'กองวัณโรค' คัดกรองวัณโรคเชิงรุก ด้วย 'เครื่องเอกซเรย์แบบพกพา' จากฟูจิฟิล์ม
ตอกย้ำแผน "ยุติวัณโรค" กองวัณโรคเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยนวัตกรรมเครื่องเอกซเรย์แบบพกพาและระบบประมวลผล AI จากฟูจิฟิล์ม
ตามรายงานของ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 30 ประเทศที่มี "ภาระวัณโรคสูง" โดย กองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดการณ์ว่า ประเทศไทยมี ผู้ป่วยวัณโรค ปีละกว่า 1 แสนคน แต่สามารถค้นหาและนำเข้าสู่การรักษาได้เพียงแค่ 70,000 คนเท่านั้น โดยยังมีผู้ป่วยที่ยังตรวจไม่พบหรือยังไม่มีอาการอีกกว่า 30,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ
นพ.ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการกองวัณโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีมาตรการหลายด้านในการจัดการ วัณโรค มาตรการสำคัญคือ การค้นหาผู้ป่วยให้เจอโดยเร็วและต้องรีบนำมารักษาด้วยวิธีการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรอง จากนั้นจำเป็นที่จะต้องค้นหาและตรวจคัดกรองผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยหรือผู้ที่ใกล้ชิดที่อาจมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
โรคติดเชื้ออันดับหนึ่ง อัตราเสียชีวิตสูงถึง 10-20 %
"วัณโรค เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและของโลก เนื่องจากผู้ติดเชื้อวัณโรคมีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูงมาก เป็นโรคติดเชื้ออันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากถึง 10-20% ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ทันเวลา" นพ.ไกรสร กล่าว
การป้องกันการติดเชื้อวัณโรค สามารถทำได้ด้วยการการใส่หน้ากากอนามัยป้องกันในกรณีที่ต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีความแออัดหรือในที่ชุมชน รวมถึงการระมัดระวังตัวเอง หากมีโอกาสจะสัมผัส ผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสหรืออาศัยร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรคจะต้องรีบเข้ามาตรวจคัดกรองและรับการรักษา
สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องของ กองวัณโรค คือ การพยายามค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้ได้มากที่สุด ด้วยการตรวจคัดกรองเชิงรุกในแหล่งที่มีผู้คนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น ในชุมชนหรือเรือนจำโดยรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ ซึ่งยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการอยู่บ้าง ส่งผลให้การตรวจคัดกรองไม่ครอบคลุมตามที่ตั้งใจ
นวัตกรรม X-ray แบบพกพา เข้าถึงทุกพื้นที่
ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยให้เข้าถึงพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น พญ.ผลิน กมลวัทน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และที่ปรึกษากองวัณโรค กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้การดำเนินการตรวจคัดกรองจะต้องนำผลจากรถเอกซเรย์กลับมาอ่านฟิล์มที่โรงพยาบาล ขั้นตอนกว่าจะตรวจเสมหะและตรวจพบผู้ป่วยวัณโรคก็ช้าเกินไปแล้ว แต่ด้วยเงินสนับสนุนจากกองทุนโลก (Global Fund) ในการจัดหากล้องเอกซเรย์แบบพกพา FDR Xair พร้อมระบบประมวลผล AI ของ ฟูจิฟิล์ม เพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองเชิงรุก ตอบโจทย์การทำงานในทุกพื้นที่อย่างแหล่งชุมชนเล็กๆ และผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกายอย่างผู้พิการหรือผู้ป่วยติดเตียง
"นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวและความสะดวกในการทำงานของให้กับทีมแพทย์ โดยเฉพาะระบบประมวลผล AI ที่ช่วยอ่านผลภาพเอกซเรย์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทำให้สามารถส่งตัวไปเก็บเสมหะเพื่อยืนยันการติดเชื้อวัณโรคได้ทันที ซึ่งการตรวจคัดกรองถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะหากตรวจพบเชื้อตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและเข้ารับการรักษาเร็ว โอกาสในการรักษาหายก็จะเพิ่มมากขึ้น และเป็นการตัดวงจรการแพร่เชื้อได้อย่างตรงจุด" พญ.ผลิน กล่าว
การตรวจคัดกรองเชิงรุก
เมื่อไม่นานมานี้ กองวัณโรค ร่วมกับ ฟูจิฟิล์ม ประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ให้บริการตรวจคัดกรองวัณโรค ณ สถานคุ้มครองและพัฒนาผู้พิการบ้านนนทภูมิ จังหวัดนนทบุรี
วริยาภรณ์ พรนภดล ผู้ปกครองสถานคุ้มครองและพัฒนาผู้พิการบ้านนทภูมิ กล่าวว่า เด็กบ้านนนทภูมิจะมีภูมิต้านทานค่อนข้างต่ำและมีข้อจำกัดของสภาพร่างกาย จึงมีอัตราความเสี่ยงที่ติดเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการคัดกรองวัณโรคให้กับเด็กที่บ้านนนทภูมิเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยลดความเสี่ยง อีกทั้งการจะให้เด็กพิการเดินทางไปรับการตรวจคัดกรองที่สถานพยาบาลพร้อมกันหลายๆคน มีข้อจำกัดเรื่องของการเดินทาง ซึ่งการที่กองวัณโรคและฟูจิฟิล์มเข้ามาตรวจคัดกรองให้ถึงที่บ้านนนทภูมิ เป็นการช่วยเด็กๆ ให้มีสุขภาพร่างกายที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ฟูจิฟิล์มร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ "ยุติวัณโรค"
ขณะที่ มร.โซ มารูโอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในเดือนมกราคม 2024 ฟูจิฟิล์มฉลองการครบรอบ 90 ปี และได้ประกาศจุดมุ่งหมายใหม่ Giving our world more smiles (แต่งแต้มรอยยิ้มให้โลกของเรา) ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากทำให้สังคมไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้น อีกทั้งฟูจิฟิล์มยังทำงานร่วมกับองค์กร STOP TB Partnership เดินหน้า ยุติวัณโรค ด้วยการสนับสนุนการตรวจคัดกรองวัณโรคทั่วโลก ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการใช้ระบบเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อตรวจคัดกรองวัณโรค
"เครื่องเอกซเรย์แบบพกพา FDR Xair พร้อมระบบประมวลผล AI ของ ฟูจิฟิล์ม ช่วยผลักดันให้การตรวจคัดกรองเชิงรุกได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่สามารถช่วยเหลือประชาชน แต่ยังสนับสนุนและแบ่งเบาภาระในการทำงานของทีมแพทย์ได้อีกด้วย" มร.โซ มารูโอะ กล่าวทิ้งท้าย