่งขึ้น

ขณะนี้ ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลกกำลังเผชิญกับปัญหาฝนตกหนัก และน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นทกซูรี โดยเฉพาะในกรุงปักกิ่งซึ่งมีฝนตกรุนแรงที่สุดในรอบ 140 ปี รวมถึงภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างมองโกเลียใน (Inner Mongolia), มณฑลจี๋หลิน และมณฑลเฮย์หลงเจียง ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ราว 1 ใน 4 ของพื้นที่เพาะปลูกผลผลิตทั่วประเทศ โดยเฮย์หลงเจียงยังเป็นภูมิภาคปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน คิดเป็นสัดส่วนราว 13.7% นอกจากนี้ประเทศจีนยังเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมจากไต้ฝุ่นขนุนที่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลต่อการปรับขึ้นของราคาธัญพืชรวมถึงข้าวภายในประเทศจีน และผลักดันความต้องการนำเข้าข้าวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง เพื่อชดเชยผลผลิตที่ลดลงและปริมาณสำรองข้าวของทางภาครัฐ ซึ่งอาจผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับสูงขึ้น 

อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวบางส่วน ด้านกลุ่มอาเซียนเผชิญกับความผันผวนของผลผลิต

ความกังวลด้านอุปทานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่อินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกข้าวที่ใหญ่ ประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวยกเว้นพันธุ์บาสมาติ (Basmati) เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนที่ไม่ปกติ ส่งผลต่อความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารและ อัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ประเทศอินเดียเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวมาเป็นระยะเวลานาน โดยยอดส่งออกในปี 2022 อยู่ที่ 22.3 ล้านตัน ส่งออกไปมากกว่า 140 ประเทศ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของส่วนแบ่งตลาดข้าวทั่วโลก ซึ่งถึงแม้ว่าการที่ประเทศอินเดียประกาศงดการส่งออกข้าวคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อย แต่อาจขยายไปสู่สินค้าเกษตรกรรมอื่นๆ อย่างเช่น น้ำตาล และอาจก่อให้เกิดความผันผวนของราคาอาหารในระยะข้างหน้าได้ ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม ราคาอาหารซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของตะกร้า เงินเฟ้อ พุ่งขึ้นสูงถึง 11.51% ส่งผลให้เงินเฟ้อล่าสุดของอินเดียพุ่งขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน ที่ 7.44% โดยสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และอยู่เหนือกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่ 2 - 6% 

ราคาอาหารที่ปรับขึ้นหนุนเงินเฟ้ออินเดียพุ่งขึ้นในรอบปี

จับตาราคาข้าวโลกปรับขึ้นต่อเนื่อง อาจดันเงินเฟ้อกลุ่มตลาดเกิดใหม่พุ่งขึ้น ที่มา : India Statistics Ministry, Bloomberg

นอกจากนี้ ประเทศในแถบตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทย ซึ่งเป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่กำลังเผชิญกับภาวะแล้งและปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าระดับปกติราว 40% ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว อีกทั้งภาครัฐยังสนับสนุนให้เกษตรกรลดการเพาะปลูกลง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับหน้าแล้ง ส่งผลให้ราคาข้าวไทยเพิ่มขึ้น +20% ตั้งแต่ต้นปี ด้านประเทศเวียดนามเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติ ส่งผลต่อการผลิตและการเก็บเกี่ยว และกระทบต่อคุณภาพของข้าวเวียดนาม ผลักดันราคาข้าวให้ปรับสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ กำลังเจรจานำเข้าข้าวจากเวียดนาม และอินเดียเพิ่มเติม เป็นต้น

ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในช่วงที่ผ่านมา และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เร่งตัวขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเนื่องไปยังการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางในแต่ละประเทศ โดยนักลงทุนควรจับตาความผันผวนของราคาข้าว และสินค้าเกษตร เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ สำหรับประกอบการตัดสินใจในการลงทุน 

ที่มา : Bloomberg, Fitch Ratings, CNBC

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมา และพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสม และรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยง และเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0-2633-6000 กด 4, 0-2080-6000 กด 4 และ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds