รู้ไว้เงินไม่หาย! 3 มุกหลอกลวงเงินที่มิจฉาชีพชอบใช้
ไม่อยากโดนดูดเงิน ต้องมาดู 3 มุกหลอกลวงเงินที่มิจฉาชีพชอบใช้ ก่อนตกเป็นเหยื่อโจรจนสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน
มิจฉาชีพ หรือที่มักจะเรียกกันว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงเงินให้มีความแนบเนียนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งก็แยกไม่ออกและทำให้มีหลายคนตกหลุมพราง สูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับกลลวงของเหล่ามิจฉาชีพ
บทความนี้ได้รวบรวม 3 มุกหลอกลวงเงินที่มิจฉาชีพชอบใช้มาให้ระวังภัยกัน เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปเช็กพร้อมๆ กัน
1. แอบอ้างเป็นคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด
มิจฉาชีพมักจะทำการแฮกเฟซบุ๊กหรือสร้างเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา เพื่อส่งข้อความไปขอยืมเงินจากคนในครอบครัว เพื่อน หรือญาติเจ้าของบัญชี ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ผู้สูงอายุมักจะถูกหลอกกันเป็นประจำ เพราะเหล่ามิจฉาชีพจะใช้ความเห็นใจมาเป็นเครื่องมือ ดังนั้นหากมีข้อความทักขอยืมเงินที่ดูผิดวิสัยไปจากความเป็นจริง ควรจะมีการสอบถามหรือพูดคุยกับเจ้าของเฟซบุ๊กเพื่อให้แน่ใจก่อนจะโอนเงิน และแจ้งให้คนรอบตัวรับทราบ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
2. ส่งลิงก์เว็บไซต์แปลกปลอมมาให้คลิก
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้รับ SMS จาก มิจฉาชีพ ที่อ้างตัวว่าเป็นสถาบันการเงิน และเสนอ สินเชื่อออนไลน์ วงเงินสูง ดอกเบี้ยต่ำกันอยู่บ้าง ทำให้คนที่กำลังเดือดร้อนเรื่องเงินหรือต้องการใช้เงินอย่างเร่งด่วน เกิดความสนใจและตัดสินใจคลิกลิงก์นั้นเข้าไป แต่แทนที่จะได้เข้าไปขอสินเชื่อ กลับกลายเป็นการติดตั้งมัลแวร์ที่ทำให้มิจฉาชีพสามารถดึงข้อมูลทั้งหมดในโทรศัพท์ออกไปได้ นอกจากนี้มัลแวร์บางตัวยังทำให้มิจฉาชีพสามารถเห็นพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ทั้งหมดของเราได้อีกด้วย
3. อ้างว่ามีของผิดกฎหมาย ให้ติดต่อกลับหรือคลิกลิงก์
เนื่องจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมจากคนทุกกลุ่ม ทำให้ มิจฉาชีพ มองเห็นช่องทางการหลอกลวงที่ดูเป็นไปได้มากขึ้น โดยจะอ้างว่าตัวเองเป็นบริษัทขนส่ง หรือศุลกากร ที่มาพร้อมกับการแจ้งว่ามีพัสดุผิดกฎหมาย ต้องพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ข้อมูล ซึ่งมิจฉาชีพที่ปลอมแปลงเป็นเจ้าหน้าที่จะทำการหลอกถามข้อมูลส่วนตัวหรือในบางครั้งก็โน้มน้าวให้โอนเงินเพื่อจบเรื่อง
ทั้งหมดนี้คือ 3 มุกหลอกลวงเงินที่มิจฉาชีพชอบใช้ ซึ่งเชื่อว่าคงจะมีจำนวนไม่น้อยที่เจอมุกเหล่านี้กันมากับตัว ดังนั้นในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นไปอย่างสะดวกสบายและรวดเร็ว "สติ" คือสิ่งจำเป็นในการกลั่นกรองสารที่ได้รับมา เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพนั่นเอง