ก้าวสู่ปีที่ 5 'รพ.เมดพาร์ค' เพิ่มนวัตกรรมโรคยากซับซ้อน

ก้าวสู่ปีที่ 5 'รพ.เมดพาร์ค' เพิ่มนวัตกรรมโรคยากซับซ้อน

"เมดพาร์ค" รพ.ที่มุ่งรักษาผู้ป่วยโรคยากซับซ้อน ก้าวสู่ปีที่ 5 เพิ่มบริการเปลี่ยนอวัยวะ เปลี่ยนถ่ายไขกระดูก ลงทุนนวัตกรรมให้ครอบคลุม พร้อมจัดตั้ง "ศูนย์แล็บจีโนม" ลดระยะเวลารอผลจาก 6 สัปดาห์ เหลือ 2 สัปดาห์ ควบคู่การดูแลสังคม นำความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในกระบวนการรักษา

ปี 2563 รพ.เมดพาร์ค เริ่มเปิดให้บริการ ด้วยจุดมุ่งเน้นเรื่อง โรคยากซับซ้อน แต่เป็นช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในปีแรก จึงเป็นการให้บริการเพื่อสังคม ด้วยการ "ฉีดวัคซีนโควิดฟรี" จนในปี 2564 จึงเริ่มมีคนไข้เข้ารับการรักษาโรคยากซับซ้อน 

คนไข้ไทย - CLMV - Expat โต 

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark) กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนคนไข้ที่เข้ารับบริการเป็นคนไทย 70 % ต่างชาติ 30 % ซึ่งจำนวนผู้ป่วยต่างชาติมากกว่าที่ รพ. พยากรณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะอยู่ที่ราว 10 % เป็นคนไข้จาก 2 ส่วน คือ Fly in บินเข้ามารับการรักษา จากประเทศกลุ่ม CLMV และตะวันออกกลาง และกลุ่มที่ทำงานหรือพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย Expatriates หรือ Expat ในประเทศไทย คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2567 จะปิดรายได้ที่ 4,000 ล้านบาท โตจากปี 2566 ที่อยู่ที่ 3,000 กว่าล้านบาท จากคนไข้กลุ่มคนไทย CLMV และเอ็กซ์แพทที่โตขึ้น ซึ่งคลินิกที่มีเข้ารับบริการมากสุด เช่น คลินิกสูตินรีเวช และศูนย์มะเร็ง เป็นต้น 

ก้าวสู่ปีที่ 5 \'รพ.เมดพาร์ค\' เพิ่มนวัตกรรมโรคยากซับซ้อน

มุ่งมั่นหาสาเหตุการป่วยจนเจอ 

เมื่อ รพ.เมดพาร์ค มุ่งบริการรักษา โรคยากซับซ้อน นพ.พงษ์พัฒน์ บอกว่า ผลลัพธ์ที่สำคัญคือ การช่วยคนไข้ที่ไม่ควรเสียชีวิตต้องไม่เสียชีวิต คนที่ควรรักษาให้หายควรจะหาย ยกตัวอย่าง เมื่อครึ่งปีที่แล้ว ผู้ป่วยรายหนึ่งน้ำไขสันหลังรั่ว ทำให้เวียนหัว ตื่นนอนแล้วยืนขึ้น ความดันโลหิตจะต่ำลง ไปผ่าตัดที่ รพ. แห่งหนึ่งมาแล้วแต่ไม่หาย เพราะยังไม่รู้จุดที่รั่วจึงปิดรูรั่วไม่ได้ จึงมาเข้ารับปรึกษาและรักษาที่เมดพาร์ค โดยการวินิจฉัยหารูรั่วทำการฉีดสีในไขสันหลังแล้วให้น้ำไขสันหลังไหล แต่เมื่อน้ำไหลออกเร็วก็หาไม่เจอว่ารั่วตรงจุดไหน         

"แต่ด้วยความมุ่งมั่น แก้ปัญหาให้ผู้ป่วยและความอดทนของทีมบุคลากรที่ต้องการค้นหาให้เจอจุดรั่วให้ได้ นำผู้ป่วยรายนี้มาเอกซเรย์ และมีทีมอาจารย์แพทย์มานั่งดูค่อย ๆ สังเกตช้าๆ จนสามารถหาจุดรั่วได้ เมื่อผู้ป่วยไปรับการผ่าตัดแล้วก็หาย แสดงว่าคนเริ่มจดจำแล้วว่า รพ.เมดพาร์ค ให้การรักษาโรคยากซับซ้อน มีทีมแพทย์พร้อมค้นคว้า มีอุปกรณ์เครื่องมือพร้อมให้การช่วยเหลือวินิจฉัยและรักษา" นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว  

ก้าวสู่ปีที่ 5 \'รพ.เมดพาร์ค\' เพิ่มนวัตกรรมโรคยากซับซ้อน Medical Genomics Laboratory

เพิ่มบริการ - นวัตกรรมรักษาโรคยาก

แพทย์ทุกคนใน รพ. จบแพทย์เฉพาะทางทั้งหมดและทำงานมีประสบการณ์ดูแลโรคเฉพาะทางมาไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นแพทย์ full time 150 คน และ part time 1,000 คน รพ. มีเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์รองรับการให้บริการ

การก้าวสู่ปีที่ 5 รพ.เมดพาร์ค มีการเพิ่มบริการเกี่ยวกับ โรคยากซับซ้อน อาทิ การเปลี่ยนอวัยวะ ให้บริการเปลี่ยนไตไปแล้ว 3 ราย รวมถึงมีอาจารย์แพทย์มาทำเรื่องการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกที่จะเป็นขั้นตอนของการรักษามะเร็ง และ MOU กับสถาบันโลหิตวิทยาและโรงพยาบาลโรคเลือด สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งชาติ และวิทยาลัยการแพทย์สหภาพปักกิ่ง (Institute of Hematology & Blood Diseases Hospital, Chinese Academy of Medical Sciences & Peking Union Medical College) สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้หรือการช่วยดูแลผู้ป่วยร่วมกัน 

ในปี 2568 จะเปิด "แล็บศูนย์จีโนม" ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินเรื่องใบอนุญาต โดยมีการร่วมลงทุนกับบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านจีโนมิกส์จากจีนและพาร์ตเนอร์คนไทยและงบประมาณลงทุนของเมดพาร์ค ราว 40 ล้านบาท ซึ่งเดิมประเทศไทยเมื่อจะดำเนินการเรื่องมะเร็ง เรื่องแพ้ยา ที่ต้องดูดีเอ็นเอ genetic ของผู้ป่วยนั้น หลายอย่างจะต้องส่งไปตรวจที่ต่างประเทศ ใช้เวลารอคอยผลราว 6 สัปดาห์ แต่เมื่อ รพ.เมดพาร์ค เปิดศูนย์นี้ ทำให้ระยะเวลารอผลเหลือเพียง 2 สัปดาห์ โดยในอนาคตสามารถลงนามความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยในอเมริกาเข้ามาเสริมการทำงานด้วย

ก้าวสู่ปีที่ 5 \'รพ.เมดพาร์ค\' เพิ่มนวัตกรรมโรคยากซับซ้อน SMILEpro

โครงการดูแลสังคมตาม Priority

ไม่เพียงการบริการโรคยากซับซ้อนเท่านั้น แต่ รพ.เมดพาร์ค ยังมุ่งการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ขับเคลื่อน "วัฒนธรรมการให้" ด้วยการให้บริการฉีดวัคซีนโควิดฟรีกว่า 4 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นต่างชาติราว 1 แสนคน รวมถึงทำโครงการ "Save Doctor Save People Save Thailand" ทำให้ชื่อของ "รพ.เมดพาร์ค" เป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและต่างชาติ และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ด้วยโครงการดูแลหัวใจหมอ และอื่นๆ  

"รพ.เมดพาร์คไม่ได้มีแรงมากในการดูแลชุมชนสังคม เมื่อจะทำโครงการจะไม่ได้ดูเรื่องความเท่าเทียม แต่หัวใจสำคัญเราพิจารณาเรื่องลำดับความสำคัญ หรือ priority โครงการที่จัดทำจึงดูว่าใครสำคัญกว่าใคร ก็จะมุ่งไปทำโครงการดูแลคนกลุ่มนั้นก่อน ถ้าในด้านสาธารณสุขก็ต้องให้บุคลากรด้านสาธารณสุข แต่อนาคตหาก รพ. มีเงินสะสมมากพอก็จะออกไปนอกกลุ่มอื่นๆ"  นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว  

ก้าวสู่ปีที่ 5 \'รพ.เมดพาร์ค\' เพิ่มนวัตกรรมโรคยากซับซ้อน CPR Training at SX2024024

สร้างวัฒนธรรมเมดพาร์ค 

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวด้วยว่า บุคลากรของเมดพาร์คมีความหลากหลายและมีคนทั้งคนไทย ต่างชาติ จึงต้องทำให้บุคลากรมีทิศทางเดียวกัน รู้ปรัชญาของรพ. ดังนั้นในปีที่ 5 จะเป็นปีที่สร้าง และรณรงค์ "วัฒนธรรรมเมดพาร์ค" อย่างจริงจังชัดเจนมากขึ้น มีการออกแบบที่เป็นรูปธรรมขึ้น เช่น เรื่องโรคยากซับซ้อนจะอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนต้องรู้และเข้าใจว่า รพ. ทำเพื่ออะไร มีแนวทางดูคนไข้อย่างไร และการได้รับบริการของคนไข้ 

ความยั่งยืนอยู่ในกระบวนการรักษาผู้ป่วย

ในส่วนของโครงการด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจของกลุ่มมหาชัยตั้งแต่แรก ฉะนั้น ในการรักษาคนไข้ของ รพ.เมดพาร์ค ได้นำความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในกระบวนการรักษาผู้ป่วย อย่างเช่นการทำให้ผู้ป่วยนอน รพ. สั้นลง ช่วยลดขยะทางการแพทย์ ลดทรัพยากร รวมไปถึงการจัดการขยะต่างๆ และการทำให้พนักงานมีส่วนร่วมในการใช้ชีวิตและการทำงานที่สะท้อนเรื่องความประหยัด