การพัฒนาระบบนิเวศตลาดทุนไทย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ
ชวนวิเคราะห์เจาะลึกปัญหาด้านคุณภาพหนี้ในระบบนิเวศของตลาดทุนไทยในปัจจุบัน พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
รายงานการศึกษาล่าสุด โดย บริษัท ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง จำกัด หรือ ดีลอยท์ เรื่อง "The future of distressed debt in Thai capital markets" ชี้ถึงโอกาสในการพัฒนา ระบบนิเวศตลาดทุนไทย โดยการแก้ไข ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ อย่างมีประสิทธิภาพ รายงานฉบับนี้พาไปเจาะลึกถึงปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อและตราสารหนี้ในไทย ตลอดจนวิเคราะห์ถึงปัญหาด้านคุณภาพหนี้ในระบบนิเวศของตลาดทุนไทยในปัจจุบัน จากมุมมองของกลไกตลาด กฎระเบียบ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพของตลาดทุนไทย โดยอ้างอิงจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ
หนี้ด้อยคุณภาพ (Distressed Debt) ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมีนัยสําคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากวิกฤตการณ์ทางการเงินตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1997 ที่ส่งผลให้สถาบันการเงินมากกว่า 60% ของประเทศเกือบล้มละลาย และมีอัตราการเติบโตขึ้นของ หนี้เสีย เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2% ต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดทุนของไทยในการจัดการกับปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans) ในไทย มีมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2022 โดยกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME คิดเป็นประมาณ 50% ของ NPLs คงค้างในตลาด
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ Special Mention Loan (หมายถึงเงินกู้ที่ค้างชําระ 30 ถึง 90 วัน) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 12.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2019 เป็น 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2023 ผู้เชี่ยวชาญในตลาดเปิดเผยว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของ SMLs ในระบบสถาบันการเงินจะกลายเป็น หนี้เสีย ภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งบ่งชี้ถึงศักยภาพการเติบโตของตลาด NPLs ในอนาคตอันใกล้
ในทางกลับกัน ตลาดตราสารหนี้ด้อยคุณภาพ (Distressed Bond) ในประเทศไทยเริ่มมีบทบาทสำคัญในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ตลาดมีการเติบโตมากถึง 683% จากปี ค.ศ. 2019 ถึง 2023 อย่างไรก็ตาม ตลาดตราสารหนี้ด้อยคุณภาพในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าสินเชื่อ NPL
แม้ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาตลาดหนี้ด้อยคุณภาพมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 แต่ยังคงพึ่งพาบริษัทบริหารสินทรัพย์ในการแก้ไข ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ รวมถึงทางเลือกในการลงทุนที่จํากัดซึ่งเป็นอุปสรรคต่อนักลงทุนสถาบันที่จะสามารถช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดได้
รายงานยังได้กล่าวถึงความท้าทายที่สําคัญสําหรับการพัฒนาตลาด หนี้ด้อยคุณภาพ ในประเทศไทย ได้แก่ การพึ่งพาบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMCs) ในการแก้ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ความสามารถในการรองรับหนี้ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นในอนาคต การขาดความหลายหลายและการมีส่วนร่วมจากนักลงทุนรายใหม่ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนสถาบันเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาด การขาดโครงสร้างพื้นฐานและตัวกลางที่สนับสนุน และข้อจํากัดในการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้เพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหม่
หากเทียบกับตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเกาหลีใต้ นั้น จะเห็นถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและสถาบันตัวกลางในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง สําหรับการแก้ไข ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ และทําให้ตลาดแข็งแกร่ง โดยมาตรการและนโยบายเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อเป็นทางเลือกสําหรับการพัฒนา ระบบนิเวศตลาดทุนไทย ในการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว ดังนี้
- เพิ่มความต้องการ (Demand) โดยการดึงดูดนักลงทุนในวงกว้างขึ้น เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและนวัตกรรมในตลาดทุน อาทิ การจูงใจโดยใช้มาตรการทางภาษี และการเพิ่มอุปทานของตราสารหนี้ประเภทใหม่ ๆ
- ทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกรอบการฟื้นฟูและกระบวนการยึดทรัพย์ ให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดมากขึ้น ครอบคลุมความหลากหลายของ ลูกหนี้ และเป็นธรรมต่อ เจ้าหนี้ พิจารณาผ่อนปรนข้อจำกัดในการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (อาทิ กองทุนรวม และบริษัทประกันภัย) ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์แบบองค์รวม
- อำนวยความสะดวกให้กับตลาดรองที่มีความยืดหยุ่น โดยการปรับปรุงกลไกการโอนสินทรัพย์ให้ทันสมัย เช่น การใช้ระบบการหักบัญชีและการชำระบัญชีที่มีประสิทธิภาพ แพลตฟอร์มการซื้อขาย และการกำหนดมาตรฐานของข้อมูลและกระบวนการ
- สร้างผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะ โดยดำเนินโครงการริเริ่มร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ดึงดูดผู้เล่นต่างชาติที่มีประสบการณ์เข้าสู่ตลาดไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดให้แก่บุคลากรท้องถิ่น
อ่านรายงานฉบับเต็ม คลิกที่นี่