BDMS หนุนสุขภาพดีชีวิตยืนยาว ปักธง Medical and Wellness Hub of Thailand

BDMS หนุนสุขภาพดีชีวิตยืนยาว ปักธง Medical and Wellness Hub of Thailand

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS จัดงานประชุมวิชาการ BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2024 วันที่ 18 - 22 พ.ย. 67 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 โดยมีบุคลากรทางการแพทย์เข้าร่วมงานกว่า 2,200 คน เพื่อพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ทางวิชาการด้านการแพทย์

พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารอาวุโส กลุ่ม 1 BDMS ในฐานะประธานจัดงาน BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2024 กล่าวว่า แนวคิดหลักของงานประชุมวิชาการในปีนี้ คือ "A ROAD TO LIFELONG WELL-BEING : EP.2 UNLOCK THE HEALTHY LONGEVITY" สานต่อจากการประชุมในปีที่แล้ว โดยมุ่งเน้นไปที่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่าง ๆ 

BDMS หนุนสุขภาพดีชีวิตยืนยาว ปักธง Medical and Wellness Hub of Thailand

วางรากฐานดูแลประชากรทุกช่วงวัย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสิ่งแวดล้อม และด้านประชากร ปัจจุบันโครงสร้างของกลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มีอายุยืนยาวขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลง รวมทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพและการแพทย์แบบครบวงจร BDMS ตระหนักและให้ความสำคัญกับการวางรากฐานและดูแลประชากรในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

"การจัดงานประชุมวิชาการครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพ ความสามารถ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการทางการและนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อพัฒนาการบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุข ให้สอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป" พญ.ปรมาภรณ์ กล่าว

เทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงคุณค่า

ภายในงานมีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการทางการแพทย์ในระดับสากลโดยนำเสนอแนวคิดการดูแลที่มุ่งเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient-Centric Care) เชื่อมโยงกับการดูแลสุขภาพแบบมีคุณค่า (Value-Based Healthcare) ซึ่งเป็นแนวโน้มอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ของโลก โดยเจนนิเฟอร์ แอล ไบร์ท ประธานกรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ ของ ICHOM (International Consortium for Health Outcomes Measurement) ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับ BDMS การนำแนวคิดการดูแลสุขภาพเชิงคุณค่า (Value-Based Healthcare) มาใช้ โดยแนวคิดดังกล่าวเกิดจาก ปัญหาที่ทรัพยากรด้านการแพทย์ทั่วโลกมีจำกัด ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับได้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

ระบบสุขภาพทั่วโลกจะต้องเปลี่ยนจากการวัดผลแบบเดิม ที่มุ่งเน้นกระบวนการ ซึ่งไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างครบถ้วน เช่น การดูแลสุขภาพจิตควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพกาย ไปสู่การชี้วัดที่เน้นผลลัพธ์ของผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งมุ่งที่จะปรับปรุงทั้งผลลัพธ์ทางคลินิกและผลลัพธ์ที่ผู้ป่วยรายงานเอง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตและการทำงาน 

ICHOM ทำงานร่วมกับผู้ป่วย ชุมชนของผู้ป่วย นักวิจัย และแพทย์ ในการระบุขอบเขตการดูแลที่มีความสำคัญต่อผู้ป่วย การใช้แนวทางที่มุ่งเน้นผู้ป่วยนี้ช่วยให้การพัฒนาเครื่องมือวัดผลลัพธ์ของ ICHOM สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนที่ให้บริการมากยิ่งขึ้น โดย ICHOM ได้พัฒนาวิธีการวัดผลลัพธ์ที่ครอบคลุมหลายมิติของสุขภาพ ตั้งแต่โรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน ไปจนถึงการดูแลผู้สูงวัย การวัดผลลัพธ์เหล่านี้สามารถนำไปใช้ในบริบทต่าง ๆ ได้ เช่น การตัดสินใจทางคลินิก การวิจัย และการพัฒนา เป็นต้น 

ICHOM พัฒนาชุดผลลัพธ์ ครอบคลุม 60% การรักษา

ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ICHOM ได้พัฒนาชุดการวัดผลลัพธ์ ที่มุ่งเน้นโรคจำนวน 46 เซต ครอบคลุม 60% ของภาระการรักษาโรคจากทั่วโลก ข้อมูลเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งเครื่องมือสำหรับดำเนินการกับข้อมูล และตัวแปรในกลุ่มผู้ป่วย นอกจากนี้ ICHOM ยังได้พัฒนาการใช้งานร่วมกันของข้อมูลดิจิทัล ด้วยการทำชุดแผนที่ของตนไปยังคำศัพท์ทางการแพทย์ที่เป็นมาตรฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกกับระบบบันทึกรายงานสุขภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอื่น ๆ 

การทำงานของ ICHOM ได้รับการนำไปใช้ในระดับสากล โดยมีโรงพยาบาล และระบบสุขภาพกว่า 500 แห่งทั่วโลกที่นำชุดผลลัพธ์มาตรฐานของ ICHOM ไปใช้งานแล้ว ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ทางคลินิก และความคุ้มค่าในการใช้จ่ายของระบบสุขภาพ รวมทั้งการวิจัย และนวัตกรรมการรักษา ตัวอย่างสำคัญ ได้แก่ โรงพยาบาลในเม็กซิโกที่ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยลงได้ถึง 80% ในระยะเวลา 5 ปี ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงผลลัพธ์ทางคลินิก รวมถึงการลดความเครียดจากโรคเบาหวานลง 50%

ทั้งนี้ BDMS โดยโรงพยาบาลในเครือฯ ได้ดำเนินการด้าน Value-Based Healthcare ไปแล้ว โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา นำแนวคิดการดูแลสุขภาพเชิงคุณค่ามาใช้ในปี 2564 และได้ผลลัพท์เป็นอย่างดี โดยผลลัพธ์สุขภาพนั้น ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน การตรวจวินิจฉัย การมีภาวะแทรกซ้อน การฟื้นตัวเร็วและสมบูรณ์ การกลับมาเป็นซ้ำ ทำให้โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาเป็นโรงพยาบาลแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก ICHOM ในกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease) และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) แสดงถึงการปฏิบัติที่มีคุณภาพสูงและเป็นไปตามมาตรฐานระดับโลก เน้นการดูแลแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่สำคัญสำหรับผู้ป่วย โดยใช้การวัดผลที่ครอบคลุมเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด และสามารถฟื้นตัวกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อย่างมีคุณภาพ 

ICHOM รับรอง รพ.เครือ BDMS

ปี 2567 โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาได้รับการรับรอง ICHOM ระดับ 1 ในอีกสองกลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) และโรคเบาหวาน (Diabetes) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง การได้รับรองดังกล่าวนี้ ตอกย้ำถึงความทุ่มเทของโรงพยาบาลในการพัฒนาระบบการรักษาที่ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้แก่ผู้ป่วยทุกคน ผลประโยชน์ที่ได้จากการทำ Value-Based Healthcare ส่งผลดีต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง คุ้มค่ามากขึ้น และผลการรักษาที่ดีขึ้น ส่วนโรงพยาบาล ก็ได้รับความพึงพอใจจากผู้ป่วยมากขึ้น และการดูแลรักษามีประสิทธิผลดีขึ้น นอกจากนั้น บริษัทประกันหรือผู้จ่ายเงิน ก็มีการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดี และลดอัตราการเสี่ยง สุดท้ายสังคมก็จะมีค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพลดลง ในขณะที่เพิ่มคุณภาพด้านสุขภาพของประชาชน 

เทคโนโลยีทันสมัยรักษาโรคกระดูกพรุน

นพ.สุทร บวรรัตนเวช ผู้อำนวยการใหญ่ ศูนย์อุบัติเหตุและออร์โธปิดิกส์ BDMS กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปกว่า 10 ล้านคน เมื่อมีอายุมากขึ้นก็จะมีหลายโรค โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน เพราะถือเป็นโรคที่จะทำให้กระดูกหักและมีโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนตามมา

การให้คำวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาอย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย การผ่าตัด BDMS มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย การผ่าตัดมีแผลที่เล็กมาก และทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด แนวทางของการรักษาสมัยใหม่ มีทีมแพทย์ในสหสาขาวิชาทุกสาขาเข้ามาดูคนไข้ร่วมกัน เพราะฉะนั้นคนไข้ 1 คน อาจจะมีแพทย์ประมาณ 5-8 คน แต่ทุกคนทำงานเป็นทีมเดียวกัน ทุกคนเป็นเจ้าของคนไข้ร่วมกัน

คัดกรองลดโอกาสเกิดกระดูกหัก

ศ.เกียรติคุณ ดร.คริสเตียน คามเมอร์แลนด์เดอร์  The AUVA Accident Hospital นำเสนอว่า ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่มีกระดูกสะโพกหัก มักเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การเคลื่อนไหวลดลงและคุณภาพชีวิตที่แย่ลง มีเพียง 70% ของผู้ป่วยที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้หลังการรักษา 1 ปี และอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ที่ 66%จึงควรตรวจคัดกรองผู้ที่ยังไม่มีภาวะกระดูกหัก เพื่อป้องกันและลดโอกาสเกิดกระดูกหักในอนาคต ทั้งนี้ การรักษาควรเป็นแบบสหสาขาวิชาชีพ ด้วยการผสมผสานแพทย์เฉพาะทาง, การดูแลขั้นปฐมภูมิ และโรงพยาบาลเข้าด้วยกันโดยต้องต่อเนื่อง เช่น การติดตามผลหลังการผ่าตัด เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบรักษาในโรงพยาบาล มีการนำระบบการจัดการใหม่ เช่น โปรแกรมเร่งรัดสำหรับผู้ป่วยกระดูกหัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและลดภาวะแทรกซ้อน,ต้องปรับปรุงทีมสหสาขาวิชาชีพ เช่น เพิ่มบุคลากรอย่างพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก และลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนและค่าใช้จ่ายระยะยาวโดยการจัดการทรัพยากรและบุคลากรอย่างเหมาะสมระบบสุขภาพต้องให้ความสำคัญ

"โรคกระดูกพรุน ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องอาศัยการจัดการเชิงรุกทั้งในด้านการป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟู เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและลดภาระต่อระบบสุขภาพในระยะยาว ดังนั้นการรักษาโรคกระดูกพรุนและการฟื้นฟูผู้ป่วยต้องได้รับการจัดลำดับความสำคัญในระบบสุขภาพ จำเป็นต้องพัฒนากระบวนการรักษาอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การป้องกันจนถึงการฟื้นฟู และต้องได้รับการตระหนักว่าเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจโดยรวม" ศ.เกียรติคุณ ดร.คริสเตียน กล่าว

เทคโนโลยีรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ศ.วาสิลิกี เลียนาซิคิติส มหาวิทยาลัยการแพทย์และวิทยาศาสตร์แห่งรัฐโอเรกอน” กล่าวในการประชุมในหัวข้อ "Current Treatment in Colorectal Cencer" ว่า การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก การผ่าตัดยังคงเป็นวิธีการรักษาที่มีเป้าหมายเพื่อการรักษาหาย โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น ซึ่งสามารถให้ผลการรอดชีวิตได้สูงถึง 95% ในช่วง 5 ปี และในกรณีระยะลุกลามจะใช้การบำบัดร่วม เช่น เคมีบำบัดและรังสีรักษา

"การผ่าตัดจะทำให้เกิดความแม่นยำ และผลลัพธ์ในด้านมะเร็งวิทยาที่ดีที่สุด อีกทั้งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัย เช่น การทำ MRI ที่สามารถระบุขอบเขตของเนื้องอกและต่อมน้ำเหลือง การผ่าตัดผ่านกล้อง หรือการใช้หุ่นยนต์มาช่วยเพิ่มความแม่นยำ โดยเฉพาะในพื้นที่แคบ เช่น อุ้งเชิงกราน หรือการผ่าตัดแบบ Total Mesorectal Excision (TME) ซึ่งจะช่วยให้สามารถผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ" ศ.วาสิลิกี กล่าว

ใช้เทคโนโลยีควบคู่การรักษาผสมผสาน

ศ.วาสิลิกี กล่าวต่อว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และแนวทางการรักษาแบบผสมผสาน รวมถึงนวัตกรรมในการรักษามะเร็งระยะเริ่มต้น จะช่วยให้การรักษาแบบคงอวัยวะ และเทคนิคในการผ่าตัดทั้งแบบการผ่านตัดผ่านกล้อง และการผ่าตัดเปิดช่องท้อง อีกทั้งการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เข้ามาใช้นั้นจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด ตอบโจทย์การผ่าตัดเฉพาะรายบุคคล ที่สำคัญทำให้อัตราการรอดชีวิตมีมากขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

ปัจจุบันการรักษามะเร็งสำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้น ได้มีการนำเทคนิคการผ่าตัด และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเสริมการทำงานของทีมแพทย์ ซึ่งสามารถเพิ่มผลลัพธ์ในการรักษาผู้ป่วย ลดภาระแพทย์ในการผ่าตัด และป้องกันความเสียหายต่อระบบประสาท ฉะนั้นการใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการรักษาแบบผสมผสาน จึงทำให้การรักษาเกิดขึ้นแบบครบวงจร เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด 

3 กระบวนการรักษาสู้มะเร็งเต้านม

นพ.ฉัตรชัย คูวัธนไพศาล โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ได้นำเสนอ "แลกเปลี่ยนกรณีศึกษาและอภิปราย เกี่ยวกับการรักษามะเร็งเต้านม" ว่า จะเน้นไปที่ประวัติครอบครัวของผู้ป่วย กระบวนการรักษา และการจัดการหลังการรักษา ซึ่งประวัติครอบครัวของผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมะเร็งเต้านม เกิดจากกรรมพันธุ์ การทบทวนประวัติครอบครัวผู้ป่วยอย่างละเอียดจะนำไปสู่การตรวจวินิจฉัย จนพบก้อนเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นเนื้องอก hypoechoic และเริ่มกระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที

กระบวนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จะได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดจำนวน 6 รอบ โดยมีการติดตามผลผ่านการตรวจภาพทางการแพทย์ เช่น การทำ CT scan หลังการรักษา พบว่าผลการตรวจก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่ามีการตอบสนองที่ดีต่อการรักษา รวมทั้งการลดลงของการทำงานเมตาบอลิซึมของก้อนมะเร็งยังบ่งชี้ถึงการตอบสนองที่ดี กระบวนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม การติดตามผลการรักษาผ่านการตรวจภาพทางการแพทย์ และการใช้เคมีบำบัด ตามด้วยการผ่าตัดและรังสีบำบัด จะช่วยทำให้ผลการรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น

BDMS ชวนร่วมโปรเจกต์ Wellness Hub of Thailand

เทรนด์ของอุตสาหกรรม Wellness จากการเสวนาเรื่อง New Era Wellness Hub of Thailand ที่พูดถึงการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันนั้น ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล และเป็นเทรนด์สุขภาพที่มาแรงของโลก สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพระดับสากล และขับเคลื่อนให้ไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการแพทย์แบบครบวงจร 

นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร BDMS Wellness Clinic และ BDMS Wellness Resort  กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำตลาด Wellness อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยพบว่าประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีนั้น มีมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่ทำให้คนไทยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 77%  

จากผลการวิจัยพบว่า ในปี 2566 (2023) ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพมีมูลค่าสูงถึง 6.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2571 (2028) จะมีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.3% ทั้งนี้ ยังมีบางธุรกิจในกลุ่มของ Wellness ที่มีอัตราการเติบโตมากกว่า 10% โดยเฉพาะธุรกิจ Wellness Real Estate สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพสูงขึ้น  

ในปีที่ผ่านมา Wellness Tourism ของไทยอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลกตามขนาดของธุรกิจ โดยเมื่อปี 2019 ก่อนสถานการณ์โควิด-19ไทยขึ้นอันดับสูงสุด เป็นอันดับ 7 ของโลก ที่คนทั่วโลกตั้งเป้าอยากบินมาประเทศไทยเพื่อดูแลสุขภาพ

นพ.ตนุพล กล่าวอีกว่า BDMS มีความตั้งใจที่อยากจะเห็นประเทศไทยก้าวขึ้นสู่อันดับ 5 ของโลก ในฐานะจุดหมายปลายทางที่ทุกคนใฝ่ฝัน และต้องการมาเยือนเพื่อดูแลรักษาสุขภาพ โดยเป้าหมายใหญ่ของ BDMS ต้องการรวมทีมไทยแลนด์ เพื่อผลักดันให้ไปสู่ความสำเร็จในการเป็น Wellness Hub ได้ในที่สุด

"ในฐานะผู้นำด้านสุขภาพครบวงจร จึงอยากเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำให้ทุกคนมีสุขภาพดี ในโปรเจ็กต์ Wellness Hub of Thailand เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ทุกคนทั่วโลกอยากมาเยือน และกลับไปพร้อมกับสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น พร้อมทั้งใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเจ็บป่วยน้อยลง"

นอกจากนี้ นพ.ตนุพล ยังได้แนะนำเคล็ดลับการดูแลสุขภาพที่ดี 5 ข้อ ได้แก่ 1. ต้องทานอาหารที่ดี ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วน 2. นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง 3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 30 นาที 4. ทานผัก หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ 5. ต้องอารมณ์ดี หากทุกคนทำตามได้ ก็จะมีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น

BDMS หนุนสุขภาพดีชีวิตยืนยาว ปักธง Medical and Wellness Hub of Thailand