Probiotic สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และการแพทย์เชิงพาณิชย์
ถอดรหัส Probiotic จากงานวิจัยนวัตกรรมระหว่างภาครัฐ-เอกชน สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ-การแพทย์เชิงพาณิชย์ครั้งแรกในไทย
โลกของ "นวัตกรรม" พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะการวิจัยผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ-การแพทย์เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับเทรนด์การเข้าสู่ สังคมผู้สูงวัย ล่าสุดนับเป็นความสำเร็จในอุตสาหกรรมสุขภาพและทางการแพทย์เชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท เค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด ที่เปิดตัวงานวิจัยนวัตกรรม Probiotic สู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพและทางการแพทย์เชิงพาณิชย์ โดยการนำ Probiotic ไปเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ เพื่อเสริมประโยชน์ด้านสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์
ศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เราต้องการจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ Probiotic ทางการแพทย์ โดยการหาสายพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ แต่ก่อนที่จะสามารถนำสายพันธุ์ใหม่มาใช้ได้ ต้องศึกษาก่อนว่ามีความปลอดภัย และมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคที่เราต้องการหรือไม่ รวมถึงศึกษาทางคลินิกทั้งในสัตว์ทดลองและในอาสาสมัคร ก่อนจะผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้เราสร้างนวัตกรรมการพัฒนา Probiotic ทางการแพทย์อย่างครบวงจร โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย แพทย์ และทันตแพทย์ ซึ่งต้องใช้ทีมงานขนาดใหญ่ เพื่อให้นวัตกรรมนั้นอยู่ได้แบบยั่งยืน ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองและแข่งขันกับนานาชาติได้
"จากการเข้ามาศึกษา ทำให้ทราบว่า คนไทยพึ่งพาหัวเชื้อจุลินทรีย์จากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งผู้บริโภคในไทยใช้ผลิตภัณฑ์ Probiotic รวมเป็นมูลค่าขั้นต่ำ 7 พันล้านบาทต่อปี ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้เชื้อจุลินทรีย์นำเข้าทั้งหมด ทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป อเมริกา แต่วันนี้เราเป็นนักวิจัยกลุ่มแรกในไทยที่สามารถพัฒนาสายพันธุ์ Probiotic ออกสู่เชิงพาณิชย์เพื่อใช้กับคนได้ ซึ่งเราใช้เวลาศึกษาวิจัยกว่า 10 ปี"
งานวิจัยดังกล่าว นำมาสู่การลงนาม MOU ร่วมกันของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัทเค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต Probiotic สำหรับใช้ในสัตว์ ซึ่งวันนี้ขยายการผลิตมาสู่ Probiotic สำหรับคนสำเร็จแล้ว เป็นความหวังของประเทศไทยที่จะเพิ่มความสามารถแข่งขันในเรื่องผลิตภัณฑ์ Probiotic ทางการแพทย์สำหรับมนุษย์
ศาสตราจารย์ ดร.รวี กล่าวต่อไปว่า หลายคนมักจะคิดว่าการกิน Probiotic ช่วยย่อยอาหาร ทำให้ระบบภายในช่องท้องดีขึ้น แต่วันนี้เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า Probiotic สายพันธุ์ดีๆ ให้ประโยชน์มากกว่านั้น ซึ่งปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ รวมถึงการป้องกันโรคกันมากขึ้น จึงเกิดคอนเซ็ปต์ใหม่ว่า "เรารับประทานอาหารให้เป็นยา" ที่จะทำให้สุขภาพดี มีชีวิตยืนยาวได้ แนวคิดนี้เป็นที่มาของ Probiotic ที่เราทำการศึกษาวิจัย โดยงานแรกของเรา ใช้ Probiotic ในการป้องกันฟันผุ
จากการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรักษา แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะผลิตภัณฑ์ Probiotic ที่รับประทาน ได้แก่ 1) Probiotic ที่มีชีวิต 2) Probiotic ที่ไม่มีชีวิต) 3) ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มี Probiotic โดยให้รับประทานวันละ 3 เม็ด ติดต่อกัน 6 เดือน มีการส่องกล้องเก็บตัวอย่างจากลำไส้ พร้อมเจาะเลือดมาตรวจสอบ ทั้งก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์ และหลังทานครบ 6 เดือน
"ตามปกติในก้อนมะเร็งที่ถูกตัดออกมาหรือในอุจจาระผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ จะมีเชื้อ Fusobacterium Nucleatum (เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ปกติจะอาศัยอยู่ในช่องปาก) อยู่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เป็นมะเร็งลำไส้ นับเป็นเชื้อที่ใช้บ่งชี้ระดับความรุนแรงของโรคมะเร็งลำไส้เลยก็ว่าได้ ผลการทดลองพบว่า ในผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับ Probiotic มีปริมาณเชื้อ Fusobacterium Nucleatum ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับ Probiotic กลับมีปริมาณเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่แม้จะได้รับการรักษาแล้ว อาจกลับมาเป็นซ้ำอีก"
ศาสตราจารย์ ดร.รวี กล่าวต่อไปด้วยว่า ยังสามารถใช้ Probiotic กับเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori) ในช่องปาก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบด้วย โดยจากสถิติ 50% ของประชากรโลก มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ในร่างกาย ในจำนวน 50% นี้ จะมีผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบประมาณ 10% และ 3% จะลุกลามกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
นายสัตวแพทย์ ไพรัช ธิติศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 23 ปี ในกระบวนการคัดเลือกเชื้อ เก็บเชื้อในธนาคารเชื้อ และนำเชื้อออกมาใช้หรือมาหมักขยาย ซึ่งเรามีองค์ความรู้ในการหมักขยายที่จะทำให้ได้ต้นทุนที่ถูกกว่า ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจ เราใช้เงินลงทุนในการวิจัยไม่น้อยกว่า 5% ของยอดขาย สามารถผลิตได้ตามมาตรฐานสากล โดยจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่ใช้ในคน เรามี 29 สายพันธุ์ หากรวมในฝั่งของปศุสัตว์ด้วย จะมีประมาณ 90 สายพันธุ์ ซึ่งไม่มีปนเปื้อนยีนส์ดื้อยา 100%
"Probiotic ของศาสตราจารย์ ดร.รวี มีประโยชน์กับช่องปากของมนุษย์ได้ ก็ควรจะมีประโยชน์กับช่องปากของสัตว์เลี้ยงได้ เพราะปัญหาช่องปากของคนกับของสัตว์เลี้ยงใกล้เคียงกันมาก มีเชื้อก่อโรคอยู่ในประเภทเดียวกัน เราจึงลองดัดแปลงจากผลิตภัณฑ์ Probiotic ของคน มาปรับเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับหมาแมว ปรากฏว่านำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จมาก จึงเป็นที่มาที่เราขอ License เชื้อ Probiotic เมื่อปี 2561 ต่อมาท่านชวนเราทำผลิตภัณฑ์สำหรับคน ซึ่งเราสนใจ ปัจจุบันแยกโรงงานออกเป็นฝั่งที่ผลิตของคน และฝั่งที่ผลิตของปศุสัตว์ โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า Probiome นับจากนี้ไป Probiotic ที่มาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท เค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จะขึ้นต้นด้วยชื่อว่า Probiome แล้วตามด้วยชื่อเชื้อต่างๆ"
สำหรับสินค้า Probiotic ในตลาดของไทย พบว่า มีประมาณ 30 ชนิดสินค้า ซึ่งน่าจะ 100% ที่วัตถุดิบเชื้อ Probiotic ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ จากนี้ บริษัท เค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด จะเป็นผู้ซัพพลายวัตถุดิบจุลินทรีย์ Probiotic ทั้งสายพันธุ์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และของบริษัทฯ ให้ผู้ประกอบการได้นำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่วนแนวโน้มการเติบโตตลาด Probiotic ทั้งในประเทศและต่างประเทศสำหรับตลาด Probiotic นั้น มีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าจะพุ่งแตะระดับที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2026 โดยจะมีอัตราความเจริญเติบโตต่อปีสูงถึง 8.3 %
"ขณะที่ตลาด Probiotic ประเทศไทย มีมูลค่าอยู่ที่ 4.1 พันล้านบาทต่อปี ส่วนมูลค่าการใช้ Probiotic ในการเลี้ยงสัตว์สูงกว่า 6.4 พันล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2026 ตลาด Probiotic บ้านเราจะมีมูลค่าสูงถึง 9.1 พันล้านบาท ซึ่งจะมีอัตราความเจริญเติบโตต่อปีสูงถึง 12.21% เลยทีเดียว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ Probiotic ถือเป็นนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก การนำ Probiotic ไปเป็นส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจึงมีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งในระหว่างปี 2560 - 2563 มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ Probiotic ในอาเซียน ก็มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 300%"
ทางเลือกของผู้ประกอบการ SME ในการนำ Probiotic ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ "ศาสตราจารย์ ดร.รวี" ระบุว่า ผู้ประกอบการ สามารถนำไปใช้ได้ 2 แบบ ดังนี้
- Probiotic คือจุลินทรีย์ต้องมีชีวิต หมายความว่า ต้องมีการตรวจนับกัน ถ้าไม่ได้ 1 ล้านตัวใน 1 กรัม หรือ 1 ml. ของผลิตภัณฑ์ จะไม่ผ่านมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วโลก
- Postbiotic เป็นสารที่ได้จากจุลินทรีย์ Probiotic เป็นกรดอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Butyrate Butyric Acid หรือ Propionic Acid ฯลฯ นอกจากสารพวกนี้แล้ว ยังมีโปรตีนที่ช่วยยับยั้งเชื้อก่อโรค มีสารต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้ง Probiotic ที่ไม่มีชีวิตด้วย
ทั้งนี้ การเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากจุลินทรีย์ Probiotic ที่มีชีวิตชอบที่แห้งและเย็น ไม่ชอบน้ำและความชื้น หากผลิตภัณฑ์มีน้ำเป็นส่วนประกอบและต้องการให้เก็บรักษาได้นาน ผู้ประกอบการควรเลือกใช้ Postbiotic เป็นส่วนประกอบแทน
งานวิจัยในครั้งนี้ ได้รับทุนทั้งจากภาครัฐ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ Tech Funds ที่คอยสนับสนุนการศึกษาเชิงนวัตกรรม ซึ่งมีผู้ประกอบการ SME ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เวชสำอาง เครื่องสำอาง น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน ฯลฯ หรือผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ทั้งในรูปแบบของเม็ด ผง แคปซูล ฯลฯ ที่สามารถดัดแปลงได้ตามความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย ทำให้ SME ไทยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Probiotic ออกสู่สังคมได้อย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท เค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด โดยตรง หรือผ่านทางอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คำรณ พิทักษ์ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของเราคือ การส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเอาองค์ความรู้นี้ออกไปใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ รับฟังโจทย์จากภาคเอกชน หรือผู้ที่มีความสนใจนวัตกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกและประสานให้มีการหารือในเชิงลึกกับทีมนักวิจัย หรือส่งต่อให้บริษัท เค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด ได้เจรจากับผู้ที่สนใจต่อไป
ติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ รวมไปถึงบทความที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่จะช่วยให้ข้อคิด แนวคิด และเคล็ดลับในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ที่ เว็บไซต์ และรู้จัก บริษัท เค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด โดย คลิกที่นี่