ชวนปักหมุด 'ตลาดเขียวจตุจักร' แหล่งรวมเกษตรปลอดภัยส่งตรงจากมือผู้ผลิต
พบกับพื้นที่ต้นแบบ "ตลาดเขียวจตุจักร" ที่ร่วมส่งเสริมเกษตรปลอดภัย สร้างสุขภาวะที่ดีเพื่อคนเมือง ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 ธ.ค. 66 ที่โดมขาวริมรั้ว ประตู 1 ตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพฯ
แม้จะอยากให้คนไทยกินผักมากขึ้น แต่วันนี้กลับพบว่า pain point หนึ่งของคนเมืองกรุงคือ ผักที่กำลังกินนั้นปลอดภัยไร้สารตกค้างจริงหรือเปล่า บ่อยครั้งพืชผักที่ปลูกในไร่ธุรกิจและส่งขายที่ตลาดปะปนด้วยเคมีและยาฆ่าแมลง แล้วแบบนี้จะ "วางใจ" ได้อย่างไร จะดีกว่าไหมหากมีตลาดที่มีแต่ผลิตภัณฑ์ปลอดภัยไร้ความเสี่ยงต่อสุขภาพ
ใช่ว่าคนไทยไม่อยากกินผัก
ทุกวันนี้ระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนแปลงอาหารของคนไทยจนห่างไกลคำว่าปลอดภัยอย่างสิ้นเชิง จนความไม่ไว้ใจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่กล้าบริโภคผัก ครั้นจะสรรหา พืชผักปลอดสาร ก็เหมือนอยู่ไกลเกินเอื้อม หรือบางคนเลือกจับจ่ายซื้อผักปลอดภัยในห้าง แต่ก็ต้องแลกกับราคาที่สูงกว่า
ล่าสุด จึงเป็นข่าวดีของผู้บริโภคชาวเมืองกรุงทั้งหลาย เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร หรือกทม. ธนาคารออมสิน และภาคีเครือข่ายอาหารสุขภาวะ จับมือกัน Kick Off นำร่องเปิด ตลาดเขียวจตุจักร JJ Green Market แห่งแรกในกรุงเทพฯ
ตลาดเขียว ถือเป็นโอกาสดีและสำคัญต่อสุขภาพของผู้บริโภคคนกรุง ที่จะได้มาเจอกันทุกวันศุกร์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึง 15 ธันวาคม 2566 นี้ โดยตลาดเขียวจตุจักรจะจัดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรที่มีการรับรองมาตรฐานปราศจากสารเคมี มุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ ให้คนเมืองเกิดการตื่นตัวและเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งมีตั้งแต่ผลิตผลเกษตรปลอดสารพิษ อาหารจากชุมชนทั่วไทย ผลิตภัณฑ์แนวสุขภาพ รวมทั้งอาหารปรุงสำเร็จเสร็จใหม่ให้เลือกซื้อหากลับไปทานกันที่บ้านหลากหลาย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ตลาดเขียว มีความสำคัญกับการขับเคลื่อนการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล และยังต่อยอดต้นแบบระบบนิเวศอาหารปลอดภัยให้คนเมือง แม้ที่ผ่านมานั้น สสส. จะพยายามผลักดันส่งเสริมให้คนไทยหันมาบริโภคผักมากขึ้น เนื่องจากสังคมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ มีพฤติกรรมเร่งรีบ กินอาหารจานด่วน กินผัก ผลไม้ไม่เพียงพอ เสี่ยงให้เกิด โรค NCDs
ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานการณ์การกินผักและผลไม้ของคนไทย ปี 2565 พบว่าคนกรุงเทพฯ กินเพียงพอน้อยที่สุดอยู่เพียงที่ 18.6% เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น อาทิ ในภาคอีสานกินเพียงพอมากที่สุด 48.4% รองลงมาภาคกลาง 40.1%
"ตลาดเขียวจตุจักร" จึงเป็นการนำร่องเปิดพื้นที่ ศุกร์สุขภาพ อาหารปลอดภัยให้คนเมืองมากขึ้น
เข้าถึงคนเมืองในราคาเอื้อมถึง
นายศุภพิพัฒน์ บัลนาลังก์ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร สนับสนุน "ตลาดเขียว" ของสสส. และภาคีเครือข่าย โดยเปิดพื้นที่ต้นแบบที่ ตลาดนัดจตุจักร เป็นตลาดแรก ขับเคลื่อนระบบอาหารปลอดภัย สุขภาพดี Organic products เป็นการส่งเสริมอาชีพเกษตรกร สร้างกำลังใจให้แก่ชาวเกษตรกร กลุ่มเส้นเลือดฝอย มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม สอดรับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นสังคมสร้างสรรค์ ตลาดสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์
"ตลาดจตุจักร เป็นตลาดยอดนิยมของคนเมือง ตลาดเขียวจตุจักรคือการรวมพ่อค้าแม่ค้าผู้ผลิตเส้นเลือดฝอย จุดเด่น ตลาดเขียว คือราคาจับต้องได้ เชื่อว่าหลายคนมักบ่นว่าทำไมสินค้าเกษตรอินทรีย์ต้องมีราคาแพงกว่า ยิ่งเมื่อต้องขึ้นห้าง เราต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยหาซื้อได้ รวมถึงมีแหล่งทุนจากธนาคารออมสิน หากไปได้ดีเรายังมีอีกกว่า 10-11 ตลาดรองรับ กทม. ยินดีสนับสนุนตลาดเกษตรปลอดภัยนี้กระจายไปเรื่อยๆ เพราะยังมีความต้องการอีกมาก ไม่ว่าจะทั้งฝั่งธนบุรี หรือมีนบุรี"
นางสุจินตนา หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานลูกค้ารายย่อยและองค์กรชุมชน กล่าวว่า ธนาคารออมสินบูรณาการทุกภารกิจของธนาคารเพื่อเข้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม จึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ที่มาจากกลุ่มเกษตรกรตัวจริงในชุมชน ภาคีเครือข่ายตลาดเขียวมุ่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของประเทศ สนับสนุนการให้บริการและคำปรึกษาเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างง่าย รวมถึงสร้างวินัยการออมเงินทุกวัน ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถพึ่งพาตัวเองและทำให้ครอบครัวมีความสุขได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือมีความสุขที่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง
ตลาดเขียวกับความยั่งยืน
ในแง่ความยั่งยืน ตลาดเขียวจะอยู่ได้เมื่อผู้บริโภคต้องการและต้องเข้าใจ การทำงานของตลาดต้องมากกว่าแค่ขายของที่ลูกค้าจะเริ่มมองเรื่องถูกและแพง ที่สำคัญไม่ใช่แค่ตลาดซื้อขายสินค้าที่ปลอดภัยต่อสุขภาพเท่านั้น บทบาท "ตลาดเขียว" คือการเชื่อมโยงหลากเรื่องราวการสร้าง "พลเมืองอาหารที่มีทักษะจิตสำนึกในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะนั้น"
นางสุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กล่าวว่า ตลาดเขียว กรีนจริง มั่นใจ เปิดพื้นที่สร้างโอกาสการเข้าถึงอาหารสุขภาวะในบริบทเมืองว่า การที่เกษตรกรยอมทำอินทรีย์คือการเสียสละรายได้ผลตอบแทบลดฮวบฮาบลงเยอะ เราในฐานะผู้บริโภคควรมองว่าการจ่ายค่าสุขภาพ ไม่ป่วย ไว้ใจได้ เรื่องถูกแพงไม่ใช่เรื่องมาพูดกัน รวมถึงค่าการดูแลสิ่งแวดล้อม ถ้าผู้บริโภคไปถึงตรงนั้นได้กระบวนการเปลี่ยนแปลงตลาดปลอดภัยจะสร้างได้จริง
"ความเป็นตลาดยั่งยืนต้องทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพต่อตลาดให้ได้ ทั้งมั่นใจมาตรฐานการคัดสรรสินค้าที่เข้ามาในตลาดนี้ เพราะเรากำลังทำเรื่องการประกันคุณภาพให้ผู้บริโภค เราต้องทำให้ชัดว่าสิ่งที่มาขายอินทรีย์ระดับไหน ปลอดภัยระดับใด"
นางวัลลภา แวน วิลเลี่ยนส์วาร์ด เสริมว่า ในยุคนี้คนไม่รู้ว่าสิ่งที่เรากินมันโยงกับวิกฤติหลายวิกฤติอย่างไร แต่ตอนนี้หลายคนรู้แล้วว่าส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ มองว่าตลาดเขียวคือพื้นที่ที่จะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสได้ ควรช่วยสนับสนุนการสร้างผลผลิตให้มีปริมาณเยอะขึ้น
นายวุฒิชัย แก้วศรีนวล เล่าถึงเส้นทางการร่วมเป็นหนึ่งในทีมตลาดเขียวว่า เดิมเขาก็เป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานในธนาคาร ก่อนที่จะผันตัวเลือกเส้นทางชีววิถี เกษตรผสมผสาน เพราะฝันที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมสุขภาพดีสำหรับคนไทย ปัจจุบันเขาหันมาพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตน้ำตาลจากช่อดอกมะพร้าวที่ชื่นชอบของสายรักสุขภาพ
"เมื่อก่อนเราก็ไม่สนใจ แต่เมื่อเห็นแล้วว่าคือความยั่งยืน ผมใช้เวลาเสาร์อาทิตย์เริ่มศึกษาเรียนรู้จากเครือข่าย และค่อยๆ พัฒนามาต่อเนื่อง หลายคนอาจถามว่าผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์อยู่ได้หรือ อยากบอกว่าสามารถอยู่ได้จริง ในแง่รายได้เราอาจไม่ได้ดีมากกว่าหรือสูงกว่ามาก แต่ในแง่คุณภาพชีวิตและสุขภาพของเราที่ได้มามันคุ้มค่ามาก"
เป็นมากกว่า "ตลาดเขียว"
"ตลาดเขียว ดำเนินการครอบคลุมตั้งแต่การผลิต ไปสู่การกระจาย การแปรรูป การตลาด และผู้บริโภค ที่ผ่านมา เกิดต้นแบบตลาดเขียวถึง 88 แห่ง ใน 19 จังหวัด และตลาดเขียวยังกระจายตัวรูปแบบอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้ง่ายขึ้น ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ทำให้เกิดตลาดเขียวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีก 338 แห่ง รวมถึงตลาดเขียวในองค์กร หน่วยงานต่างๆ และตลาดเขียวออนไลน์ ซึ่งนอกจากช่วยพัฒนาเศรษฐกิจอาหาร ยังสร้างพลเมืองอาหารที่มีทักษะ จิตสำนึกในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ"
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่ออีกว่า ปลายทางของตลาดเขียวคือ การรวมพลังเป็นชุมชนอาหารที่เข้มแข็ง ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงค่านิยมใหม่ของการบริโภคอาหารปลอดภัยและมีประโยชน์มากขึ้นของคนไทย และอยากให้คนไทยบริโภคผักผลไม้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องหาจุดกระจายอาหารที่เข้าถึง ตลาดเขียวเป็นโมเดลใหม่ที่เชื่อมให้ผู้ซื้อเจอกับผู้ผลิตที่ผลิตที่ปลอดภัย ที่สำคัญไม่ใช่แค่การซื้อขายเป็นการเล่าสตอรี่เรื่องราว สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนหันมาปลูกผักในพื้นที่ตัวเอง
นางสาวนิรมล ราศรี รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การที่นำผู้ผลิตจากต่างจังหวัดหรือทั่วประเทศ เพื่อเจอกับผู้บริโภคคนเมืองนั้นเป็นการเปิดโอกาส แม้ในกรุงเทพฯ เอง จะมีผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์บ้างเหมือนกัน แต่มองว่าโครงการนี้คือการส่งเสริมสังคมและสร้างเครือข่ายผู้ผลิต ให้ได้มีโอกาสโปรโมตตัวเอง เพราะคงเป็นเรื่องยากที่ผู้บริโภคจะไปถึงหรือได้เจอกัน
"เรามองว่าเขามีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ เพราะบางเครือข่ายที่มา อย่างปราจีนบุรี เป็นเครือข่ายผู้ปกครองเด็กออทิสติก เป็นโอกาสที่ผู้ปกครองและเด็กก็ได้ทำร่วมกันและมีรายได้ด้วย ในตลาดที่พวกเขามีอยู่ในต่างจังหวัดเขาอาจจะอยู่อีกวงหนึ่ง แต่การที่เขาได้มาอยู่ในตลาดเขียวแห่งนี้คือคนเห็นเขาอีกเยอะเลย คนกรุงได้เข้าถึงสินค้าที่มีเรื่องราว"
อย่าลืมแวะช้อป ชิม และชมกิจกรรมดีๆ จาก ตลาดเขียวจตุจักร ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึง 15 ธันวาคม 2566 ที่โดมขาว ประตู 1 ตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพฯ