อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ จะพุ่งขึ้นสูงไปกว่านี้หรือไม่
มาประเมินกันว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ จะปรับตัวสูงขึ้นหรือน้อยลงขนาดไหน และจากปัจจัยอะไรบ้าง มาติดตามไปพร้อมกัน
หลังจากการประชุม Fed ครั้งล่าสุด ที่ถึงแม้จะมีการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% แต่หลังจากที่ Jerome Powell ประธาน Fed ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ในระดับสูงยาวนานขึ้น (Higher for Longer) รวมถึงการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ที่มีการส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน พันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี ที่ราว 4.8% และทำให้ทั้งตลาดหุ้นและตลาด ตราสารหนี้ เกิดความผันผวนในช่วงที่ผ่านมา
คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และความน่าจะเป็นของทิศทางอัตราดอกเบี้ย
ที่มา : Financial Times, CME FedWatch Tool
ประเด็นอื่นๆ ที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น
นอกเหนือจากทิศทางของ Fed ในการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่สามารถทำให้อัตราผลตอบแทน พันธบัตรสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
- ความเสี่ยงจากการปิดหน่วยงานรัฐชั่วคราว (Government Shutdown) หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติร่างงบประมาณได้ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นี้
- สัดส่วนการถือครองพันธบัตรสหรัฐของญี่ปุ่นและจีนลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยทั้ง 2 ประเทศ ลดสัดส่วนการถือครองพันธบัตรสหรัฐเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินของประเทศตัวเองซึ่งญี่ปุ่นและจีนเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรสหรัฐมากที่สุด 2 อันดับแรก
- การขาดดุลการคลังกดดันให้กระทรวงการคลังสหรัฐต้องกู้เงินเพิ่มผ่านการออกพันธบัตร
- ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงออกมาแข็งแกร่งต่อเนื่อง
ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2566
ที่มา : Goldman Sachs Global Investment Research, LGT
นอกจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแล้ว นักลงทุนยังมองไปถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปราศจาก เงินเฟ้อ คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่หักอัตราเงินเฟ้อที่คาดหวัง โดยในขณะนี้ Real Yield พุ่งสูงขึ้นแตะระดับราว 2% สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปี 2008 ยิ่งทำให้เกิดความกังวลว่า หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อ อาจจะยิ่งกดดันผลตอบแทนของทั้งตลาด ตราสารหนี้ และตลาดหุ้นมากกว่าเดิม
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปราศจากเงินเฟ้อ
ที่มา : FRED, TISCO ESU
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะไปหยุดอยู่ที่ตรงไหน
หากพิจารณาปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทน พันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปี จากถ้อยคำแถลงของ Fed อย่างละเอียด จะเห็นได้ว่าถึงแม้ Fed จะส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในรอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ แต่หลังจากนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี อาจจะปรับตัวขึ้นได้อย่างจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอาจกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว อาทิ ดัชนีคาดการณ์ตัวเลขเปลี่ยนแปลงการจ้างงาน และดัชนีผู้ผลิตที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ Fed ตัดสินใจเริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนี้
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยใหม่ๆ ที่กดดันภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐ ได้แก่ 1) การกดดันให้ประธานสภาสหรัฐลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด Government Shutdown และ 2) การหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานรถยนต์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตภายในประเทศ
ด้วยสัญญาณเศรษฐกิจที่เริ่มแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้มองว่าหลังจากนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี จะเริ่มปรับขึ้นได้อย่างจำกัด จึงเป็นจังหวะที่ดีที่ควรเริ่มทยอยสะสมกองทุนที่มีนโยบายลงทุน ตราสารหนี้ สหรัฐ เนื่องจากราคาของตราสารหนี้จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเริ่มปรับตัวลดลง
ที่มา : Bloomberg, Financial Times, LGT, TISCO ESU, Nikkei Asia, Goldman Sachs Global Investment Research, RBC, CME FedWatch Tool, FRED
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และเว็บไซต์ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds